กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ในเครือข่ายมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ที่ส่งผลผลิตปลอดภัยและดีต่อสุขภาพมาถึงผู้บริโภคตลาดเขียวในกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มแรกๆ ตั้งแต่ตลาดเขียวยุคบุกเบิกที่ร้านบ้านนาวิลิต อาคารรีเจ้นท์เฮ้าส์ และเมื่อมีตลาดเขียวจตุจักรเกิดขึ้น ผลผลิตของกลุ่มก็เดินทางมาเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคได้เลือกกันถึงมือทุกวันศุกร์
ยุพิน คะเสนา เป็นหนึ่งในตัวแทนกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต ที่ไม่ได้ขายแค่ผลผลิตเพียงอย่างเดียว แต่เธอเป็นเจ้าของเมนูส้มตำสารพัดผักพื้นบ้านรสเด็ดที่มีคนแวะเวียนเข้ามาสั่งอยู่ไม่ขาด นอกจากจะติดใจในรสชาติแล้ว สิ่งหนึ่งที่เธอเปิดโลกให้เรา คือผักแทบทุกชนิดสามารถคลุกเคล้ารวมตัวกันอยู่ในจานส้มตำได้อย่างไม่แปลกแยก และทำให้เราได้ก้าวข้ามกำแพงของความไม่รู้ว่าผักพื้นบ้านจะเป็นอะไรก็ได้ เพียงแค่เรารู้จักวิธีกิน
“เราต้องการส่งเสริมว่า ในส้มตำหนึ่งครกเราสามารถกินผักได้มากกว่าสิบชนิด มีมะละกอเป็นตัวยืนพื้นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับมะละกอ ตอนหลังคนที่เคยลองกินและกินเป็นแล้วก็สั่งให้เราตำรวมทุกอย่าง เช่น ก้านทูน สายบัว ดาหลา ผักกูด พวกนี้ใส่ได้หมด แต่ผักกูดต้องลวกก่อนนะ กินสดจะไม่ดี”
ยุพินมีเลือดเนื้อเกษตรกรโดยแท้ เธอเติบโตมาในครอบครัวที่ทำนามาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ซึ่งในสมัยนั้นก็ใช้เคมีในการบำรุงต้นข้าวมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่เมื่อเธอได้รู้จักกับนักพัฒนาซึ่งเป็นกลุ่มเอ็นจีโอ เข้าไปแนะนำและส่งเสริมเรื่องการทำเกษตรยั่งยืนก็ปรับเปลี่ยนความคิด หักดิบจากเกษตรเคมีตั้งแต่ปี 2540 และเป็นเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริงในปี 2544
“ช่วงแรกไม่มีข้อดีเลย” เธอเอ่ยปนหัวเราะเมื่อนึกถึงช่วงเริ่มต้น “เพราะเราหักดิบ ไม่ใช้เคมีเลย ข้าวก็ไม่งาม แต่เราก็ยอม ระหว่างนั้นเขาก็มีการส่งเสริมและจัดโรงเรียนเกษตรกรทุกเดือนเพื่อให้ความรู้ เราก็ต้องอดทนพร้อมกับเรียนรู้ไปด้วย จนกระทั่งดีขึ้นเพราะเราใช้เวลาในการปรับปรุงดินให้ดีที่สุด ใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก พอดินดี ข้าวเราก็ดี ไม่ต้องทำอะไรเลยก็งาม เพราะหัวใจสำคัญของเกษตรอินทรีย์คือดิน”
ปี 2544 สหกรณ์กรีนเน็ตได้ส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์สนามชัยเขตปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านเพื่อส่งขายต่างประเทศ การรวมกลุ่มปลูกข้าวเหลืองปะทิวจึงเกิดขึ้นโดยมีตลาดที่แน่นอน กระทั่งปี 2546 ก็ได้รับรองมาตรฐานอินทรีย์สินค้าเกษตรอินทรีย์ระดับสากลอย่าง IFOAM และ EU แต่มากกว่าการปลูกข้าว ทางกลุ่มได้รับคำแนะนำให้ปลูกพืชร่วมด้วยอีก 15 ชนิด ทั้งไม้ผล พืชผักตามฤดูกาล ผักพื้นบ้าน
“เมื่อก่อนเราก็คิดว่าแถวบ้านเรามีผักพื้นบ้านเยอะอยู่แล้ว ไม่ต้องปลูกก็ได้ แต่เมื่อได้ไปดูงานและได้รับคำแนะนำก็เห็นว่าควรทำ เพราะถ้าเมื่อไรที่มีพืชเศรษฐกิจทดแทน เราจะไม่มีผักพื้นบ้านเหล่านี้ไว้กินอีก แต่ถ้าเราปลูกเอาไว้ ชอบกินอะไรก็ปลูกสิ่งนั้น อยากกินเมื่อไรก็ได้กิน เราก็เลยเอามาปลูกไว้ในบ้าน”
