จันทร์จิดา งามอุไรรัตน์ อดีตผู้ประสบภัยจากอาหาร สู่การชักชวนให้ผู้คนหันมากินดี ด้วย โครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม
‘ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ’ คำแปลเป็นไทยของ ‘อโรคยา ปรมาลาภา’ ภาษิตที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ยุคสมัยยังคงเป็นคำเปรียบเปรยที่นำมาเป็นหลักคิดได้ดีและมีความทันสมัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งนับเป็นยุคทองของเรื่องสุขภาพ ที่หลายคนหันมาห่วงใยให้ความสำคัญกันมากขึ้น ซึ่งต้นสายปลายเหตุของการเกิดโรคทั้งหลาย หากพิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้วล้วนมีความเกี่ยวพันกับ ‘อาหาร’ ทั้งสิ้น
เพราะอาหารคือ 1 ในปัจจัย 4 ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต หากเลือกรับประทานให้ดี อาหารก็เปรียบเหมือนยารักษาโรคชั้นดีที่ไม่ต้องพึ่งพาหมอที่ไหน แต่ถ้ารับประทานไม่ดี อาหารก็ไม่ต่างจากยาพิษที่เป็นต้นตอแห่งปัญหาของการเกิดโรคทั้งหลาย เช่นเดียวกับ ตุ๊ก-จันทร์จิดา งามอุไรรัตน์ ผู้ริเริ่มโครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม อดีตผู้ประสบภัยจากอาหาร ที่ใช้อาหารเป็นยารักษาโรคมากว่า 20 ปี
“ช่วงอายุราวๆ 25-30 ปี เป็นช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่กับความเจ็บป่วยจากโรคมากมาย ทั้งท้องผูก ไมเกรน กรดไหลย้อน ไปไหนมาไหนจะต้องมีกระเป๋ายาแยกเฉพาะพกติดตัวด้วยตลอด แต่กลับไม่คิดว่าตัวเองป่วย ท้องผูกจนนั่งไม่ได้เพราะแน่นท้อง ไม่ถ่ายเป็นอาทิตย์ ก็แค่กินยาถ่าย ปวดหัวไมเกรน ตื่นมาไม่เคยรู้สึกว่าหัวโล่งสบายเลย ก็กินยา เป็นกรดไหลย้อนถึงขั้นไม่มีเสียงพูด จนลูกค้ากลัวจะเป็นมะเร็งเลยบอกให้ไปหาหมอ รักษาอยู่หลายปีทำยังไงก็ไม่หาย
“กระทั่งวันหนึ่งได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติบำบัด เขาบอกว่าให้อดอาหาร 2 วัน ตอนนั้นไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรดลใจให้คิดอยากลองทำตามหนังสือขึ้นมา ทำแบบไม่ได้มีความคาดหวังใดๆ แต่ผลปรากฏว่าเสมหะที่เคยมีอยู่ในคอตลอดเวลาหายไป เลยจุดประกายให้เริ่มสนใจเรื่องสุขภาพขึ้นมา”
จันทร์จิดาย้อนความกลับไปในอดีต เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการหันมาสนใจเรื่องอาหารสุขภาพ โดยแรกเริ่มเดิมที เธอยังคงมีความเข้าใจเรื่องอาหารสุขภาพเหมือนคนทั่วไป คือการงดเนื้อสัตว์ เลือกกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ปลอม กินวิตามินเสริม ซึ่งยังไม่ใช่การกินอาหารที่ถูกต้องเท่าไรนัก กระทั่งคุณแม่ของเธอมีอาการเส้นเลือดในสมองตีบ เพื่อนในกลุ่มสายสุขภาพจึงแนะนำให้เข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรมของหมอเขียว (ดร.ใจเพชร กล้าจน)
“สิ่งที่หมอเขียวให้ปรับเป็นอย่างแรกคืออาหาร งดเนื้อสัตว์ กินอาหารแบบไม่ปรุงรส ใส่เกลือได้เล็กน้อย ทำดีท็อกซ์ ถือว่าเป็นคอร์สที่ค่อนข้างจะฮาร์ดคอร์มากทีเดียว แต่ผลลัพธ์คือ จากที่แม่ต้องใส่แพมเพิร์ส ใช้ไม้เท้าเดิน อยู่ค่ายวันที่สาม เขาสามารถเดินได้เอง หลังจากนั้นไม่ต้องกินยาอีกเลยนานหลายปี
