เซฟติสท์ฟาร์ม – SAFETist Farm คลังอาหารปลอดภัยที่กระจายอาหารดีสู่ชุมชน

เซฟติสท์ฟาร์ม - SAFETist Farm

เซฟติสท์ฟาร์ม – SAFETist Farm คลังอาหารปลอดภัยที่กระจายอาหารดีสู่ชุมชน

พื้นที่กว่าสองไร่ที่เคยเป็นพื้นที่รกร้างริมคลองบางมด วันนี้เปลี่ยนเป็นฟาร์มขนาดเล็กที่มีสระน้ำเป็นใจกลาง ริมสระฝั่งหนึ่งคือโรงเรือนเลี้ยงเป็ดและไก่ไข่ ในขณะที่รอบขอบสระก็เป็นพื้นที่เพาะปลูก ทั้งปลูกผักบนดิน สวนผักยกพื้น ผักกระถาง สมุนไพร และไม้ยืนต้นต่างๆ

ที่นี่คือที่ตั้งของ SAFETist Farm ชุมชนเล็กๆ ที่เกิดจากการรวมตัวของคนที่ต้องการเรียนรู้การพึ่งพาตนเอง พวกเขานิยามตัวเองไว้ว่าเป็น ‘นักสร้างสรรค์ความปลอดภัย’ ที่ความหมายนั้นครอบคลุมไปถึง การพึ่งพาที่ปลอดภัย อาหารปลอดภัย ใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“เราอยากสร้างชุมชนของเราเองขึ้นมา อยากพึ่งพาตนเอง ผลิตอาหารเอง และเมื่อมองถึงว่าถ้าจะเป็นชุมชนที่ยั่งยืนได้ หนึ่งในนั้นต้องมีเรื่องของเกษตร เรื่องความยั่งยืนทางอาหาร

“ช่วงโควิด-19 เป็นสิ่งยืนยันกับเราเลยว่า ถ้าไม่มีอาหาร เราอยู่รอดไม่ได้ เพราะตกงาน หรือต่อให้มีเงินมากมาย แต่ไม่มีอาหาร ไม่มีแหล่งซื้อ ก็จบเหมือนกัน” อรอุมา สาดีน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเซฟติสต์ฟาร์ม เล่าให้เราฟังถึงที่มาของคลังอาหารที่เกิดขึ้นในฟาร์มแห่งนี้

การเรียนรู้ของคนที่ปลูกผักไม่เป็นอย่างอรอุมาและเพื่อนๆ เริ่มต้นจากการเข้าหาปราชญ์ และปราชญ์ที่ชาวเซฟติสต์ฟาร์มเข้าไปขอความรู้ คืออาจารย์เกศริน แสงมณี แห่งเครือข่ายสวนผักคนเมือง ซึ่งได้กลายเป็นที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงให้เกษตรกรอินทรีย์ในเมืองมือใหม่ในเวลาต่อมา

“เริ่มตั้งแต่เพาะกล้าเลยค่ะ จากที่ไม่เป็นเลยเราเรียนรู้จนเป็น เริ่มทำคลังอาหารเป็น พอเรามีของกินเป็นของตัวเอง ก็รู้สึกว่าเราทำอยู่แค่ของเราเองไม่ได้แล้ว ต้องไปไกลกว่านั้น คือทำงานกับชุมชนมากขึ้น”

คลังอาหารของเซฟติสต์ฟาร์มเต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งผักกินโคน ผักกินต้น กินผล กินใบ ปลาที่เลี้ยงไว้ในสระ ไข่เป็ดไข่ไก่ ไปจนถึงวัชพืชกินได้ ที่เธอได้เรียนรู้จากกิจกรรมของสวนผักคนเมืองเช่นเดียวกัน

“เรามองว่าเราต้องกินผักหลายชนิดเพื่อให้ได้ธาตุอาหารครบ พอมาเข้าสู่วงการวัชพืชกินได้ เราตื่นเต้นกันมาก จากนั้นทุกคนก็หวง ผักเบี้ยหินหรืออะไรพวกนี้ที่อยู่ตามพื้นดินนี่ห้ามเหยียบนะ (หัวเราะ)”

ผลผลิตจากฟาร์ม นอกจากปลูกไว้กินกันเองกับสมาชิกชาวเซฟติสต์ฟาร์ม ผักเหล่านี้ถูกนำไปแจกจ่ายให้กับชุมชนใกล้ๆ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่เกิดวิกฤติอาหาร ต้นอ่อนทานตะวันที่เพาะได้อย่างเร่งด่วนและชาวชุมชนไม่เคยรู้จักกลายเป็นของฮิต ในยามนั้นความรู้ในการเพาะปลูกและกินผักที่หลากหลายถูกส่งต่อ ทำให้ชาวชุมชนละแวกใกล้ได้กลายเป็นผู้ผลิตอาหารเองมากขึ้น