ปัจจุบัน ยุพินปลูกข้าวมะลิแดงเพียงอย่างเดียวในผืนนากว่า 20 ไร่เพื่อส่งตลาดต่างประเทศเหมือนเดิม ควบคู่กับไม้ผล ผักตามฤดูกาล และพื้นบ้าน ทว่าการปลูกของเธอรวมทั้งชาวเกษตรกรอินทรีย์สนามชัยเขต ไม่ได้เป็นการปลูกเพื่อดำรงชีพเพียงอย่างเดียว นัยที่สำคัญกว่านั้นคือการพัฒนาคนและพัฒนาพื้นที่ เพื่อปกป้องผืนดินที่ถูกปักธงเอาไว้ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ในแถบนี้
“ตอนนี้เรามีสมาชิกอยู่ 5 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี สระแก้ว เป็นกลุ่มที่แข็งแรงและเป็นที่รู้จัก แต่เราไม่ได้คิดเรื่องกำไรเท่าไร เราทำงานเพื่อพัฒนาคนและพัฒนาพื้นที่มากกว่า เพราะเรามีเรื่องที่ต้องปกป้องพื้นที่จากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถ้ามีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้น ระบบอินทรีย์ของเราจะไปต่อยาก
“พวกเราเลยทำงานรณรงค์ในเรื่องนี้ และขยายสมาชิกเกษตรอินทรีย์ให้เพิ่มมากขึ้นใน 5 จังหวัด เพื่อไม่ให้เกิดโรงไฟฟ้าได้ อย่างที่ปราจีนบุรีมีปัญหาเดียวกับเรา เราก็เข้าไปช่วยขยายสมาชิกขยายพื้นที่เพื่อเป็นเงื่อนไขไม่ให้เกิดโรงไฟฟ้า เราต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2551 ถึงตอนนี้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจะถอยแล้วเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยังแขวนอยู่”
สมาชิกกว่า 300 รายใน 5 จังหวัด ป้อนผลผลิตสู่ผู้บริโภคเป็นจำนวนไม่น้อย ผ่านตลาดชุมชนในโรงพยาบาลสนามชัยเขต จำหน่ายให้กับสมาชิกผู้บริโภคโดยตรงที่ซื้อขายกันในระบบ CSA (Community Supported Agriculture) และส่งเข้าร้านเลมอนฟาร์มที่มีอยู่หลายสาขา
“ช่วงที่เราขายที่รีเจ้นท์ ผักของเราส่วนใหญ่เป็นผักพื้นบ้าน ผู้บริโภคกินไม่เป็น เมื่อก่อนผักกูดคนก็ไม่รู้จักนะ เอาไปขายก็เหลือกลับมาหมด เราเลยมีสาธิตทำอาหารให้ผู้บริโภคได้ชิมว่าผักชนิดไหนทำอะไรได้อร่อยบ้าง หลังจากนั้นเวลามีงานหรือออกบูธ เราก็จะมีสาธิตเมนูด้วย”
ที่ตลาดเขียวจตุจักร นอกจากผักสดที่ส่วนใหญ่เป็นผักพื้นบ้านและผักที่ปลูกตามฤดูกาลแล้ว กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขตยังมีวัตถุดิบแปรรูปของกลุ่ม อาทิ ไข่เค็ม หน่อไม้ดอง มาจำหน่ายด้วย
“กลุ่มเราปลูกผักหลากหลายมาก หากเอาไปทั้งหมดจริงๆ จะมีอยู่ถึง 50 กว่าชนิด แต่ที่ตลาดเขียวจตุจักรเราเอาไปประมาณ 20 ชนิด เป็นผักพื้นบ้านกับผักตามฤดูกาล โดยพยายามเลือกผักที่เครือข่ายอื่นไม่มีเพื่อเติมในจุดที่ขาด บางอย่างก็เตรียมไปส่งให้เพื่อนๆ ในเครือข่ายได้นำไปขายในตลาดอื่น”
ยุพินเล่าว่า ทุกวันศุกร์เหมือนมีสัญญาใจกับผู้บริโภคว่าต้องมาเจอกัน คนขายเองก็สนุกกับการได้พบและพูดคุยกับคนซื้อ ได้รู้ความต้องการว่าผู้บริโภคอยากได้อะไร
“ผู้บริโภคบางคนเขาอยากได้อะไรก็จะมาคุยเพื่อสั่งไว้ก่อน ศุกร์หน้าเราก็จัดเอามาให้ การมาขายที่ตลาดเขียวจตุจักรทำให้คนได้รู้จักกลุ่มเกษตรกรของเราและรู้จักอาหารที่เรามี ข้อดีที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรก็คือเราได้มีช่องทางการขายเพิ่มเติม และมีเงินสดหมุนเวียนให้กับเกษตรกรในกลุ่ม
“และการที่ผักเราได้ออกตลาด ทำให้คนได้รู้วิธีการกินผักต่างๆ เพราะถ้าผู้ผลิตได้ไปพบผู้บริโภคโดยตรงเราจะสามารถแนะนำผู้บริโภคได้ว่าจะกินยังไง เช่น แกงยอดหวายทำยังไงไม่ให้ขมมาก หรือหน่อไม้มีกรดยูริก บางคนกินแล้วอาจรู้สึกปวดข้อปวดเข่า ถ้าใส่กับน้ำย่านางจะช่วยลดกรดยูริกได้
“การให้ความรู้กับผู้บริโภคเป็นบทบาทหนึ่งที่เราต้องทำ เพราะหากคนรู้จักมากขึ้นและกินเป็น เราก็จะขยายการปลูกออกไปได้เรื่อยๆ เกษตรกรก็มีรายได้เพิ่มขึ้น”