“ในส่วนของตัวเราเอง หลังจากปรับพฤติกรรมเรื่องอาหารประมาณสามปี ก็ไม่ต้องพกกระเป๋ายาประจำตัวอีก อาการต่างๆ ที่เคยเป็นหายหมด ซึ่งทำให้เราเชื่อมากว่า อาหารคือต้นตอของความเจ็บป่วยทุกสิ่งทุกอย่าง”
เมื่อถามว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารอย่างที่เล่ามานั้นยากแค่ไหน ผู้ที่ได้ค้นพบชีวิตใหม่จากการเปลี่ยนตัวเองตอบเราแบบทันใจว่า ต้องมีเพื่อน
ความที่คุณแม่ป่วย ทำให้จันทร์จิดาต้องรับประทานอาหารแบบเดียวกันกับคุณแม่ ประกอบกับมีกลุ่มเพื่อนสายสุขภาพที่มีความเข้าใจเดียวกัน จากที่น่าจะยาก จึงไม่ยากเกินไป และเธอเองก็ไม่ได้คร่ำเคร่งจนถึงกับงดหรืออดทุกอย่างจนไม่มีความสุขกับการรับประทาน แต่สิ่งสำคัญมากคือการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักและผลไม้ ซึ่งเธอได้พบความอัศจรรย์ด้วยตัวเอง จนเริ่มคิดอยากส่งต่อเรื่องราวดีๆ นี้ให้ผู้อื่นบ้าง และแล้วหลังจากนั้น โครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม จึงเกิดขึ้น
“เมื่อเราเปลี่ยนได้ คนอื่นต้องเปลี่ยนได้ ด้วยความเชื่อนี้ และเราเองมีความสนใจเรื่องผัก จึงลุกขึ้นมาเขียนโครงการส่งเสริมให้คนกินผักเสนอ สสส. เลือกใช้ชื่อโครงการตามสิ่งที่อยากนำเสนอตรงๆ เลย องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าควรกินผักอย่างน้อยวันละ 400 กรัม เราก็ใช้ชื่อว่าโครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม ให้คนจำให้ขึ้นใจ
“โครงการเราเริ่มต้นตั้งเป้าไปที่กลุ่มคนวัยทำงานในเมือง โดยที่เราเข้าไปจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งตามที่พักอาศัยอย่างคอนโดมิเนียม และสำนักงาน บริษัทต่างๆ เรามีทั้งหมอ นักโภชนาการ รวมถึงคนที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมและเกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ มาร่วมพูดคุย นอกจากนั้นยังมีการให้ความรู้เรื่องอาหารปลอดภัย มีการตรวจสารเคมีในเลือด มีตลาดนัด สอนให้รู้ว่าการกินผักผลไม้ 400 กรัมนั้นต้องแค่ไหน
“เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่ได้รับผลตอบรับดี ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง เคยมีคนเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเขาเป็นความดันหรือไขมันสูงนี่ล่ะ เราก็จำไม่ได้แม่นนัก แต่เขามีอาการไม่มีเสียงพูดเหมือนเราเลย ด้วยความที่เขาไม่อยากกินยา แล้วเห็นป้ายกิจกรรมของเราพอดี เลยลองมาฟังและปฏิบัติตาม
“จนมาเจอกันอีกครั้งในค่ายบุคคลต้นแบบ เขามาร้องเพลง พอเจอเราเขาก็ถามว่าจำเขาได้มั้ยวันนั้นที่ไม่มีเสียงพูด แต่วันนี้เขาหายแล้ว เขาเล่าให้ฟังด้วยว่าช่วงที่อาการดีขึ้น เขาอยากพิสูจน์ว่าอาหารมีผลกับสิ่งที่เขาเป็นจริงหรือไม่ เลยกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม กินอาหารแบบเดิม ปรากฏว่าอาการกลับมากำเริบ เขาก็เลยเชื่อหมดใจเลยว่าอาหารมีผลต่อสุขภาพร่างกายจริงๆ”
