ชีวิตที่เกิดมาเพื่อเรียนรู้และส่งต่อของเจ้าชายผัก นคร ลิมปคุปตถาวร

นคร ลิมปคุปตถาวร

ชีวิตที่เกิดมาเพื่อเรียนรู้และส่งต่อของเจ้าชายผัก นคร ลิมปคุปตถาวร

“มันเป็นเรื่องโชคชะตา” เขาเอ่ยแกมทีเล่นทีจริง ระหว่างเรากำลังคุยกันเรื่องชีวิตช่วงยี่สิบปีนี้ ที่เขาคลุกคลีอยู่กับดินกับน้ำ และสวนผัก เมื่อเจ้าตัวพาย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นเมื่อวันนั้น เราก็เห็นคล้อยอย่างที่เขาว่า

‘ปรินซ์’ หรือ ‘เจ้าชายผัก’ เป็นชื่อซึ่งคนในกลุ่มที่ให้ความสนใจเรื่องการทำสวนผักในเมืองคุ้นเคยกันดี เพราะนคร ลิมปคุปตถาวร เจ้าของนิกเนมดังกล่าว คือหนึ่งในบุคคลที่ทำงานขับเคลื่อนการทำเกษตรอินทรีย์ในเมืองมาตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนคิดทำโครงการ ‘สวนผักคนเมือง’ ขึ้นมาเมื่อสิบปีก่อน และคนที่มีประสบการณ์ทั้งในด้านวิชาการ การทำตลาดเขียว และการทำสวนผักอินทรีย์อย่างเขา ก็ได้เข้ามาเป็นกำลังสำคัญ

หากเราจะเขียนถึงชีวประวัติของนคร เรื่องราวของเขาคงอัดแน่นไปด้วยองค์ความรู้และไทม์ไลน์ของการทำเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองไทย แต่หากเล่าอย่างกระชับ เราต้องเริ่มต้นที่ว่า นครเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยโชคชะตา เพราะคิดแค่ว่าเขาคงจะเรียนมันได้ และนั่นคือเส้นเริ่มที่ถูกขีดเอาไว้

S 152616972 Gindee Club กินดี คลับ

“ที่นั่นน่าจะเป็นที่แรกที่มีวิชาเกษตรยั่งยืนอยู่ในหลักสูตร” และมันทำให้เขาสงสัยว่า เกษตรกรรมที่ประเทศเราทำกันอยู่ตอนนั้นมันไม่ยั่งยืนใช่ไหม “คนสอนคืออาจารย์ชนวน รัตนวราหะ ท่านเป็นรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และเป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องเกษตรยั่งยืนในไทย

“อาจารย์บอกกับผมว่า ถ้าจะยั่งยืน มันมีอยู่สามคำ คือ การพึ่งตนเอง ความหลากหลาย และความผสมผสานเกื้อกูล ถ้ามีสิ่งเหล่านี้ จะเป็นเกษตรที่ยั่งยืนได้”

การเรียนที่เน้นให้ได้ประสบการณ์จริงจากผู้รู้และลงมือทำ รวมถึงการได้ไปฝึกงานที่ประเทศออสเตรียซึ่งเป็นประเทศที่ทำเกษตรอินทรีย์ในยุโรปมากที่สุดขณะนั้น ค่อยๆ พาชีวิตของนครหยั่งรากลงไปในวิถีเกษตรยั่งยืนด้วยความเต็มใจ ความเป็นนักกิจกรรมที่อยู่ในเนื้อในตัวตั้งแต่เป็นนักศึกษา บวกกับวัยหนุ่มที่ต้องการเรียนรู้และแสวงหา พาไปสู่สิ่งที่เขาสนใจอย่างลึกซึ้งขึ้นผ่านโอกาสที่เข้ามาในรูปแบบการทำงานและการทำปริญญาโท ที่แน่นอนว่าเขายังปักหลักการเรียนด้านเกษตรกรรมยั่งยืน

“ระหว่างนั้นเราทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปด้วย ทั้งงานจัดการโรงเรียนเกษตรกร ช่วยนักศึกษาเบลเยียมทำวิจัยเรื่อง Fair Trade ได้ไปเห็นชุมชนที่บุกเบิกเรื่องเกษตรอินทรีย์ ได้เรียนรู้หลายอย่างในเกษตรอินทรีย์”

นครบอกว่าเขาอินกับเรื่องการมีส่วนร่วม และมันทำให้เขาได้ไปทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆ ซึ่งเปิดโลกที่เขาสนใจได้อย่างกว้างและลึกยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ การทำตลาดเขียว จากนั้นผืนดินที่บ้านของเขาในย่านลาดพร้าว ก็เกิดเป็นสวนผักเล็กๆ ที่ตั้งใจจะปลูกกินเอง ควบคู่กับการทำงานกับสวนผักคนเมือง

พัฒนาการของแนวคิดและปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ทำให้นครเกิดการเติบโตทางความคิดไปด้วย งานที่เขาสัมพันธ์ด้วยหลังจากนั้นจึงเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ งานตรวจรับรองมาตรฐาน เปิดศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง ทำกลุ่มฮาร์ดคอร์ออร์แกนิก จนเกิดเป็นตลาดปันอยู่ปันกิน ที่เฉดความหลากหลายของงานล้วนนำไปสู่ความยั่งยืน ทั้งในมิติสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ

S 152616974 Gindee Club กินดี คลับ

วันนี้สวนผักของเขาในย่านลาดพร้าว ขยับขยายขึ้นจากพื้นที่เดิมมาสู่ที่ดินกว่า 100 ตารางวา เป็นสวนในผืนดินข้างบ้านของเขากับภรรยาและลูกๆ บ้านหลังนี้เปิดพื้นที่เป็นตลาดเขียวเล็กๆ ทุกวันเสาร์ที่สามของเดือน และชวนให้คนเข้ามาเรียนรู้การทำสวนผัก ที่เขาให้ชื่อว่า ‘สวนศักดิ์สิทธิ์แห่งแม่ธรณี’

มากไปกว่านั้น จากที่เคยทำสวนในแนวทางเกษตรอินทรีย์ ตอนนี้นครกำลังเรียนรู้การทำสวนในแบบ ‘ไบโอไดนามิก’ ตามความสนใจที่เปลี่ยนไป และถ่ายทอดความรู้นี้ผ่านการอบรมให้กับผู้สนใจไปด้วย หากเปรียบตำราเล่มนี้มีอยู่ 100 หน้า เขาบอกว่าเดินผ่านมาแล้วมากกว่า 50 หน้า และแน่นอนว่าบรรจุเรื่องราวของเกษตรกรรมฟื้นฟู คือฟื้นฟูผืนดิน ชีวิต และจิตวิญญาณ

“ไบโอไดนามิกเกิดมา 100 ปี เกษตรธรรมชาติเกิดมาได้ 90 ปี เกษตรอินทรีย์เกิดมา 82 ปี จริงๆ คือการพูดเรื่องพลังชีวิตทั้งหมด เราพยายามเอาหัวใจมันกลับมา และตอนนี้เรากำลังย้อนกลับไปที่ราก กลับไปสู่เจตนารมณ์ของครูบาอาจารย์ ซึ่งคือการฟื้นฟูทั้งนั้น

“ผมสารภาพกับคนที่มาอบรมกับผมทุกรอบ ว่าใครที่เคยมาที่นี่เมื่อสิบปีก่อนจะไม่เหมือนตอนนี้นะครับ การเติบโตภายในของเรามันเปลี่ยนไป ผมเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ผมทำตอนนี้มันพิสูจน์ตัวมันเองอยู่แล้ว”

นครพาเราสำรวจความเชื่อของเขาผ่านการสัมผัสดินในแปลงที่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจากวิธีเดิมมาสู่วิธีใหม่ เป็นดินมีความร่วนที่ชื้นแต่ไม่แฉะ ไม่มีฟางคลุมดิน แต่เขาคอยพรมหน้าดินให้มีความชื้นอยู่เสมอ พรวนดินสักสิบวันต่อครั้งเพื่อเติมอากาศให้ดิน ผักในแปลงของเขากำลังออกใบงามสะพรั่ง ในแปลงมีวัชพืชอยู่เพียงน้อยนิด

“เป็นวิธีที่ง่ายกว่าเดิมเพราะเราเตรียมดินแค่ครั้งเดียว ฝังกลบหญ้าไปพร้อมกับดิน และใส่ปุ๋ยบำรุงดินไปในตอนนั้น หากจะใช้ปุ๋ยก็แค่ปีละครั้งสองครั้ง ปุ๋ยบำรุงดินที่ผมทำหนึ่งตัน ผมใส่แค่หกตัว อย่างละกรัม เท่านั้นเอง”

“ผมได้คำตอบจากการเรียนรู้เรื่องไบโอไดนามิกว่า เราควรให้พืชได้เติบโตอย่างที่เขาเป็น ไม่ใช่บังคับอย่างที่เราอยากให้เขาเป็น ธรรมชาติของพืชเหล่านี้มันอยู่ภายใต้ธรรมชาติที่แวดล้อมตัวมันเองอีกทีหนึ่ง ซึ่งธรรมชาติที่แวดล้อมเกิดจากสิ่งที่มีอิทธิพลต่อโลกใบนี้และจักรวาลข้างนอก การที่พืชหยั่งรากลงดินแล้วแผ่กิ่งก้านสู่ท้องฟ้า เกิดจากพลังที่มาจากดวงดาวและจักรวาล”

เขาเล่าถึงรายละเอียดปลีกย่อยในการทำสวนแบบไบโอไดนามิก เพื่อผลิตอาหารที่เปี่ยมด้วยพลังชีวิต ตามแนวทางของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ ปราชญ์ผู้ก่อตั้งการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ หนึ่งในตัวอย่างที่เขายกขึ้นมาให้เราเห็นภาพคือ

