“การทำงานเรื่องอาหารไม่มีวันสิ้นสุด ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาของ สสส. เราพบว่าแม้เราจะได้คำตอบหนึ่ง แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งบริบทมันเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ก็มีเรื่องให้เราต้องจัดการใหม่ ไม่มีวันจบ” ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ เล่าให้ฟังถึงความสนุกในการทำงานด้านอาหารที่มีความท้าทายใหม่เข้ามาเสมอ
“ถ้าเราจัดอันดับในแง่ปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ อาหารได้รับเกียรติเป็นอันดับหนึ่ง เราจะสุขภาพดีหรือแย่ก็อยู่ที่อาหาร การทำงานของเราจึงเน้นที่ระบบอาหารตลอดทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นทางว่าเกษตรกรปลูกยังไง ขายที่ไหน มีระบบกลไกตลาดยังไง คนจะมีวิธีเลือกซื้อเลือกกินอย่างไร กินแล้วสุขภาพเป็นอย่างไร”
‘Zero Hunger’ หรือการยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป็น 1 ใน 17 ข้อของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นเป้าเดียวกันกับที่แผนอาหารเพื่อสุขภาวะดำเนินอยู่ โดยทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน และในการสร้างความมั่นคงทางอาหารนั้น หมอไพโรจน์ชี้ว่าจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร โดยใช้องค์ความรู้ นโยบาย การขับเคลื่อน และขยายผลจากการพัฒนาต้นแบบ เพื่อนำไปสู่ภาพใหญ่
“เราเลือกทำในจุดที่เป็นคานบิดคานงัด เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบ ประเทศเรายังขาดข้อมูลวิชาการในบางเรื่อง ขาดการเชื่อมประสาน ขาดนวัตกรรม หากมีส่วนไหนที่ทำเอาไว้ดีแล้วเราก็ต้องเสริมในภาครัฐให้มากขึ้น
“ซึ่งเครื่องมือที่เราใช้จะมีทั้งด้านวิชาการ นโยบาย การขับเคลื่อนสังคม การสื่อสารสาธารณะ แต่ละแคมเปญมาจากการทำงานแบบเข้มข้นจากฐานวิชาการ การศึกษาวิจัย สร้างนวัตกรรมต้นแบบ แล้วนำไปขยายต่อโดยใช้กลไกภาครัฐ ใช้กฎหมาย หรือใช้กระแสสังคมเข้ามาช่วย
“เช่นในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เราวิเคราะห์ว่าทุกวันนี้ผักไม่มีความหลากหลาย ในตลาดมีผักอยู่ 20-30 อย่าง ทั้งที่จริงในธรรมชาติเรามีผักสวนครัว ผักพื้นบ้านอีกเยอะแยะมาก แต่กลไกตลาดเข้ามาควบคุม เราจึงต้องทำตั้งแต่เรื่องเกษตรกรรมซึ่งเป็นฐานความมั่นคงทางอาหาร ใช้เทคโนโลยีเข้าไปปลูกฝัง young smart farmer เพื่อให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่ ปลูกอะไร ปลูกยังไงให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองกับตลาด
“ที่สำคัญคือปลูกแล้วไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสุขภาพจากการใช้สารพิษ เพราะสารพิษเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเสียความมั่นใจในการกินผักผลไม้ เราจึงผลักดันเรื่องสารเคมีเกษตรจนเกิดนโยบายแบนสารเคมีเป็นร้อยตัว แต่การแบนก็ไม่ได้หมายความว่าจะหมดไป เพราะก็ยังมีการตรวจเจออยู่”
การขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรที่ผลิตอาหารคุณภาพ ผ่านการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่าย และเพื่อให้ผลผลิตได้เชื่อมถึงผู้บริโภคโดยตรงโดยไม่ผ่านกลไกของโมเดิร์นเทรด ตลาดเขียวจึงเข้ามาเป็นตัวเชื่อม
“ตลาดเขียวเป็นการเชื่อมกันระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกกับผู้บริโภค เพื่อขายในชุมชนและคนที่มีความต้องการผลผลิตคุณภาพดี ไม่มีสารเคมี ผักมีความหลากหลาย เกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชนโดยตรงเพราะไม่ผ่านคนกลาง และสิ่งที่ได้คือสุขภาพของทั้งคนปลูกและคนกิน สังคมก็ได้ด้วยเพราะคนปลูกก็ได้เล่าเรื่องราวที่มาของผลผลิตให้กับคนกินที่มาตลาดเขียว ได้มีปฏิสัมพันธ์กัน และปัจจุบันหน่วยราชการก็เข้ามาสนับสนุนด้วยการเปิดพื้นที่ให้มีตลาดเขียวด้วย”
ปัจจุบันมีตลาดเขียวกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พัฒนาเป็นต้นแบบตลาดเขียว 88 แห่งใน 19 จังหวัด และกระจายตัวอยู่ในรูปแบบอื่นๆ ผ่านการขับเคลื่อนนโยบายโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย เกิดเป็นตลาดเขียวในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีก 338 แห่ง รวมถึงตลาดเขียวในองค์กร หน่วยงานต่างๆ ตลาดเขียวออนไลน์ และการซื้อขายในระบบ CSA (Community Supported Agriculture) ที่นอกจากจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจอาหารแล้ว ยังสร้างพลเมืองอาหารที่มีทักษะในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ รวมพลังเป็นชุมชนอาหารที่เข้มแข็ง
“แนวคิดการทำงานของเราก็คือ ภายใต้หลักการเดียวกัน ทุกคนมีโมเดลที่หลากหลาย ไม่ได้เป็นแบบ single command ที่ต้องทำอะไรเหมือนกัน” หมอไพโรจน์อธิบาย และด้วยแนวคิดนี้เราจึงได้เห็นรูปแบบที่หลากหลายของตลาดเขียว ซึ่งออกแบบมาให้เข้ากับบริบทของชุมชนและผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย
ทั้งนี้ เป้าหมายของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ คือสร้างความรอบรู้ด้านการบริโภค เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ผู้คนมีสุขภาพดีจากการบริโภคอาหารดี ปลอดภัย และมีโภชนาการ ซึ่งตลาดเขียวเป็นหนึ่งกลไกการขับเคลื่อนตลอดทั้งห่วงโซ่ คือการผลิต การกระจายและการตลาด รวมถึงการบริโภค เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว
“ตลาดเขียวทำให้คนเข้าถึงผลผลิตอินทรีย์มากขึ้น ถ้าตลาดเขียวไปได้ดี คนจะกินผักผลไม้เยอะขึ้น อาหารดี คนก็จะสุขภาพดี เกิดเป็นนโยบายสาธารณที่จะขับเคลื่อน ตอนนี้เรายังวัดผลไม่ได้แน่ชัดว่าคนไทยกินผักผลไม้เยอะขึ้นและสุขภาพดีขึ้นไหม แต่แนวโน้มต่างๆ ดีขึ้น”
แม้จะมีตลาดเขียวเพิ่มมากขึ้นจำนวนหนึ่งแล้ว แต่การขยายผลยังคงเดินหน้าต่อ ด้วยการเชื่อมโมเดลเข้าไปในระดับชุมชน เพื่อให้เกิดตลาดเขียวในโรงพยาบาล สถานที่ราชการ หรือตลาดที่กลุ่มเกษตรกรจัดขึ้นในชุมชน
“ในหนึ่งตำบล เราสามารถทำได้ตั้งแต่เรื่องการผลิต การกระจาย และการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ เราจึงจะเน้นการบูรณาการในพื้นที่ให้มากขึ้น เชื่อมโยงทั้งอาหาร การผลิต โภชนาการ ระบบเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเรามีโมเดลนี้อยู่หลายแห่ง เช่น จอมพระโมเดล จังหวัดสุรินทร์ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเชื่อมโยง”
จอมพระโมเดลที่หมอไพโรจน์เอ่ยถึง คือระบบการจัดการอาหารปลอดภัยในโรงเรียนและชุมชน ที่เชื่อมโยงผลผลิตอินทรีย์ของเกษตรกรในชุมชน เข้ากับอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนในโรงเรียนในอำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์
“เด็กๆ มีค่าอาหารต่อคน 21 บาท ในหนึ่งเทอมโรงเรียนในอำเภอจะใช้เงินประมาณ 10-20 ล้านในการจัดการ ถ้าเราให้ชุมชนเป็นผู้ผลิต ซึ่งเป็นการผลิตโดยไม่ใช้สารเคมี มีโรงเรียนรับซื้อในราคาที่อยู่ในมาตรฐาน ลูกๆ ของเขาจะได้กินอาหารที่ดี และคนในชุมชนก็สามารถซื้อผลผลิตนั้นได้ด้วย เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่ในชุมชนเยอะมาก
“สิ่งที่ สสส.ทำในตอนนี้ คือทำตลาดเขียวให้เป็นต้นแบบเพื่อให้ภาครัฐเข้ามารับเอาไปทำต่อ เช่นที่กระทรวงมหาดไทยก็ได้ประกาศหนุนเรื่องตลาดเขียวในชุมชน ขณะเดียวกันเราก็ต้องทำงานด้านแง่วิชาการ ทำแคมเปญ ให้การสนับสนุนทุน และช่วยกระตุ้นให้เกิดตลาดเขียวขึ้นอีก เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ตลาดเขียวอยู่ได้เองอย่างแข็งแรงแล้ว เราก็จะถอยออกมาเพื่อไปทำเรื่องอื่นต่อ”
