ดร.สง่า ดามาพงษ์ ด้วยหัวใจของครู กับการทำงานทั้งชีวิตเพื่อสร้างโภชนาการที่ดีให้คนไทย
“ผมทำเรื่องโภชนาการมาตั้งแต่อายุยี่สิบกว่า” ดร.สง่า ดามาพงษ์ เอ่ยประโยคแรกกับเราถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานเรื่องโภชนาการ ที่เขายังทำอยู่จวบจนทุกวันนี้ในวันที่ตัวเลขของวัยเดินทางมาถึง 72 ทว่าอาจารย์สง่ายังคงกระฉับกระเฉงและแข็งแรงกว่าคนวัยเดียวกัน หรือกระทั่งคนอ่อนวัยกว่าก็ตามที
ตั้งแต่วัยหนุ่มจนวัยงาม อาจารย์สง่าคือนักโภชนาการแห่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่สร้างผลงานและนวัตกรรมงานโภชนาการ และทำงานส่งเสริมให้คนไทยมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น งานขับเคลื่อนหลายโครงการมีอาจารย์สง่าเป็นกำลังสำคัญ
ทั้งยังมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์งานโภชนศึกษา ซึ่งบรรจุลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนเกิดการขับเคลื่อนงานระดับชาติ รวมถึงสร้างการพัฒนาในหลายต่อหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับงานอาหารและโภชนาการ
การทำงานอย่างเข้มข้น ประกอบกับวิสัยทัศน์ที่หวังเห็นความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมด้านโภชนาการของไทยเป็นไปในทางที่ดีขึ้น นำพาให้อาจารย์สง่าเข้ามามีบทบาทกับ สสส. ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น
“ผมเข้ามาทำงานกับ สสส. ตั้งแต่อายุ 52 ช่วงนั้นประมาณปี 2550 หลังจาก สสส.ก่อตั้งขึ้นได้ไม่นาน งานของ สสส.ในตอนเริ่มแรกนั้นมุ่งรณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา และลดอุบัติเหตุ ไม่ได้มีประเด็นเรื่องอาหารและโภชนาการสักเท่าไร
“แต่คำว่า ‘สำนักงานสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ’ คือ ‘Health Promotion’ จึงไม่ควรมีแค่เรื่องเหล้า บุหรี่ และอุบัติเหตุ แต่ควรจะมีเรื่องอาหารและโภชนาการด้วย ผมทำงานด้านนี้อยู่แล้ว คือเป็นนักโภชนาการ ทำงานที่กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็มีความคิดว่าอยากให้ สสส. เข้ามาจับงานอาหารและโภชนาการด้วย นั่นเหตุผลที่หนึ่ง
“เหตุผลที่สองคือ ผมคิดว่าการทำงานเฉพาะกรมอนามัยที่ทำอยู่ตอนนั้น ไม่มีพลังในด้านทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรทุน และทรัพยากรทางปัญญา เมื่อเราขาดสิ่งนี้ เราจึงควรรวมตัวกันระหว่างกรมอนามัยกับ สสส. ผมเลยกระโดดเข้ามาจับงานนี้
“และเหตุผลที่สามคือ ปัญหาด้านอาหารและโภชนาการในยุคนั้นมีเยอะมาก ลำพังกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยอย่างเดียวเอาไม่อยู่ จึงอยากให้ สสส.เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อน” อาจารย์สง่าเล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่เป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมงานกับ สสส. ก่อนขยายความต่อว่า
“ปัญหาที่น่ากังวลในตอนนั้นเป็นปัญหาโภชนาการในวัยเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาเชิงซ้อน คำว่าเชิงซ้อนก็คือ ในขณะที่เด็กขาดสารอาหาร ผอม เตี้ย แกร็น แต่ก็มีเด็กน้ำหนักเกินเต็มบ้านเต็มเมือง และปัญหาที่สองคือ พฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยยังไม่กินถูกหลักโภชนาการ กินไม่ปลอดภัย อาหารปนเปื้อนยาฆ่าแมลงเยอะ
“และผลจากการกินแบบนี้ ทำให้คนไทยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เยอะมาก เจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคเหล่านี้กันเยอะมาก นั่นคือปัญหาที่ชัดเจนที่สุดในขณะนั้น”
