บาทหลวงวุฒิชัย อ่องนาวา พลิกผืนดินชุมชนคาทอลิกให้อุดมด้วยเกษตรอินทรีย์

บาทหลวงวุฒิชัย อ่องนาวา

บาทหลวงวุฒิชัย อ่องนาวา พลิกผืนดินชุมชนคาทอลิกให้อุดมด้วยเกษตรอินทรีย์

“อยากให้เกิดสถานีเกษตรแบ่งปัน อำเภอละแห่งในราชบุรีสิบอำเภอ เพื่อสะดวกในการเข้าถึง ผมคิดว่าถ้าจะทำให้เกิดความยั่งยืนต้องมีแบบนี้” บาทหลวงวุฒิชัย อ่องนาวา เล่าให้เราฟังถึงความหวังที่อยู่ในใจ สิบปีกับการทำงานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในชุมชนคาทอลิก วัดนักบุญอักแนส ตำบลท่าเคย จังหวัดราชบุรี ทำให้เขามองเห็นทิศทางที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน ที่เกษตรกรต้องเป็นเจ้าของ ไม่ใช่เพียงลูกจ้าง

บาทหลวงวุฒิชัย หรือที่ใครอาจคุ้นชินที่จะเรียกเขาสั้นๆ ว่า ‘พ่อวุฒิ’ เป็นชาวราชบุรีโดยกำเนิด ด้วยดีกรีปริญญาเอกด้านพัฒนศึกษา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร นอกจากบทบาทของงานพัฒนาด้านจิตวิญญาณ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ชื่อของพ่อวุฒิยังเป็นที่จดจำในแง่ของการเป็นขับเคลื่อนงานเกษตรอินทรีย์ และขับเคลื่อนชุมชนอาหารเพื่อสุขภาวะเพื่อระบบเศรษฐกิจชุมชน ของราชบุรีโมเดล

“เราเป็นคนชอบกินผัก ได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวให้กินผักกันทั้งตระกูล เมื่อได้รับมอบหมายให้ไปอยู่ในชุมชนคาทอลิกเล็กๆ ที่ตำบลท่าเคย ซึ่งมีพื้นที่ของโบสถ์อยู่ประมาณ 180 ไร่และปล่อยว่าง จึงได้ลองชักชวนชาวบ้านมาปลูกผักกินเอง เพราะเราก็ไม่สบายใจที่จะต้องกินผักที่ปลูกด้วยการใช้ยาใช้ปุ๋ยจนเคยชิน เพื่อให้เข้าบรรทัดฐานของตลาดที่ผักต้องสวยน่ากิน ตามกลไกตลาด”

ผักบุ้งแปลงแรกให้ผลน่าพอใจ ด้วยคุณภาพของดินที่สมบูรณ์เพราะไม่เคยผ่านการทำเกษตรมาก่อน เมื่อถูกแบ่งปันให้กับชาวบ้านครอบครัวละกำ ก็ได้เสียงสะท้อนกลับมาว่าเป็นผักบุ้งที่หวานอร่อย “เราเลยใช้คำว่าเกษตรแบ่งปันตั้งแต่นั้น เพราะต้องการแบ่งปัน”

และจากผักหนึ่งชนิด ก็เริ่มกลายเป็นผักหลายชนิดขึ้น “เราปลูกตามที่เราเข้าใจ ตอนนั้นไม่ได้คิดเรื่องเกษตรอินทรีย์เลย และที่ดินของเราค่อยๆ ถูกรุก เลยคิดว่าทำยังไงจะรักษาที่ดินที่เรารับผิดชอบอยู่ ก็ชวนชาวบ้านมาพลิกแปลงปลูกผักทีละหน่อย

“จากแปลงที่หนึ่งไปแปลงที่สอง เอ๊ะ เราลองทำขายดีไหม อยากดูว่าผักเรามันเป็นยังไง โบสถ์เรามีชื่อว่านักบุญอักแนส ก็เลยเอาชื่อเซนต์อักแนสมาเป็นชื่อแบรนด์ ใช้ น.อักแนส ผักปลอดสาร จนตอนหลังก็เปลี่ยนเป็น น.อักแนส เกษตรอินทรีย์จนถึงปัจจุบัน”