ขณะเดียวกัน การเชื่อมโยงก็ยังเกิดขึ้นกับแต่ละแผนงานของ สสส.เองด้วย “เราเพิ่งทำงานวิชาการรวบรวมว่าแต่ละแผนใน สสส. ซึ่งทำงานหลากหลายมาก มีงานอาหารอยู่ตรงไหนบ้าง ไม่ว่าจะทำประเด็นเหล้า บุหรี่ การออกกำลังกาย เยาวชน ผู้สูงวัย ผู้พิการ หรือกระทั่งอุบัติเหตุ มันมีประเด็นอาหารอยู่ด้วยทั้งนั้น เราสามารถเชื่อมโยงกันในประเด็นย่อยที่สำนักอื่นทำกันอยู่”
และนอกจากจะขยายกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตแล้ว การกระตุ้นในฝั่งผู้บริโภคก็ต้องเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความต้องการในการซื้อด้วย “ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็จะเป็นคนที่ส่งเสียงออกไปด้วยว่าเขาต้องการอะไร คนที่ปลูกก็จะได้ปลูกตามความต้องการ และได้ราคาที่ดี ตอบโจทย์ทั้งฝั่งคนซื้อและคนขาย”
ปีนี้เป็นปีที่ 11 ที่หมอไพโรจน์พาตัวเองเข้ามาอยู่ในการทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพกับ สสส. ด้วยประเด็นการทำงานที่หลากหลาย หากนับเฉพาะงานด้านอาหารก็พบว่ามีความท้าทายในหลายมิติ และในหลายความสำเร็จที่เกิดขึ้น ก็เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ นักวิชาการ เอ็นจีโอ และภาคเอกชน
“จากการทำงานที่ผ่านมา นอกจากเรื่องการสนับสนุนการกินผักผลไม้ เราได้เห็นว่าพฤติกรรมบริโภคน้ำตาลและโซเดียมของคนไทยก็ลดลง แม้ว่าถ้าเทียบกับมาตรฐานที่ควรเป็นก็ยังห่างไกลแต่ก็ถือว่าเข้าเป้า และหากพูดถึงกระแสสังคมตอนนี้ กระแสสุขภาพมาแรง อะไรที่เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพจะขายดีหมด ผิดจากเมื่อก่อนแค่คำว่า ‘หวานน้อย’ ก็ยังต้องแอบพูด เรากล้าที่จะพูดอย่างสง่าผ่าเผยว่าขอเพิ่มผักหน่อย อันนี้เค็มไป และเมื่อกระแสสุขภาพปกคลุมไปทั่ว ภาคธุรกิจจะทำอะไรเขาก็ต้องให้เหตุผลว่าคำนึงถึงเรื่องสุขภาพ ก็แสดงว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบอาหาร
“บางเรื่องอย่างเรื่องลดหวานหรือลดเค็ม เราใช้ทั้งนโยบายด้านภาษี กฎหมาย และขอความร่วมมือ ซึ่งภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัว แต่เป็นการปรับตัวที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝั่ง คือเขาได้ลดต้นทุน คนกินก็ได้กินผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ เกิดพฤติกรรมการกินใหม่ เป็นบรรทัดฐานทางสังคมใหม่ เหมือนที่ตลาดเขียวก็จะเป็นการวางบรรทัดฐานว่า การซื้อของในตลาดเขียวเป็นเรื่องทันสมัย ได้สนับสนุนคนปลูก ตอบโจทย์ความยั่งยืน”
ด้วยกระแสสังคมที่เคลื่อนตัวไปทุกขณะ ย่อมทำให้การทำงานเรื่องอาหารไม่มีวันจบ และนั่นหมายถึงการทำงานด้านอาหารก็ไม่มีวันสิ้นสุดไปด้วย
“เพราะเมื่อถึงเวลา บริบทการกินมันเปลี่ยน เราก็ต้องหาวิธีจัดการ ยกตัวอย่างเรื่องนมแม่ในอดีตคนก็กินกันมาตลอด ถึงวันหนึ่งก็มีการมาเปลี่ยนความเข้าใจให้ไปกินนมผงแทน การจะทำให้เขากลับมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เหมือนเดิมก็ต้องใช้ทั้งศิลปะ ความรู้ กฎหมาย สร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการให้นมลูก มีเรื่องเครื่องปรุงสารพัดซึ่งเป็นเรื่องของการตลาด หรือแม้แต่เรื่องกินผักผลไม้ ถ้าต่อไปมีคนมาทำให้ราคาสูงขึ้น จนทำให้การกินผักลดลง เราก็ต้องหาวิธีจัดการใหม่”
“ซึ่งเป้าหมายของผมที่ทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพ ก็คือต้องตอบวัตถุประสงค์ของ สสส. ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ และเข้ามาเสริมระบบการทำงานของรัฐ” หมอไพโรจน์กล่าวด้วยรอยยิ้ม