จากบทบาทที่เริ่มต้นกับ สสส. ในฐานะนักวิชาการจากกรมอนามัย ปัจจุบันอาจารย์สง่ามีบทบาทสำคัญในฐานะคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของแผนอาหารและสุขภาวะ และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหารและโภชนาการของ สสส. ทั้งในการให้คำปรึกษาและเป็นกรรมการกำกับทิศ การติดตามประเมินงาน และงานด้านการสื่อสาร
ทุกวันนี้อาจารย์สง่ายังคงเดินทางไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ และสร้างสรรค์แนวทางให้คนไทยเข้าใจเรื่องโภชนาการ และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แม้ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากเต็มทีที่จะเห็นผลในวันอันใกล้
“ถ้าให้ประเมินตอนนี้ 3-4 ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเด็กอ้วนเด็กผอม NCDs ความไม่ปลอดภัยในอาหาร ผมมองว่ายังขับเคลื่อนไปได้ไม่ถึงไหน แล้วกลับจะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เห็นผลและพอจับต้องได้ คือการเข้ามาทำงานประเด็นนี้ ก็เกิดการกระตุ้นให้สังคมไทยลุกตื่นขึ้น และเห็นความสำคัญของการส่งเสริมโภชนาการ เพื่อไม่ให้คนไทยเจ็บป่วย
“แต่การที่เกิดการตระหนักรู้มากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะลดลงในทันที คงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เพราะเรื่องที่ทำอยู่นี้เป็นเรื่องของพฤติกรรม ต้องใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง”
ความยากในการขับเคลื่อนงานอาหารและโภชนาการ คือการเป็นปัญหาเชิงซ้อนที่ไม่ได้ตรงไปตรงมาเหมือนปัญหาบุหรี่และสุรา และงานโภชนาการมีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของอีกหลายองค์กร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ถึงตรงนี้อาจารย์สง่าให้ความกระจ่างว่า
“เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องแค่ตัวผู้บริโภค แต่ไปเกี่ยวข้องกับผู้ผลิต ผู้ขาย ตลาด ร้านอาหาร เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการบริโภค ไปจนถึงวัฒนธรรมการกิน แล้วยังเกี่ยวโยงกับผลได้ผลเสียของผู้มีผลประโยชน์ เช่น ถ้าเราจะควบคุมไม่ให้เกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลง บริษัทที่จำหน่ายสารเคมีก็จะออกมาต่อต้าน เหล่านี้จึงเป็นปัญหาและอุปสรรค
“แต่ปัญหาใหญ่ที่เรายังไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ คือเรายังไม่สามารถปลุกคนไทยให้ลุกตื่นขึ้นมาเห็นความสำคัญ หรือตระหนักในการกินอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ เรายังทำตรงนี้ไปได้ไม่ถึงแก่น และเรายังไม่ได้สร้างสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้คนไทยหันกลับมากินอาหารที่ถูกหลักโภชนการและปลอดภัย
“เรายังมีอาหารไม่ดีอยู่เต็มตลาด มี junk food อยู่มากมาย มีอาหารหวานจัด มันจัด เค็มจัด อยู่มากมาย หลักใหญ่ของเราคือ เรายังไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของคนไทยได้
“การจะทำให้คนมีความตระหนักและมีองค์ความรู้ จนกระทั่งเกิดทักษะ มีพฤติกรรรมการกินอาหารที่ถูกต้อง เราใช้กลไกการสื่อสารอย่างเดียวไม่พอ และต้องยอมรับว่าตอนนี้เราลงทุนด้านการสื่อสารเรื่องอาหารและโภชนาการต่ำมาก เราไม่ได้สนใจกันอย่างแท้จริงว่าทำไมเด็กไทยกินผักน้อยลง ทำไมคนยังกินหวานจัดมันจัดเค็มจัด ทำไมคนยังล้างผักไม่เป็น ทำไมเกษตรกรยังใช้สารเคมีอยู่
“และการรณรงค์เรื่องนี้ไม่เหมือนกับการรณรงค์เรื่องดื่มเหล้าและบุหรี่ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุและคนเห็นผลทันที เราส่งเสริมให้คนกินอาหารครบห้าหมู่ ไม่หวานมันเค็ม กว่าเขาจะเห็นผลว่ากินแบบนี้แล้วเขาไม่เป็นความดัน ไม่เป็นมะเร็ง ใช้เวลาไม่รู้กี่ปี เขารู้สึกว่าเขากินเมื่อวานนี้ วันนี้ก็ไม่เห็นเป็นไร ยังมีชีวิตอยู่ได้