จันทร์จิดาเล่าถึงโครงการผักผลไม้ดี 400 กรัม และบางส่วนของความประทับใจที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ที่ทำมาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว เธอบอกว่าการได้เห็นคนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้เธอมีความสุข นอกจากนั้นโครงการนี้ยังฝึกทักษะการทำงานให้รู้จักทำงานอย่างมีเป้าหมาย ทั้งที่แต่เดิมนั้นเธอไม่ใช่คนแบบนี้เลย
“เมื่อก่อนเป้าของเราคือการทำยอด เรามาจากสายงานการตลาด ในหัวจะมีแต่เรื่องของตัวเลข ไม่สนใจใคร แต่เมื่อได้มาทำโครงการนี้ มันเปลี่ยนให้เรากลายเป็นคนเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น นอกจากตัวเรามีความสุข เพื่อนร่วมงานทุกคนมีความสุข เพราะทุกคนเข้ามาร่วมทำงานแบบจิตอาสา
“จริงๆ ต้องบอกว่าจุดเปลี่ยนในชีวิตเราเริ่มต้นจากการปฏิบัติธรรม ซึ่งทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีสติ รวมถึงกินอาหารอย่างมีสติด้วย และการที่สามารถทำให้โครงการนี้สำเร็จได้ หัวใจสำคัญคือ การจะบอกใครให้ทำอะไร เราต้องทำให้ได้ก่อน ถ้าบอกให้เขาทำทั้งที่ตัวเองยังทำไม่ได้ แล้วใครเขาจะเชื่อ”
ทั้งชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ทำให้จันทร์จิดาได้มีโอกาสช่วยให้ผู้อื่นมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และทำให้เธอมีความสุขกับปัจจุบันในวัย 50 ปีของเธออย่างดี แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็ยังมีความคาดหวังให้คนไทยเลือกรับประทานอาหารเป็น ไม่ตกเป็นทาสการตลาด
“แค่เพียงเราทุกคนตระหนักรู้ให้ได้ว่าอะไรควรกิน นั่นก็คือการกินอาหารให้ครบตามหลักอาหาร 5 หมู่อย่างที่เรียนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก กินผักผลไม้ให้หลากหลาย ถูกต้องตรงตามฤดูกาล ถามว่ากินผัก 400 กรัมต้องกินแค่ไหน ไม่ยากเลย แต่ละมื้ออาหารลองดูว่าในจานของเรามีผักครึ่งหนึ่งแล้วหรือยังเท่านั้นพอ และควรกินอาหารจากธรรมชาติ ไม่ต้องปรุงรสมากมาย ฝึกลิ้นให้ชิน แล้วจะรู้ว่าปรุงน้อยก็อร่อยได้ นอกจากอาหารแล้วยังต้องหมั่นออกกำลังกาย ทำจิตใจให้ดี ต่อให้กินดีแค่ไหน ถ้าใจป่วยก็ไม่โอเค
“บ้านไหนที่มีคนป่วย บ้านนั้นจะมีแต่ความทุกข์ เพราะคนป่วยหนึ่งคน สร้างผลกระทบไปหมดทั้งครอบครัว อยากให้ทุกคนคิดว่าการดูแลสุขภาพเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ อย่าคิดว่าเมื่อฉันไม่สบายหน้าที่ของหมอคือต้องรักษาฉัน”
ในฐานะคนที่ผ่านความเจ็บป่วยทั้งด้วยตัวเองและคนในครอบครัว มาจนถึงวันที่มีสุขภาพดีทั้งทางกายและใจจนไม่รู้สึกว่าต้องการสิ่งใดอีกแล้วในชีวิต จันทร์จิดาปิดท้ายการสนทนาไว้ว่า
“สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเราอย่างแท้จริง คือการมีสุขภาพที่ดี การไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐอย่างแท้จริง ไม่ว่าเราจะมีเงินทองมากมายเพียงใด แต่ถ้าเราจะต้องใช้เงินไปกับการรักษาตัว มันก็ไม่ใช่ความสุขอย่างแท้จริง”