สุพจน์ หลี่จา ชนเผ่าลีซูผู้ใช้มิติอาหารเป็น Soft Power สร้างความเข้าใจพี่น้องชาติพันธุ์

สุพจน์ หลี่จา ชนเผ่าลีซูผู้ใช้มิติอาหารเป็น Soft Power สร้างความเข้าใจพี่น้องชาติพันธุ์

ปลาและพืชที่น้อยลง วิถีการทำเกษตรที่ไม่เหมือนเดิม และการหายไป ทำให้มองเห็นชัดขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นให้สุพจน์ หลี่จา หรือ ‘จะแฮ’ นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ (สสช.) ชาติพันธุ์เผ่าลีซู หมู่บ้านปางสา จังหวัดเชียงราย เข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการดิน น้ำ ป่า ในชุมชนพี่น้องชาติพันธุ์ และค้นพบว่าสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการทำการเกษตรที่ไม่เหมือนเดิม

ด้วยความไม่ปลอดภัยทางอาหารทวีความรุนแรงขึ้นจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจเป็นหลัก การปลูกพืชชนิดใหม่ๆ การทำเกษตรแปลงใหญ่ มีการนำสารเคมีเข้ามาใช้มากขึ้น สุพจน์จึงนำการเกษตรที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาวัฒนธรรมของชุมชนพี่น้องชาติพันธุ์ เป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม และนั่นเป็นที่มาของสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ (สสช.) ที่ก่อตั้งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

112958 Gindee Club กินดี คลับ

เปลี่ยนพื้นที่ Hot spot เป็นพื้นที่ Health spot เพื่อการแบ่งปัน

วิถีการทำเกษตรที่เรียนรู้จากแม่ เดินตามแม่ไปไร่ ปลูกพืชตามฤดู เป็นการสืบทอดด้วยวิถีธรรมชาติ โดยเกิดการเรียนรู้จากลงมือทำ คือการปลูกพืชตามฤดูกาล ใช้ธรรมชาติเป็นตัวขับเคลื่อนวิถีการเกษตร ที่สัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติ

“วิถีการทำเกษตรของพี่น้องชาติพันธุ์ทุกชนเผ่า ไม่ใช่ว่าปลูกข้าวแล้วได้ข้าวอย่างเดียว ในนาข้าวไร่ก็มีพืชอื่นๆ ที่หยอดเมล็ดพันธุ์ปลูกแซมลงไปพร้อมกับข้าว เช่น ผักกาด พริก ทานตะวัน แตงต่างๆ พอ 7-10 วัน ผักจะทยอยเติบโต ระยะเวลา 4 เดือนก็จะมีอาหารกินตลอด ทำไร่ข้าวต้องใช้ปริมาณน้ำฝน ก็ต้องทำตามฤดูกาล เราไม่มีนาแปลงใหญ่ พอฤดูหนาวเป็นต้นไปก็ปลูกผักเพื่อบริโภคจนถึงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นช่วงของการบริโภคผลผลิตที่ทำเก็บมาตลอดปีในฤดูก่อนหน้านี้”

แต่เมื่อฝนตก ดินถล่ม หมอกควันหนา เกิดข้อกล่าวหาที่พี่น้องชาติพันธุ์ตกเป็นจำเลยจากการทำเกษตร สุพจน์จึงใช้มิติอาหารเป็นเครื่องมือสื่อสาร เพื่อลดอคติให้สังคมเข้าใจบริบทความดีงามของชุมชนชาติพันธุ์มากขึ้น และหันมาแก้ปัญหาร่วมกัน พยายามให้คนเมืองเห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ทะเล ก็ล้วนมีผลกระทบต่อคนที่อยู่ต้นน้ำ และหากพี่น้องชาติพันธุ์มีการทำลายแหล่งน้ำ ก็มีกระทบต่อคนที่อยู่ท้ายน้ำด้วยเช่นกัน และเพราะเหตุนี้ เขาจึงนำหลักการทำเกษตรวิถีชาติพันธุ์เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม

“บางอย่างยังคงต้องใช้ไฟ เพื่อฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งไร่ข้าวเป็นตัวชี้วัดความมั่นคงทางอาหารของพี่น้องชาติพันธุ์ ทุกชนเผ่าเผาไร่ก่อนเพาะปลูก วิถีการเกษตรดั้งเดิมตามภูมิปัญญาชาติพันธุ์ใช้ไฟน้อยมาก เราพยายามให้เขาเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรที่ลดการเผา ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ไม่ใช้สารเคมี และกลับมาใช้เกษตรวิถีเศรษฐกิจพอเพียง แต่ไม่ปฏิเสธการใช้เครื่องจักรหรือเครื่องทุ่นแรง”

จากจุดเล็กๆ ในหมู่บ้าน ต่อยอดไปสู่การสื่อสารในภาพใหญ่ สุพจน์ใช้วาระงานของเครือข่ายชนเผ่าแห่งประเทศไทย หรือสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยที่มีพี่น้องกว่า 60 กลุ่ม ในประเทศตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ โดยคัดเลือกตัวแทนเผ่า และให้ตัวแทนไปสื่อสารในกลุ่มของตัวเอง เกิดการขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่มีเผ่านั้นอยู่ด้วย เพื่อทำการสื่อสารและรณรงค์ในกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ เช่น สาธิตเมนูอาหารที่พี่น้องชาติพันธุ์ทำกินกัน ให้เห็นภาพเชื่อมโยงกับทรัพยากรดิน น้ำ ป่า

นอกจากนี้ยังทำงานสืบทอดภูมิปัญญาทางการเกษตร ร่วมกับประเด็นอื่นๆ ทั้งเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน เพราะถ้าขาดพื้นที่ทำกิน ฐานการผลิตก็หายไป และมุ่งทำให้ภาครัฐในพื้นที่เข้าใจบริบท เพราะพื้นดินเป็นแหล่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร เรื่องนี้จึงกลายเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของเครือข่ายพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

อาหารที่พี่น้องชาติพันธุ์ได้ปลูกตามวิถี ไม่ได้ทำแค่อิ่ม แต่ถูกแบ่งปันไปยังคนพื้นที่อื่นๆ ด้วย สถานการณ์โควิด-19 ทำให้พี่น้องชนเผ่ากลับมามองตัวเองถึงภูมิปัญญาวิถีการเกษตรที่ตนมีอยู่ หลายคนไม่มีอาหารกิน เครือข่ายชาติพันธุ์ก็ส่งเมล็ดพันธุ์ไปยังที่ต่างๆ ผ่านโครงการข้าวแลกปลา ทำให้สังคมเห็นประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งไม่ใช่ปัญหาเฉพาะคนชาติพันธุ์ หรือ สสส. แต่เป็นประเด็นที่ทุกคนต้องให้ความร่วมมือและเข้าใจ ใช้สถานการณ์เป็นเครื่องมือสื่อสาร สร้างการตระหนักให้ชุมชนเข้าใจเรื่องเหล่านี้

“ทุกคนกลับบ้านก็ยังมีอาหารกิน ชุนชนปิดหมู่บ้านปิดเป็นเดือนๆ ก็ยังอยู่ได้ เพราะมีความมั่นคงทางอาหาร เมื่อเทียบกับคนที่อยู่ข้างนอกเขาไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ แล้วชุมชนมีใจแบ่งปันก็ส่งข้าวสารอาหารต่างๆ ไปช่วยคนที่ได้รับผลกระทบ โครงการเราเป็นตัวขับเคลื่อนให้พี่น้องชาติพันธุ์ในเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน รวบรวมอาหารต่างๆ ไปช่วยคนที่อยู่ในเมืองที่ได้รับผลกระทบ ชี้ให้เห็นว่าทุกคนกลับมามองความสำคัญการสร้างฐานความมั่นคงทางอาหารของตัวเองมากขึ้น”