“ขณะเดียวกันนอกจากเรื่องกินหวานมันเค็ม ก็ยังมีเรื่องการกินไม่พอ กินมากไปกินน้อยไป กินผักผลไม้ไม่พออีก ด้วยความที่ประเด็นเยอะ และทุกอย่างต้องทำไปพร้อมกัน อันนี้จึงเป็นความยากของการสื่อสาร”
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานที่ผ่านมาของแผนอาหารและสุขภาวะ ซึ่งทำงานกันอย่างเชื่อมโยงของภาคีก็ยังผลที่น่าพอใจ แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเฉพาะในแต่ละพื้นที่นั้นยังไม่เพียงพอในมุมมองของอาจารย์สง่า
“การเห็นผลเฉพาะในพื้นที่ที่ลงไปทำ แต่ไม่สามารถขยายผลไปถึงระดับนโยบายของจังหวัดหรือทั่วประเทศได้ ไม่อาจเรียกว่าสำเร็จได้ คือถ้ามองที่แต่ละโครงการทำสำเร็จตามตัวชี้วัด จะเห็นว่าสำเร็จเกือบทุกโครงการ แต่ถามว่าเมื่อได้ตัวชี้วัดแล้ว จะขยายผลต่ออย่างไร ตรงนี้ต่างหากที่เราต้องหาคำตอบ
“ในมุมมองของผม การขับเคลื่อนจะนำไปสู่ความสำเร็จได้จริง ก็ต่อเมื่อ สสส.ทำหน้าที่ค้นหาโมเดล หานวัตกรรมความรู้ หารูปแบบ แล้วผลักเรื่องนี้ไปสู่หน่วยงานประจำ ไม่ว่าจะเป็นกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เขานำไปดำเนินการต่อทั่วประเทศ ซึ่งตอนนี้เรากำลังทำอยู่”
นอกจากเป็นหนึ่งกำลังสำคัญในคณะทำงานของ สสส. เราได้เห็นบทบาทอีกด้านหนึ่งของอาจารย์สง่า ในฐานะผู้ผลิตรายการ ‘ล่องสราญจานสง่า’ รายการแนว Edutainment ที่พาเราล่องไปตามลำน้ำเพื่อค้นพบเรื่องราวของวัฒนธรรมการอาหาร
รายการสนุกๆ ที่แฝงเนื้อหาสาระทางโภชนาการไว้ด้วยนั้น คืออีกหนึ่งในการทำงานที่อาจารย์สง่านำเอาองค์ความรู้ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต สอดแทรกเข้าไปอย่างชวนติดตาม ที่ถึงตอนนี้เดินทางมากว่า 140 ตอนแล้ว
“เราเบื่อตัวเองที่ต้องยืนสอนหนังสืออยู่หน้าห้องเรียน เบื่อตัวเองที่ต้องมานั่งเป็นวิทยากรพูดให้คนเป็นสิบเป็นร้อยฟัง แล้วถ้าเราตายไปเมื่อไรถึงจะเสร็จ เลยเกิดความคิดว่า จะใช้สื่ออะไรที่เอาสิ่งที่เรามีอยู่ปล่อยของออกไปให้เกิดผลกระทบในวงกว้างมากกว่ายืนสอน แล้วเราจะเอาความเป็นวิชาการของอาหารและโภชนาการมาทำให้เป็นเรื่องสนุกได้ยังไง ก็เลยทำรายการนี้ขึ้นมา
“ล่องสราญจานสง่าไม่ใช่รายการสาธิตทำอาหาร แต่เราไปตามชุมชนเพื่อไปดึงเอาอาหารไทยที่จวนสูญพันธุ์ มาคลี่ให้เห็นว่าอาหารไทยจานนี้บ่งบอกถึงภูมิปัญญาของคนไทยที่ล้ำลึก เป็นมรดกของแผ่นดิน เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ควรต้องภูมิใจและควรได้กิน ขณะเดียวกันเราก็ใส่ความรู้ด้านโภชนาการเข้าไปแบบเนียนๆ”
ไม่ว่าทั้งงานส่วนตัว และงานที่ทำร่วมกับ สสส. ยังคงเป็นงานที่เผยแพร่และส่งเสริมความรู้ด้านโภชนาการด้วยกันทั้งสิ้น หลายองค์ความรู้ของสสส. ได้ถูกสอดแทรกลงไว้ในรายการ ด้วยหัวใจความเป็นครูที่ต้องการให้ความรู้เหล่านี้เข้าถึงผู้คนได้มากที่สุด
และอีกนัยหนึ่งนั้น การตื่นรู้เรื่องโภชนาการของคนไทยคือชีวิตและความหวังของอาจารย์สง่า
“ผมอายุเจ็ดสิบสอง ยังทำงานอยู่ และเดินทางไปสอน ไม่ได้อยู่บ้าน นั่นก็เพราะผมจะนอนตายตาไม่หลับ และไม่มีความสุขเลย ถ้าไม่ได้ช่วยเด็กไทยซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติให้มีไอคิวสูง มีโภชนาการดี
“ผมไม่อยากเห็นคนอายุสี่สิบต้องเส้นเลือดสมองตีบ ไม่อยากเห็นคนตรวจเต้านมแล้วเป็นมะเร็งด้วยอายุแค่สามสิบสี่สิบ ไม่อยากเห็นคนวัยทำงานยังไม่เกษียณแต่ต้องเอาเงินไปรักษาตัวเอง ไม่อยากเห็นลุงป้าน้าอาต้องนั่งวีลแชร์ ไม่อยากเห็นคนเกษียณแล้วไม่ได้เที่ยวแต่มานอนติดเตียงเป็นภาระลูกหลาน
“และผมอยากเห็นรัฐบาลให้ความใส่ใจด้านโภชนาการให้มากกว่านี้ ให้รัฐบาลเอาเงินมาลงทุนเพื่อสร้างโภชนาการที่ดีให้เด็กไทย นั่นแหละคือสิ่งที่ผมอยากเห็นในอนาคตอันไม่ไกล”