ดร.ผาสุข แก้วเจริญตา พยาบาลนอกฟอร์ม ผู้หันมาเป็น ‘นักสื่อสารด้านสุขภาพ’ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน

ดร.ผาสุข แก้วเจริญตา พยาบาลนักสื่อสารด้านสุขภาพ

ดร.ผาสุข แก้วเจริญตา พยาบาลนอกฟอร์ม ผู้หันมาเป็น ‘นักสื่อสารด้านสุขภาพ’ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน

อาชีพพยาบาล อาจเป็นหนึ่งในความฝันของใครหลายๆ คน หนึ่งในนั้นก็คือ ดร.ผาสุข แก้วเจริญตา พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่อุทิศตนให้กับการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลมาโดยตลอด ทำให้มีโอกาสรับรู้ปัญหาต่างๆ มากมาย และเริ่มมุ่งมั่นที่จะจัดทำโครงการต่างๆ ตั้งแต่ปี 2548

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องพัฒนาการเด็กและเยาวชน ปัญหาท้องไม่พร้อม รวมไปถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย ผู้คนเริ่มไม่เห็นความสำคัญของเรื่องสุขภาพ โดยมีปัจจัยมาจากการขาดโอกาสทางการรักษา ความยากจน ปัญหาหนี้สิน การกินอาหาร ที่ทับซ้อนกับเรื่องของการประกอบอาชีพ อย่างการทำเกษตรกรรมที่ใช้เคมี เรื่อยไปจนถึงผลกระทบในเชิงสิ่งแวดล้อม ที่ย้อนกลับมาทำร้ายสุขภาพกาย กระทบต่อสุขภาพจิตใจของคนในครอบครัวอย่างไม่รู้จบ

“อันที่จริง ความเป็นพยาบาลวิชาชาชีพของเราอยู่ในทุกมิติของงานที่ทำ เราเป็นพยาบาลนอกฟอร์ม หมายถึง การถอดชุดขาวและวางหมวกพยาบาลไว้เบื้องหลัง ไม่ได้ทำหัตถการ ไม่ได้ทำแผลฉีดยา หรือดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่หันไปใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ กลายเป็น ‘นักสื่อสารด้านสุขภาพ’ เป็นนักพัฒนาและนักวิจัย ที่ออกไปหาความรู้และทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่ โดยเริ่มโครงการแรกเมื่อปี 2552 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส.”

ดร.ผาสุขเน้นไปยังโครงการที่ให้ความรู้และการนำไปใช้ได้จริง อาทิ เรื่องสุขภาวะ โภชนาการ อาหารปลอดภัย การทำเกษตรอินทรีย์ การทำเครือข่ายเกษตกรอินทรีย์ ตลาดเขียวในโรงพยาบาล การดูแลสุขภาพด้วยธรรมชาติบำบัด ความรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ที่ครอบคลุมกลุ่มเด็กเล็กและเยาวชน เช่น เรื่องพัฒนาการเด็ก การให้ความรู้เรื่อง Executive Function (EF) ปัญหาท้องไม่พร้อม

รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญ เพราะท้ายสุดแล้ว ดร.ผาสุขยืนยันว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนคือ การพัฒนาคน และพัฒนาองค์ความรู้ให้กับตัวเองอย่างต่อเนื่อง

“อย่างเรื่องสุขภาพ เราเป็นคนหนึ่งที่ทำงานหนัก กินเยอะ ค่าน้ำตาลในเลือดเริ่มขึ้น จนเคยคิดจะใช้ยาลดความอ้วนเหมือนกัน แต่ก็ปัดตกไป แล้วเริ่มหาข้อมูลและความรู้เรื่องอาหารการกินที่มีผลต่อสุขภาพแทน จนได้พบกับการศาสตร์การกินแบบสมดุล และเริ่มทดลองกับตัวเอง ซึ่งได้ผลที่ดี

“เราจึงเริ่มต้นจากจุดนี้ ก่อนจะทำโครงการวิเคราะห์โภชนาการ ให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน ความดัน ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนในพื้นที่ได้นำไปใช้ พร้อมกับการเขียนหนังสือกินล้างโรค และอีกหลายเล่ม เพื่อเผยแพร่ต่อในวงกว้าง”

เมื่อโภชนาการดี สุขภาพก็ย่อมดีตาม แต่จะทำอย่างไรให้เรื่องนี้เป็นกลายเป็นกลไกหลัก ที่ทำให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้ ดร.ผาสุขได้อิงกับความเป็นบุคลากรทางการแพทย์ และพบว่า โรงพยาบาลคือสถานที่ที่เหมาะกับการสร้างกลไกหลัก เพื่อนำไปสู่การเป็นโรงพยาบาลอาหารสุขภาวะ การดูแลสุขภาพที่เข้าถึงได้ด้วยอาหาร

ไม่ช้า โครงการตลาดเขียวในโรงพยาบาลจึงเกิดขึ้น โดยการให้ความรู้เพิ่มเติมกับนักโภชนาการ โรงครัวทำเมนูอาหารที่สมดุลกับอาการเจ็บป่วยของคนไข้ ด้วยการใช้เครื่องปรุง และวัตถุดิบอินทรีย์จากเกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ยังเปิดพื้นที่บางส่วนของโรงพยาบาลให้เป็นพื้นที่จำหน่ายพืชผักอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรที่เคยทำเคมี หันมาทำอินทรีย์ เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีกทาง

