พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร กับเรื่องราวของ ‘นมแม่’ มหัศจรรย์อาหารธรรมชาติที่ต้องการแนวร่วมสนับสนุน
‘นมแม่ดีที่สุด’ สำหรับการเลี้ยงดูทารก แล้วเหตุใด เลือดในอกของแม่ที่กลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกจึงกลายเป็นวิกฤติการณ์ของแม่ยุคใหม่ ที่สังคมทุกฝ่ายควรให้ความใส่ใจอย่างเร่งด่วน
“ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่น้อยลงมาก อย่างในปี พ.ศ.2564 มีอัตราการเกิดแค่ 5 แสนกว่าคนเท่านั้น แล้วเด็กเหล่านั้นต้องเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติ แบกรับภาระของสังคมไทยที่กำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งอีก 30 ปีข้างหน้า โลกก็คงไม่ค่อยน่าอยู่ เต็มไปด้วยภัยพิบัติ ปัญหาสารพัน
“ดังนั้น เราต้องเตรียมความพร้อมให้เด็กมีทักษะในการอยู่รอดได้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้เขามาดูแลคนรุ่นพ่อแม่อีกที ดังนั้นการเลี้ยงเด็กอ่อนให้เติบโตได้ดี จึงต้องเป็นภารกิจร่วมกันของคนในสังคม
คุณหมอเอ๋ พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เอ่ยถึงปัญหาของทารกเด็กในสังคมปัจจุบัน ที่ผู้เลี้ยงดูไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อนมแม่ และเรื่องราวเหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้คุณหมอเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ ‘สร้างสุขภาวะเด็กไทยด้วยนมแม่ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 และสานพลังเครือข่ายสู่การขยายผล’ ซึ่งมี สสส. เป็นกำลังสำคัญในการให้การสนับสนุน มาเกือบ 20 ปีแล้ว
จากประสบการณ์ตรง สู่แรงบันดาลใจในขับเคลื่อนเรื่องนมแม่
“ตอนหมอมีลูกคนแรก ลาคลอดไม่เกินสองอาทิตย์ก็กลับไปทำงานแล้ว ตอนนั้นที่ทำงานเขาชมกันใหญ่ว่า โอ้โห…สุดยอด คุณหมอเก่งจังเลย รับผิดชอบมาก คุณหมอเป็นคนเสียสละ ฯลฯ เราก็หลงไปฟังสังคม ไม่ตระหนักเลยว่ากำลังพลาดโอกาสทองในการสร้างพัฒนาการให้กับลูกในวัยที่สมองของเขาเติบโตได้ถึง 80% ของสมองผู้ใหญ่
“พอมีลูกคนที่สอง หมอมีเวลาเลี้ยงลูกด้วยนมมากขึ้น เพราะบ้านพักอยู่ใกล้กับที่ทำงาน ตอนนั้นเริ่มศึกษาเรื่องพัฒนาการของเด็กอย่างจริงจัง จึงรู้ว่าการเลี้ยงดูที่มีความหมาย จะส่งผลกระทบทางตรงต่อการสร้างประชากรคุณภาพให้กับสังคมไทย
“แต่ทุกวันนี้สภาพสังคมเปลี่ยนไป แม่ส่วนใหญ่ต้องสู้ระหว่างการทำมาหากินกับการเลี้ยงลูก กว่าจะได้นอนก็ดึกมาก ต้องปั๊มนมเก็บไว้ เช้าก็ต้องรีบตื่นไปทำงาน ที่ทำงานก็อยู่ไกล แล้วตอนไปทำงาน ลูกอยู่กับใคร 70-80% ของเด็กวัยต่ำกว่า 3 ขวบ ถ้าไม่อยู่กับปู่ย่าตายาย ก็ต้องอยู่กับพี่เลี้ยง ซึ่งไม่ได้เลี้ยงแบบเข้าใจพัฒนาการของเด็ก พอเด็กร้องให้ จับนมขวดใส่ปากเด็กหลับได้ยาว ๆ ก็จบ
“บางคนก็ส่งโทรศัพท์มือถือให้เล่น เด็กก็เล่นไป เลี้ยงแบบนี้เด็กโตได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็นการเลี้ยงที่มีความหมาย สังคมจึงต้องมีการชี้นำวิถีทางที่ถูกต้องในการเลี้ยงลูก เพราะการเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของคนเป็นแม่”
วัยแห่งการสร้างตัวตน
“ช่วงวัยที่สำคัญที่สุดในการสร้างพัฒนาการของมนุษย์ คือวัยแรกเกิดถึง 3 ขวบปี เพราะกระบวนการสร้างตัวตนจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ เด็กเกิดใหม่สมองใสแจ๋ว เด็กจะเริ่มทำความรู้จักโลกใบนี้ ผ่านประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ที่คนเลี้ยงดูแต่ละคนส่งให้ ซึ่งเด็กไม่รู้หรอกว่าเป็นใคร เพราะเด็กก็ยังไม่รู้จักตัวเองด้วยซ้ำ
