คนึงนุช วงศ์เย็น เกษตรกรนักสื่อสาร ที่สร้างใยแมงมุมระหว่างคนปลูก-คนกิน
หากจะพูดถึงตลาดนัดสีเขียวแถบจังหวัดของอีสาน กลุ่มผู้บริโภคอาหารปลอดภัยคงนึกถึง ‘ตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจ’ ที่ห้างสรรพสินค้าสุนีย์ทาวเวอร์ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอันดับต้นๆ
ตลาดแห่งนี้เกิดจากการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งของเกษตรกรอินทรีย์ โดยมีภาคเอกชนสนับสนุน พลังนี้ยังขยายไปสู่ท้องถิ่น เกิดตลาดสีเขียวต่างอำเภออีกมากมาย รวมถึง ‘ตู้ผักกินสบายใจ’ และ ‘กินสบายใจช็อป’ แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากอดีตนักบัญชีคนหนึ่ง
“แววตาของเขาทำไมเขามีความสุขจัง เถียงนาหลังเล็กๆ มีวัว 2-3 ตัว กับคู่ชีวิตสูงวัยที่อยู่ด้วยกัน ฐานะก็ไม่ดีมาก แต่เขามีความภูมิใจในอาชีพของเขา คือ อาชีพชาวนา” ประโยคแรกของบทสัมภาษณ์นี้เริ่มต้นด้วยเล่าถึงการลงพื้นที่ครั้งหนึ่งที่ยโสธร ซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันการทำงานสื่อสารประเด็นความมั่นคงทางอาหารให้กับ นุช-คนึงนุช วงศ์เย็น ผู้จัดการมูลนิธิสื่อสร้างสุข
ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นุชสลัดภาพจากเจ้าหน้าที่การเงิน ประจำโครงการสื่อสร้างสุข มูลนิธิประชาสังคม โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนัก 5 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก่อนจะแยกตัวจัดตั้งเป็นมูลนิธิสื่อสร้างสุข ในปี 2556 ทำให้เธอกลายเป็นเกษตรกรนักสื่อสารอย่างเต็มตัว นุชเรียนรู้ว่าการบริโภคที่ยั่งยืนจะเกิดได้ไม่ใช่แค่ส่งเสริมเกษตรกรอินทรีย์ แต่คนกินก็ต้องช่วยโลกไปพร้อมๆ กัน
จะเปลี่ยนเขาต้องเริ่มที่ตัวเอง
นุชเริ่มงานสื่อสารด้วยการถอดเทปทำวารสารข่าว ซึ่งทำให้เห็นปัญหาการทำเกษตรที่สืบทอดต่อกันมา คือขาดองค์ความรู้ด้านอื่นๆ เช่น การหาตลาดหรือเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วย เป็นจุดเปลี่ยนให้เธอหันกลับมามองสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ในตัวมาตลอด นั่นคือการเป็น ‘ลูกชาวนา’ วันหนึ่งเธอเข้าไปคุยกับแม่ว่าขอใช้แปลงนาทดลองทำเกษตรอินทรีย์ เริ่มจากการเปลี่ยนการปลูกข้าวพันธุ์ทั่วไป หันมาปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง 5 สายพันธุ์ ซึ่งขอมาจากบ้านนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี ควบคู่กับลงมือเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักสูตรไม่พลิกกลับกอง จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้
“เรามาส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ แต่พ่อแม่เรายังทำแบบชาวบ้านทั่วไป ถ้าเปลี่ยนพ่อแม่เราไม่ได้ก็เปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ ต้องเปลี่ยนพ่อแม่เราก่อน เปลี่ยนชุมชนเราก่อน ก็ต้องเปลี่ยนที่ตัวเราก่อนนี่ละ เพราะความรู้ที่จะทำให้เราทำงานได้ คือความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ
“แม่เราเป็นคนฉลาดมากเลยนะ รู้จักหญ้าในแปลงนากว่า 20 ชนิด แม่บอกว่ามี 4 ชนิดที่ต้องถอนรากถอนโคน แต่มีชนิดหนึ่งต้องเอาเมล็ดมันไปหว่านให้มันขึ้น เพราะถ้าหญ้าชนิดนี้ขึ้น ชนิดอื่นจะไม่เกิด เวลาไถมันก็จะเป็นปุ๋ยพืชสดไปในตัว ไม่ใช่ว่าภูมิปัญญาแบบเดิมมันไม่ดี มันมีความฉลาดของคนรุ่นเก่าอยู่ แต่เราต้องเติมองค์ความรู้ เอาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ มาเติม”
ผืนนาของแม่ในวันนั้น วันนี้แปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ข้าว 6 สายพันธุ์ ไม้ยืนต้นประมาณ 200 ต้น ไก่ 50 ตัว วัว 1 ตัว พื้นที่ปลูกหญ้าไว้เลี้ยงวัว และสระน้ำ 3 สระ สร้างระบบนิเวศในฟาร์ม และบ้านก็ได้กลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเกษตรกรอินทรีย์คนอื่นๆ ด้วย