“เราทำตลาดเขียวในโรงพยาบาลมากว่าสิบปีแล้ว ระหว่างทางก็ต้องพยายามสื่อสารให้กับเกษตรกรได้เห็นคุณค่าของการทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งในเชิงสุขภาพ อาชีพ และวิถีชีวิต แต่จะทำยังไงให้ชาวบ้านเชื่อ เพราะมีคำพูดจากชาวบ้านที่เรามักได้ยินบ่อยๆ ก็คือ “หมอไม่เคยทำ หมอไม่รู้หรอก”

“จากคำนี้เราจึงตั้งต้นใหม่ ไปเรียนรู้เพิ่มเติมจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อบรมเกษตรกรรมธรรมชาติ และพูดคุยกับเกษตรกรอินทรีย์จากพื้นที่ต่างๆ

ในไม่ช้า ‘ฟาร์มผาสุข’ ณ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นอำเภอบ้านเกิดของดร.ผาสุขก็เกิดขึ้น

“เมื่อได้มาทำฟาร์มเอง เราก็เห็นปัญหาและอุปสรรคหลายอย่าง แต่สิ่งที่ได้คือองค์ความรู้ในเชิงปฏิบัติ อีกทั้งเรายังมีพืชผักผลไม้ปลอดภัยไว้กินเอง และเลี้ยงปศุสัตว์ ก่อนปรับให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการทำเกษตรกรอินทรีย์ พร้อมจัดทำเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ทำแบบประเมินมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

“จากนั้นจึงขยับไปทำเป็นโครงการเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ และต่อยอดโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมพัฒนาการให้กับเด็กในพื้นที่ ผ่านการทำเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ และการทำกิจกรรมทางด้านโภชนาการ”

เส้นทางนี้ ไม่มีคำว่าง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยากเสมอไป ตลอดเวลากว่า 13 ปีที่ดร.ผาสุขได้ลงพื้นที่ไปร่วมรับฟัง แก้ปัญหา ใช้กระบวนการทำงานแบบ Health Promotion เป็นผู้ผลักดันให้เกิดทีมนักจัดการสุขภาพชุมชน โดยชุมชน เพื่อคนในชุมชน รวมไปถึงการเป็นนักส่งเสริม สร้างเสริมสุขภาพ ผู้อยู่เบื้องหลังการมีชีวิตที่ดีและมีสุขภาพที่ดีขึ้นของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอลับแล อำเภอพิชัยและอำเภอใกล้เคียง

ทั้งหมดนั้น ดร.ผาสุขกล่าวว่า จะต้องมีการสื่อสารที่ดี ถึงจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

การสื่อสารคือเครื่องมือสำคัญ ตั้งแต่การสื่อสารด้วยคำพูดที่ต้องให้เกียรติทุกคน สร้างมิตร แสดงให้เห็นถึงความจริงใจ ร่วมกันแก้ปัญหากับเกษตรกรและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซื่อตรงต่อการจัดการงบประมาณ รวมไปถึงการสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ ต้องเข้าถึงได้ง่าย และนำไปใช้ได้จริง

“เช่นเดียวกับการที่ชาวบ้านจะบอกว่า หมอไม่เคย หมอไม่รู้ หากมองให้เป็นอุปสรรค ก็จะเป็นปัญหา แต่หากมองว่า ทุกปัญหามีทางออก และผลลัพธ์ที่ดีก็จะตามมา”

แม้ว่าต่อไป หากเกษียนอายุราชการ และไม่ได้ทำงานพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลแล้ว แต่ความเป็นพยาบาลนี้จะช่วยสานต่อสิ่งดีๆ ให้กับคนในพื้นที่ต่อไปได้ ดังที่ดร.ผาสุขกล่าวไว้ว่า

“เมื่อเราเห็นศักยภาพของตัวเองที่พอจะเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เกิดขึ้นในชุมชนหรือในสังคมได้ เราก็เลือกที่ทำสิ่งนั้นได้อย่างมีความสุข ความสุขอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากผลลัพธ์ปลายทางเพียงอย่างเดียว แต่ระหว่างทางเราเห็นผู้คนมีความสุขมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองมี และพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น เริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพอย่างจริงจัง

“ที่สำคัญ ผู้คนเหล่านั้นหรือคนที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความสามารถมากขึ้น สามารถนำความเก่งนั้นไปช่วยเหลือผู้คนในชุมชนของตัวเองต่อไปได้เรื่อยๆ ซึ่งเราเองก็มีความสุขมากเช่นกัน”

นอกจากการทำฟาร์ม และดำเนินการจัดทำโครงการด้านสุขภาวะต่างๆ แล้ว ดร.ผาสุขยังตั้งใจเขียนหนังสือให้ความรู้กับผู้คนต่อเนื่อง เพื่อสร้างสมดุลชีวิตของตัวเอง และมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชน รวมถึงการทำโครงการในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่จะกลายมาเป็นกำลังหลักของชาติต่อไป

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.