“ดังนั้น สามขวบปีแรกคือการส่งเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ โดยมีนมแม่เป็นจุดสตาร์ท กินได้ถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้น แล้วถ้าแม่เข้าใจวิธีการเลี้ยงลูก มันคือ perfect environment ที่จะส่งประสบการณ์ดี ๆ ไปสร้างซินแนปส์ (Synapse) ในสมอง ตอน 2 ขวบ สมองก็เติบโตถึง 70% พอ 3 ขวบก็พัฒนาไปถึง 80% ของน้ำหนักสมองผู้ใหญ่ ส่วนอีก 20% ที่เหลือ ค่อยมาสร้างตอนโตแล้วจะไปได้อะไร”
โครงการที่คุณหมอทำ มีส่วนช่วยเรื่องนี้อย่างไร
“เรื่องนมแม่มีการผลักดันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ตอนนั้นอัตราเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำมาก ประมาณ 1-2% ศาสตราจารย์ นพ.วีรพงศ์ ฉัตรานนท์ ท่านเป็นหมอเด็กอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นคนแรกเลยที่เปลี่ยน mindset เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
“จากเดิมพอเด็กเกิดมา พยาบาลเอาไปอาบน้ำให้สะอาดเอี่ยม เช็ดตัวให้แห้ง หยอดตาเรียบร้อย ประมาณหนึ่งถึงสองชั่วโมงค่อยมาส่งให้ดูดนมแม่ แต่คุณหมอสาธิตให้เห็นว่า พอลูกเกิดปุ๊บ เช็ดตัวให้แห้งแล้วส่งมาให้กินนมจากเต้า เพราะตอนนั้นแม่เพิ่งคลอดลูกใหม่ ๆ มีความตื่นเต้นที่จะได้เห็นหน้าลูก ได้สัมผัสลูก เด็กก็เหมือนกัน เขาจะตื่นตัว เมื่อได้สัมผัสเนื้อแนบเนื้อ เด็กจะมีแรงดูดนม กระตุ้นให้น้ำนมไหลได้ดี นั่นคือนาทีทองสองชั่วโมงแรก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญตั้งแต่ชั่วโมงแรกของชีวิต”
“ในปี พ.ศ.2547 มีการจัดตั้งมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ภารกิจของมูลนิธิฯ คือ ส่งเสริม สนับสนุนให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างมีความรู้ มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องนมแม่หลายหน่วยงาน มูลนิธิฯ ทำงานด้านต่าง ๆ ได้แก่ งานด้านวิชาการ มีการจัดประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ประชุมวิชาการนมแม่เด็กป่วย ฯลฯ แล้วสังเคราะห์องค์ความรู้ออกมาสู่สาธารณะ
“งานด้านการสื่อสาร ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ทันสมัย ด้านการบริหารจัดการผลักดันสู่นโยบาย มีการขยายผล ‘มุมนมแม่’ และสวัสดิการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการต่าง ๆ จากเมื่อก่อน สถานประกอบการตามโรงงานไม่มีมุมนมแม่ที่เหมาะสม แต่ตอนนี้สถานประกอบการต่างให้ความสำคัญ ในการจัด ‘มุมนมแม่’ อย่างน้อย ๆ แม่สามารถบีบน้ำนมเก็บไว้ให้ลูกได้กินหลังเลิกงาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังผลักดันเรื่องการบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถาบันผลิตแพทย์ ฯลฯ
“เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของนาทีทอง 3 ขวบปีแรกในชีวิต ที่เด็กควรได้กินนมแม่อย่างถูกต้อง เราจึงต้องผลักดันเรื่องนี้อย่างเป็นองคาพยพ”
สิ่งทีคุณหมอหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลง
“หลัก ๆ มีสองเรื่อง เรื่องแรกคือ การให้คำแนะนำปรึกษาอย่างมีคุณภาพ คนเป็นแม่มีปัญหามากมายที่ต้องการคนให้คำแนะนำปรึกษาที่ถูกต้อง เด็กดูดนมไม่ได้ จะทำอย่างไรดี นมแม่แช่ตู้เย็นไว้กี่วัน ยังกินได้อยู่มั้ย ถึงเวลาให้อาหารเสริมควบคู่กับนมแม่แล้วหรือยัง เด็กกินกล้วยแล้วหลับดีจัง ให้กินวันละสองลูกเลยได้มั้ย ฯลฯ
“คิดดูว่าปัญหาเหล่านี้ ถ้าไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้มาให้คำตอบ แม่ก็อาจจะมีความเครียด แล้วความกังวลใจของแม่ ส่งผลด้านอารมณ์เชิงลบ สื่อไปถึงลูก ในช่วงที่เด็กกำลังพัฒนาตัวตนขึ้นมา เรื่องระบบการให้คำปรึกษา ยังมีอีกหลายด้านที่เราต้องการพัฒนา ยกระดับ
“เรื่องที่สอง อยากเห็นศูนย์ Day Care ใกล้ที่ทำงานของแม่ อย่างประเทศสิงคโปร์ มีแผนพัฒนาศูนย์ Day Care รอบเกาะ ถึง 2 แสนแห่ง ตอนนี้ทำไปได้แล้ว 1 แสน 7 หมื่นกว่าแห่ง สะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาคนของสิงคโปร์ ที่เขาให้ความสำคัญนับตั้งแต่วัยทารก ถ้าระหว่างวัน แม่สามารถแวะมาให้นมลูกได้ เด็กจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ ลดปัญหาความกังวลของแม่ไปอีกหลายอย่าง”
“ตอนนี้ทางมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กำลังทำโครงการศูนย์ Day Care ต้นแบบ ที่จังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับโรงพยาบาลสุทธาเวช โดยคัดเลือกอบต. 13 แห่งเข้าร่วม โครงการนี้จะผลักดันเรื่องการเลี้ยงดูคู่การเรียนรู้ ถ้าเด็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีความหมาย ได้รับอาหารเสริมที่ถูกต้องในช่วงเวลาที่เหมาะสม และได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม เด็กจะสามารถเชื่อมโยงสรรพสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นพื้นฐานของพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ ความรู้ ภูมิปัญหา ให้เติบโตไปด้วยกันอย่างรวดเร็ว”
สิ่งที่คุณหมออยากให้สังคมสนับสนุน
“เลิกมองว่าแม่ลูกอ่อนทำงานได้ไม่เต็มที่ ขณะนี้อัตราการเกิดของสังคมไทยต่ำลงทุกปี ผู้หญิงที่มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ คือ บุคคลที่สำคัญมากของประเทศเรา เพราะเขากำลังสร้างคนรุ่นใหม่ให้กับประเทศ ให้กับโลก ทำอย่างไรที่เราจะช่วยลดความกังวลของแม่ เช่น การลาคลอดสามเดือน ตามสิทธิ์ แม่ก็ควรหยุดเต็มสิทธิ์ ไม่ใช่หยุดแค่เดือนครึ่งแล้วรีบกลับมาทำงาน เพราะกลัวเงินใช้ไม่พอ หรือกลัวจะดูไม่ดี
“ขณะที่ลูกยังไม่ถึงสามขวบ แม่ต้องเลี้ยงลูกอย่างใส่ใจ อาจจะต้องกลับบ้านไว อย่ามองว่าแม่เป็นภาระของที่ทำงาน เพราะการที่แม่ต้องกังวลกับงานไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย จะมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจของเด็กเวลาที่เขาโตขึ้น
“อยากให้คนไทยรู้ว่า เด็กต่ำกว่า 3 ขวบเป็นภาระของคนทุกคน มองให้ไกล มองให้ทะลุว่า เขานั้นคือตัวแทนของเราในอนาคต ซึ่งต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างจากเราเยอะมาก เราได้เตรียมติดอุปกรณ์ให้เขาได้มีเครื่องมือ ทั้งทางสมอง ทักษะชีวิต ถ้าเราไม่ได้ทำ เราทำร้ายเขาทางอ้อม
“ตอนนี้ประเทศต่าง ๆ พลิกแล้ว สิงคโปร์พลิกแล้ว เวียดนามพลิกแล้ว อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พุ่งกระฉูด เพราะฉะนั้นเด็กไทยจะให้ไปอยู่ตรงไหน อย่างน้อยการทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันที่ดีจากการได้กินนมแม่ คงเป็นเพียงสิ่งที่เราพอทำได้ในตอนนี้”