เชื่อมพลังคนละเล็กละน้อย สร้างเครือข่ายใยแมงมุมเกื้อกูลกัน
การลงพื้นที่เจอเกษตรกร ทำให้นุชพบว่า เรื่องเกษตรอินทรีย์หรือความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างทำ มีคำหลายคำที่นำมาใช้ แต่ยังไม่เข้าใจตรงกันทั้งคำว่า ‘ผักอนามัย’ ‘ปลอดภัย’ ‘ไร้สาร’ ‘ปลอดเคมี’ ‘อินทรีย์’ ‘ออร์แกนิก’ ทุกคนต่างตีความว่าคือผักอินทรีย์ทั้งหมด แต่จริงๆ มันต่างกัน
การสื่อสารจึงสำคัญสำหรับการสร้างความเข้าใจ นุชชวนคนอุบลฯ พูดคุยว่ามันมีคนทำเรื่องความมั่นคงทางอาหารมากน้อยแค่ไหน เอาความรู้ของแต่ละคนมารวมกัน แล้วเอาสื่อเป็นตัวประสานทุกภาคส่วนให้มาเจอกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและขับเคลื่อนเรื่องความมั่นคงทางอาหาร
“พอมาเจอคนในพื้นที่ เราก็จัดทัวร์สวนเกษตรกรออกรายการทีวี รายการกินสบาย เชิญภาคีทั้งคนปลูก คนกิน หน่วยงานรัฐลงพื้นที่ครั้งแรกเราก็ได้คนมาร่วมกว่า 20 เครือข่าย เราทำสื่อเพื่อหาความร่วมมือในระดับจังหวัด ให้เกิดการเข้ามาร่วมมัดช่อกัน สนับสนุนเรื่องความมั่นคงทางอาหาร พอแต่ละภาคส่วนเห็นความสำคัญ เขาก็จะช่วยในสิ่งที่ตัวเองช่วยได้ แต่เราต้องทำให้ตัวเองเข้มแข็งก่อน มันก็เกิดการกำหนดมาตรฐานกลุ่ม PGS กินสบายใจก็ถูกพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ.2560”
นุชอธิบายว่าทุกคนเป็นผู้บริโภคอยู่แล้ว คุณสามารถใช้พลังของตัวเองด้วยการซื้อผัก เปลี่ยนที่จ่ายตลาด เปลี่ยนการจัดการขยะ เปลี่ยนคนละเล็กละน้อย ทำงานส่วนไหนก็เปลี่ยนส่วนนั้นใช้พลังที่ตัวเองมี มันก็จะเป็นใยแมงมุมจุดเชื่อมต่อกัน
แต่การทำเกษตรอินทรีย์เป็นเพียงการผลิต ระบบอาหารที่ยั่งยืนมันคือปลายทาง ระบบไม่ใช่คนใดคนหนึ่งจะทำให้เกิดขึ้นได้ การทำเกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืน ต้องมองถึงการสร้างระบบการบริโภคที่สมบูรณ์ วันนี้สิ่งที่ต้องสู้คือความแปรปรวนของสภาพอากาศ และผู้บริโภคมีส่วนช่วยโลกได้เหมือนกัน
ซื้อเรา=เซฟโลก คือเป้าหมายที่ยั่งยืน
วันนี้เราเห็นเกษตรกรอินทรีย์เกิดขึ้นมากมาย โควิด-19 ยิ่งทำให้เราเห็นเกษตรกรคนรุ่นใหม่กลับไปยังบ้านเกิดซึ่งหลายคนเป็นลูกหลานชาวนา มีต้นทุนการเกษตรอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดเกษตรกรอินทรีย์แล้วไม่มีคนกินคนซื้อ ก็คงคิดว่าจะทำไปทำไม
“ต้องให้ผู้บริโภครู้ตัวว่าเขาเป็นพลังที่ใหญ่มาก มันทำให้เกษตรคนหนึ่งมีกำลังใจ มีแรงที่จะทำงานกลุ่ม ชวนเพื่อนมาทำต่อ อย่างน้อยมันเพิ่มจำนวนเกษตรกรอินทรีย์ ถ้าทำเกษตรอินทรีย์แล้วขายไม่ได้จะทำไปทำไม ดีแค่ไหนก็อยู่ลำบาก ต้องเติมมิติอื่นให้เกษตรกรด้วย ถ้าเราไม่ชวนเขาคิดเรื่องความยั่งยืน ความหลากหลาย ภาวะโลกร้อน มุ่งแต่จะทำเพื่อขายอย่างเดียว มันก็ทำร้ายโลกได้เหมือนกัน ผลิตเยอะๆ เร่งขาย ไม่พักดิน เกิดโรคแมลงก็ฉีดสารชีวพันธุ์
“ข้อจำกัดของเกษตรอินทรีย์อยู่ที่ผู้บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่ชอบความสะดวกและไม่อยากปรับเปลี่ยนตัวเอง อยากกินอะไรที่อร่อยและราคาถูก งานเปลี่ยนผู้บริโภคเป็นงานที่ยากมาก ตอนนี้เปลี่ยนเกษตรกร แต่ถ้าผู้บริโภคไม่เปลี่ยนตัวเอง เอาแต่ความสะดวกของตัวเองเป็นตัวตั้ง เกษตรกรคงไม่สามารถเป็นร้านสะดวกซื้อได้ ตอนนี้งานของเราคือทำให้เขาเปลี่ยนตัวเองและคนรอบข้าง แล้วมาสนับสนุนคนปลูก
“ปีนี้เราจะสร้างเกษตรกรนักสื่อสารให้ลุกขึ้นมาทำสื่ออย่างเป็นระบบ เป้าหมายเดียวกันคือ ‘ซื้อเราเซฟโลก’ สร้างพลังผู้บริโภคให้เปลี่ยนวิถีของตัวเองเพื่อสนับสนุนเกษตรกร และสังคมระหว่างคนกินคนกลุ่มที่เข้าใจและเกื้อกูลกัน”
นุชทำให้เห็นว่า สื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อนี้ ให้ทุกคนเห็นพลังของตัวเองด้วยความเชื่อว่าทุกคนอยากเปลี่ยน แค่รอวันหนึ่งที่คุณพร้อม แล้วคุณล่ะพร้อมจะเปลี่ยนหรือยัง
“ถ้าคุณคลิกนะ โลกเปลี่ยนเลย”