“การที่มีพืชชนิดใดเกิดขึ้น มันคือการส่งสารบอกเราว่าพื้นดินตรงนั้นต้องการความช่วยเหลือของพืชเหล่านี้ อย่างแปลงผมทำไมมีหญ้าแห้วหมูเยอะ ก็เพราะดินตรงนั้นแน่น น้ำขัง แห้วหมูมาเพื่อทำให้ดินตรงนั้นโปร่ง ทำให้อากาศเข้าไปในดินได้ เราต้องให้เขาทำหน้าที่ก่อน พอดินซุยขึ้นก็จะมีพืชอื่นมาแทนที่ เราก็ถอนหรือไถฝังกลบไปก็ได้ นั่นคือความรู้แบบไบโอไดนามิกที่ทำให้เราวางใจในการทำงานอย่างธรรมชาติได้

“มันเป็นการถอดรหัสภูมิปัญญาก่อนที่จะมีปฏิวัติเขียว ไบโอไดนามิกคือ back to the root กลับไปสู่รากฐานของมันจริงๆ ถามว่าในใจลึกๆ ผมยึดติดมั้ย ผมไม่ได้ยึดติด ผมแค่กำลังพยายามมองหาว่าคนสมัยก่อนเขาต้องการไปสู่อะไร อะไรคือเป้าหมายของเขา

“ไบโอไดนามิกอยู่บนรากฐานของ Anthroposophy คือการศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แล้วอาหารที่จะนำไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์คืออะไร สไตเนอร์ตอบคำถามของลูกศิษย์คนหนึ่งว่า ทำไมเดี๋ยวนี้คนจิตใจอ่อนแอ นั่นคือปัญหาของ nutrition อาหารการกินของเรามันไม่มีสะพานเชื่อมระหว่างความคิดและการกระทำของเรา พูดง่ายๆ ว่ามีพลังชีวิตไม่พอที่จะทำให้ความคิดของเราไปแปรเปลี่ยนการกระทำ และการกระทำไม่ไปทำร้ายความคิดของเรา

“อาหารสำคัญกับชีวิตมาก อาหารที่มีพลังชีวิตคืออาหารที่เติบโตด้วยพลังของเขาเอง และพลังของเขาเองคือพลังจากธรรมชาติ พลังที่ได้รับมาจากดินน้ำฟ้าดาว”

S 152616975 Gindee Club กินดี คลับ

เขารับว่าการอธิบายเรื่องนี้เพื่อสร้างความเข้าใจเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา เขาจึงหวังให้มันแสดงตัวผ่านงานที่เขากำลังเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงในห้องเรียนข้างบ้าน

“เราอยากให้คนกลับมาหาอีกด้านที่เรียกว่าศิลปะ การปลูกผักเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ทำยังไงก็ได้ให้ผักมันโต ให้ผักแข็งแรง ทำยังไงให้ผักมันมีพลังชีวิต ศิลปะไม่มีผิดถูก”

ยี่สิบปีที่คลุกคลีกับการทำงานเรื่องเกษตรยั่งยืน นครบอกว่าเขามีเหตุผลเพียงแค่ “อยากทำให้ชีวิตของผมและสังคมที่รายล้อมดีขึ้น พี่ห่วน (วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด) เคยพาคุณโช ประธาน Hansalim สหกรณ์ผู้ผลิตและผู้บริโภคในเกาหลีใต้ ที่ส่งเสริมเกษตรกรอินทรีย์จนสามารถกำหนดนโยบายเกษตรในเกาหลีใต้ได้ เขามาที่บ้านผม และคำพูดของเขาเป็นแรงผลักดันของผมเลยว่า

“เมื่อสามสิบปีที่แล้วเขาทำเหมือนที่ผมทำอยู่อย่างนี้ พยายามสร้างคอมมูนิตี้เชื่อมโยงคนที่เข้าใจเรื่องพวกนี้ขึ้นมา เราไม่รู้หรอกว่าเราจะไปถึงจุดที่เขาทำได้มั้ย แต่นั่นก็คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากทำเรื่องนี้อยู่ และยังอยู่ตรงนี้ นอกจากความสัมพันธ์ที่ดีแล้ว เรื่องสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ เรื่องอาหาร เรื่องเมือง คน สังคม จะดีไปด้วย

“ผมคิดว่าในอนาคตผมคงได้ทำเรื่องพวกนี้มากขึ้น และเชื่อมโยงมากขึ้น เราคิดว่าเรื่องเกษตร เรื่องดิน เรื่องพลังชีวิต เรื่องสร้างชุมชน เป็นเรื่องที่ผมเลือกอยู่แล้ว แต่มิติที่มีเข้ามามากขึ้นอย่างงานเรียนรู้และส่งต่อก็เป็นงานที่ผมสนใจมาก ซึ่งจะขยับขยายยังไงก็ต้องรอดูต่อไป”

นครเล่าถึงความคิดด้วยท่าทีสบายๆ พลางหัวเราะน้อยๆ แล้วบอกว่า “เป็นเรื่องของโชคชะตา”

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.