อย่างที่พ่อวุฒิเล่าว่าตอนนั้นเขายังไม่รู้จักเกษตรอินทรีย์ แต่หนังสือที่ให้ความรู้เรื่อง CSA ซึ่งเป็นการผลิตแบบแบ่งปัน ทำให้เขาเน้นเรื่องปลอดสาร ทว่าก็มีคนตั้งคำถามว่าปลอดสารจริงไหม ประกอบกับในตอนนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ราชบุรีเป็นจังหวัดสีเขียว แปลงเกษตรของวัดนักบุญอักแนสจึงมีคนจากจังหวัดมาเยี่ยม และเกษตรอำเภอก็ได้แนะนำให้ยื่นขอการรับรองมาตรฐาน

“เขามีให้เลือกสองทางว่าจะใช้ GAP หรือ Organic เราก็เอาให้สุดไปเลย คือออร์แกนิก ตรวจแปลงอยู่สี่รอบกว่าจะผ่าน แต่การตรวจนั้นก็มาพร้อมกับความเข้าใจของเราว่าเกษตรอินทรีย์คืออะไร และนำมาสู่โลโก้ของ ‘น.อักแนส เกษตรอินทรีย์’

“และเมื่อได้มารู้จักกับ สสส. ก็ชัดเจนในความคิดว่าเกษตรอินทรีย์มีความหมาย เราไม่ได้มองเพียงแค่การรณรงค์ชาวบ้านให้ปลูกผัก แต่มองไปถึงองค์รวมการสร้างชุมชน จะสร้างต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำอย่างไร เราพัฒนาชุมชนอาหาร เราก็ต้องต่อยอดทั้งสามส่วน

“ล่าสุดเราต่อยอดไปสู่เรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจอาหารชุมชน ทั้งหมดนี้คือการเติบโตและพัฒนา การที่เราไปเชื่อมโยงกับ สสส. ทำให้เราเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้”

ความยั่งยืนเป็นหมุดหมายที่พ่อวุฒิปักธงเอาไว้ เขายอมรับว่าเส้นทางนั้นไม่ง่าย เพราะยังพบปัญหาในการผลิตอยู่ ว่าจะทำอย่างไรให้ผลผลิตปลอดสารเคมีเหล่านี้มีออกไปอย่างต่อเนื่อง เพราะวงจรของการเกษตรกรในประเทศไทย ยังต้องพึ่งพิงธรรมชาติ ที่หลายผลกระทบทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้า

“เราออกแบบปลูกทุกสัปดาห์เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการ เพราะตอนนี้เราก็มีเชื่อมโยงส่งผักให้กับครัวโรงพยาบาลสวนผึ้ง และส่งครัวโรงเรียน มีรถสถานีเกษตรแบ่งปันซึ่งนัดส่งผักยังจุดรับตามพรีออร์เดอร์ในวันอังคาร และมีจุดจอดประจำทุกวันพุธที่โรงพยาบาลสวนผึ้ง เป็นการจับกลุ่มเชื่อมโยง วางระบบการทำงานด้วยเอาแกนนำชุมชนและครอบครัวมาทำร่วมกัน คนขายก็คือคนปลูก

“เราไม่ใช่องค์กรธุรกิจ เราต้องการให้ชาวบ้านเขาทำเกษตรอินทรีย์ แล้วจัดการให้เป็นระบบ” พ่อวุฒิย้ำถึงการสร้างต้นน้ำ ที่เขาวางสถานะตัวเองเป็นผู้ช่วย

“ทำเกษตรอินทรีย์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำใจ เราต้องหล่อเลี้ยงจิตใจให้เข้มแข็ง ยังยืนหยัดอย่างนี้กับชาวบ้านอยู่ นี่คือโจทย์ที่เรามองว่าคือความท้าทาย เราต้องออกแบบเพื่อทำให้เกิดภาวะสมดุลมันเกิด”