112964 Gindee Club กินดี คลับ

รักษาที่ทำกิน=รักษาป่า

จากต้นทุนทางภูมิปัญญาของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงทางอาหาร รวบรวมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน โดยใช้แนวเศรษฐกิจพอเพียงหรือศาสตร์พระราชา เป็นตัวขับเคลื่อนงานส่งเสริมความมั่นคงของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ รวมทั้งการใช้หลักสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของอาจารย์หมอประเวศ วะสี ที่พูดถึงการสร้างความรู้ การสร้างเครือข่าย และการผลักดันนโยบายในระดับต่างๆ โดย สสส.เข้ามาสร้างกลไก และเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแรงบันดาลใจให้ผมได้มามุ่งส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารอย่างจริงจัง ซึ่งพระองค์เคยเสด็จมายังพื้นที่บ้านปางสา ซึ่งผมเกิดที่นี่ จึงเริ่มต้นทำเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่บ้าน ยกประเด็นต่างๆ ที่เป็นสถานการณ์ เช่น ถ้าคุณไม่ได้ออกนอกชุมชน ชุมชนถูกปิด หรือน้ำท่วม จะมีชีวิตอยู่ในชุมชนได้กี่เดือน ซึ่งความมั่นคงทางอาหารเป็นตัวชี้วัดความยั่งยืนของชุมชนด้วย ก็พยายามสร้างความเข้าใจนี้ในชุมชนชาติพันธุ์”

เมื่อพูดเรื่องส่งเสริมความมั่งคงทางอาหาร สุพจน์จะระลึกถึงชีวิตวัยเด็ก ชีวิตของชุมชนในอดีตว่ามีการกินอยู่ ปลอดสารเคมีอย่างไร เขาพยายามรื้อฟื้นสิ่งที่แต่ละชนเผ่ามี โดยยกตัวอย่างประสบการณ์ตัวเองให้เห็นการทำงานด้านนี้ เช่น กินทุกอย่างที่เราปลูก ปลูกทุกอย่างที่เรากิน และมีแบบแผนที่ชัดเจนว่าจะปลูกอะไร เพื่อให้มีอาหารกินตลอดเวลา และศรัทธาในสิ่งที่กำลังทำอยู่ รวมถึงสื่อสารกับคนที่อยู่ในชุมชนและภายนอกด้วยการปฏิบัติ สร้างพื้นที่รูปธรรมให้เขาเห็นด้วยตัวเอง

“สิ่งที่เราส่งเสริมชาวบ้าน ทุกเรื่องราวเป็นประสบการณ์และผ่านการปฏิบัติจริงของเรามาแล้วทั้งนั้น เวลาไปสอนหรือพูดคุย ไม่ใช่สิ่งที่เลื่อนลอย แต่เราเรียนรู้จากคนอื่นด้วย และขวนขวายหาความรู้เรื่องราวจากคนอื่น ทั้งที่เป็นบุคคล และพื้นที่ หน่วยงานหรือชุดความรู้ที่มาจากสื่อและภาคีเครือข่ายของ สสส. ซึ่งเป็นประโยชน์มาก เราได้เห็นประโยชน์จากมิติต่างๆ และนำกลับมาใช้ในบริบทชุมชนและตัวเราได้”

สุพจน์เล่าว่า พี่น้องชาติพันธุ์เชื่อว่า ‘โลกทั้งผอง เราคือพี่น้องกัน’ พวกเราชาติพันธุ์มีความกตัญญู รู้บุญคุณ แม้กระทั่งต้นไม้ ดิน น้ำ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่มีบุญคุณต่อพี่น้องชาติพันธุ์ เมื่ออยู่กับป่าก็ต้องดูแลรักษาป่า เพราะวิถีชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติ เราได้รับการเกื้อกูลจากป่า คนต้องอยู่กับป่า ไม่สามารถแยกจากกันได้

“จริงอยู่ที่เราทำงานในพื้นที่พี่น้องชาติพันธุ์เป็นหลัก อยากให้พี่น้องชาติพันธุ์อาศัยอยู่ได้ในชุมชน ท่ามกลางประเพณีที่งดงาม ที่เอื้อต่อความมั่นคงชีวิต มีความมั่นคงทางอาหาร มีปริมาณอาหารที่ปลอดภัย หลากหลาย มีคุณภาพ และชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มากกว่านั้นคือทุกคนมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เป้าหมายของเราจึงไม่ใช่เฉพาะพี่น้องชาติพันธุ์เพียงเท่านั้น”

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.