“มีเรื่องหนึ่งที่ได้ยินจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค แล้วมันย้ำเตือนความคิดเรา คือคนจนเมืองไม่สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้เพราะมันแพง เราเลยสนใจมิตินี้ ต้องทำให้เขาปลูกเองเป็นเพื่อเขาจะได้กินอาหารที่ปลอดภัย เราเลยไปฝึกอาชีพให้กับเขา วิชาที่เราสอนคือการเพาะต้นอ่อนทุกประเภท การเลี้ยงไส้เดือน ปลูกผักกระถาง และเลี้ยงหนอนแมลงวันลายเพื่อย่อยสลายเศษอาหารตามชุมชนให้กลายเป็นปุ๋ย”

นอกจากคลังอาหารที่ชาวเซฟติสต์ฟาร์มได้พึ่งพา ผลผลิตเหล่านี้ยังเชื่อมโยงไปถึงผู้บริโภคในชุมชน ด้วยระบบสมาชิกตะกร้าผัก ในรัศมี 10 กิโลเมตร โดยส่งผักที่หลากหลายถึงบ้านเป็นรายเดือน ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และจันทร์ ภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังตัดเก็บผลผลิต ด้วยรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน

“เรามีสามแพ็กเกจให้เขาเลือก คือ 500 บาท 1,000 บาท และ 1,800 บาท ขึ้นกับจำนวนสมาชิกในบ้าน ส่งเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งการจัดตะกร้าผักใช้คอนเซ็ปต์การกินผักผลไม้ 400 กรัมต่อวันของ สสส. แต่ของเราไม่มีผลไม้ เราจึงจัดผักให้เขากินได้วันละ 240 กรัม เป็นตะกร้าสุ่ม เขาเลือกผักไม่ได้ แต่เขาบอกเราได้ว่ามีผักอะไรที่เขากินไม่ได้จริงๆ เพราะบางคนมีโรคประจำตัว

“บางคนไม่รู้จักชะคราม เมื่อก่อนเราก็ไม่รู้จัก จนมารู้ว่าชะครามปลูกในพื้นที่นี้ได้ เราก็ปลูกแล้วจัดลงตะกร้าให้ลูกค้า กลายเป็นว่าเขาชอบกันมาก บอกเลยว่าขอมีชะคราม กลายเป็นผักสร้างมูลค่าของเราเลย” เธอเล่าถึงการเรียนรู้ที่ทำให้ได้รู้จักชนิดผักมากขึ้น และนำความหลากหลายนี้ส่งลงตะกร้าถึงบ้านคนกินด้วย

จากปริมาณผลผลิตที่เพียงพอสำหรับการพึ่งตนเอง และส่งต่อไปยังสู่ชุมชน เซฟติสต์ฟาร์มมองไกลไปถึงภาพของคลังอาหารที่กระจายตัวไปอยู่ในชุมชนอื่นๆ ด้วยเชื่อว่า หากชุมชนมีคลังอาหารของตัวเอง เมื่อวันใดเกิดวิกฤติขึ้นอีก พวกเขาจะสามารถรับมือกับความขาดแคลนอาหารที่มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำได้

“ตอนนี้ชุมชนเรามีแล้ว แต่เรามองไปถึงว่าแต่ละชุมชนเขามีคลังอาหารของตัวเองไหม เพราะถ้าเกิดวิกฤติขึ้นมา การจะส่งความช่วยเหลือไปถึงมันใช้เวลา ฉะนั้นการเตรียมตัวที่ดีที่สุดคือให้เขาผลิตอาหารเป็น ให้เขามีเมล็ดพันธุ์พร้อมที่จะเตรียมตัว และครัวของเขาพร้อมที่จะประกอบอาหาร

“หรือถ้าเกิดวิกฤติขึ้น ชุมชนนี้มีคลังอาหารอยู่ตรงไหน เราต้องบอกได้ ตอนนี้เรากำลังถอดโมเดลของเรา เพื่อที่จะพัฒนาโมเดล และนำโมเดลนี้ไปสร้างการเชื่อมโยงในชุมชนอื่น ซึ่งคำว่าคลังอาหารจะมีแต่ผักอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีโปรตีน มีข้าว มีน้ำสะอาด และต้องมีปริมาณที่เพียงพอในการเลี้ยงดูชุมชนนั้นด้วย”

สองปีที่เซฟติสต์ฟาร์มได้รับการสนับสนุนจากโครงการสวนผักคนเมือง สร้างการเติบโตอย่างน่าพอใจ เพราะนอกจากที่นี่จะเป็นแหล่งผลิตอาหารแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนและศูนย์เรียนรู้ที่มีเยาวชนและผู้สนใจแวะเวียนเข้ามาอยู่เสมอ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่พวกเขาออกแบบให้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มและโจทย์ที่ต้องการเรียนรู้

“เร็วๆ นี้เราจะมีตลาดเขียว ซึ่งจะทำออกมาในลักษณะตลาดน้ำ พายเรือขายในคลองบางมด เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชน เราต้องการรื้อฟื้นคลองที่เมื่อก่อนเคยเป็นหน้าบ้าน แต่กลายมาเป็นหลังบ้านเพราะการเข้ามาของถนน ให้กลับมาเป็นหน้าบ้านอีกครั้งหนึ่ง

“การเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของชาวคลองบางมดแล้ว พวกเขายังได้มาทำความรู้จักกับพื้นที่อาหารปลอดภัยในเซฟติสต์ฟาร์มด้วย”

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.