นอกจากออกแบบการผลิต สถานีเกษตรแบ่งปันจึงต้องออกแบบการขายควบคู่ไปด้วย ทั้งการจัดชุดผักให้สอดคล้องกับการบริโภคของครัวเรือนขนาดเล็กและขายในราคาเดียวกัน การออกแบบแพ็กเกจจิ้ง มีมาตรฐานในการจัดวางบูธจำหน่าย มาตรฐานความสะอาดของคนขาย ฯลฯ ด้วยแนวทางเช่นนี้ สถานีเกษตรแบ่งปันจึงได้โอกาสไปแสดงตัวในรัฐสภาและงานต่างๆ

“ผักออร์แกนิกคุณค่าสูงอยู่แล้ว เราต้องทำให้ดูดีด้วย และการไปในโอกาสแบบนี้ อย่างน้อยก็สร้างแรงกระเพื่อมให้กับชุมชนว่า งานของเรามีคุณค่า สังคมเขาตื่นตัว เมื่อสิ่งที่เราทำมีคุณค่า มันจะขยายผล”

และสิบปีที่พลิกผืนดินของโบสถ์ทำเกษตรอินทรีย์ ก็ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ “เราได้เห็นคุณค่าของการทำเกษตร ว่าสามารถทำเป็นมูลค่าได้ถ้าเราจับจุดถูก ได้พัฒนาวิธีคิด ด้วยการปลูกอย่างละน้อย แต่ปลูกหลากหลาย และปลูกต่อเนื่อง วิธีการคือให้ตัวเองกินแล้วก็จำหน่ายจ่ายแจก สร้างคุณค่าให้มีมูลค่า เป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ และการคิดถึงไปปลายน้ำก็นำไปสู่การออกแบบการปลูก

“ตอนนี้เราอยู่ในช่วงการพัฒนาจิตใจของคนทำ ถึงที่สุดแล้วผมอยากให้สถานีเกษตรแบ่งปันเป็นของชาวบ้าน ชาวบ้านเป็นเจ้าของ เราเป็นคนมาช่วยออกแบบ ผมมองว่าความยั่งยืนจะต้องมาจากความเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ความเป็นลูกจ้าง และเราพยายามตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เพื่อเราจะได้ส่งต่อให้คนรุ่นต่อๆ ไป”

ขณะเดียวกันพ่อวุฒิก็มองว่า สิ่งที่ทำมาทั้งหมดได้เข้ามาพัฒนาตัวเขาเองด้วยเหมือนกัน

“เราทำเพื่อชุมชน แต่สุดท้ายก็เข้ามาเปลี่ยนเราด้วย ผมค้นพบว่าตัวเองพิถีพิถันกับชีวิตมากขึ้น การรักตัวเองอย่างถูกต้อง และรักคนอื่นอย่างถูกวิธี เริ่มที่การกิน หนึ่งในความสุขของเราคือการกิน เหมือน motto ใหม่ของเราที่ว่า ‘กินพอดี อยู่พอเพียง’

“และเราเข้าใจชาวบ้านมากขึ้น ได้เรียนรู้วิธีที่จะสื่อสารกับคนที่หลากหลาย เรามีวิธีเสริมแรงเสริมพลังใจกัน และเราก็ได้พัฒนาความคิด พัฒนามุมมองตัวเอง พัฒนาการเป็นกระบวนกรเพื่อที่จะพัฒนาคน

“เพราะว่าหลักในการเป็นบาทหลวง คือการพัฒนาจิตใจคน คิดง่ายๆ ไม่ว่าศาสนาไหนก็ตาม หากจะให้คนมีหลักธรรม ปฏิบัติตามศีลธรรมที่ดี มีความซื่อสัตย์ แต่ท้องเขาหิวอยู่จะให้ทำยังไง ธรรมชาติของมนุษย์ไม่มีใครอยากเป็นขอทาน หรือทำอะไรที่ผิด ก็ต้องมีทางเลือกให้เขา

“คนเราถ้ามีความมั่นคง เขาจะไปต่อได้ เรามองให้ตรงและเข้าใจเขา และหาวิธีการ หาเครื่องมือหานวัตกรรมเพื่อพัฒนาเขา”

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.