ผศ.ดร. ธัญศิภรณ์ ณ น่าน วิศวกรสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตบัณฑิต ‘นักสร้างสมดุล’ ด้วยเกษตรอินทรีย์
มีคนบอกว่าความสุขในวัยเด็กนั้นแสนเรียบง่าย และใครจะคิดว่าความสุขเพียงอยากได้ให้เห็นแววตาวิ้งๆ ของพ่อและแม่ที่ลูกได้รับในวัยเด็ก จะกลายเป็นพื้นฐานความคิดแบบง่ายๆ แต่สามารถตีโจทย์แก้ปัญหากับเรื่องใหญ่ได้
เรากำลังเล่าเรื่องราวของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งซึ่งเกิดและเติบโตในจังหวัดน่าน ที่เหมือนฟ้าจัดสรรให้ชีวิตต้องกลับมาฟื้นแผ่นดินเกิด ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์ ณ น่าน อาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่นักศึกษาเรียกว่า ‘อาจารย์ติ๊ก’
การเดินป่าสำรวจธรรมชาติกับกิจกรรมโรงเรียน หล่อหลอมให้รักธรรมชาติ รักสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนั้นเธอยังไม่ค่อยเข้าใจคำว่าสิ่งแวดล้อมสักเท่าไรนัก
“สิ่งแวดล้อมที่เข้าใจตอนเด็กๆ คือ ป่า ต้นน้ำ ต้นไม้ เราแค่อยากให้ชีวิตมีคุณค่า เลยเลือกเรียนวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เพราะใกล้เคียงกับสิ่งแวดล้อม พอเรียนก็แปลกใจเหมือนกัน ไม่ได้เรียนป่าเขาลำเนาไพรธรรมชาติ แต่เรียนลงลึกเรื่องการใช้เทคโนโลยี เพื่อการจัดการกับทุกอย่างที่เป็นของเสีย”
การเรียนในระดับปริญญาตรี โท เอก ลงลึกขึ้นตามระดับ หล่อหลอมความคิดให้เชื่อว่า มนุษย์สามารถรับมือและแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างที่เสียไปแล้วบนโลกนี้ได้ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี
“คนเราเก่งที่จะคิดไปเรื่อยๆ เพื่อทดแทนอะไรบางอย่างที่ขาดหายไป เก่งที่เลือกใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด และใช้ประโยชน์ได้ แต่ลืมคิดถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น อาจเป็นเพราะมนุษย์ไม่รู้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในตอนนั้น แต่เท่านั้นยังไม่พอ”
บทบาทวิศวกรสิ่งแวดล้อมกับระบบเกษตร
อาจารย์ติ๊กเล่าถึงวันที่เข้ามาเป็นอาจารย์สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ จุดเปลี่ยนต่อมุมมองงานด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จากความสงสัยว่า ทำไมคณะเกษตรต้องการบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อม? มีของเสียด้านการเกษตรหรือเปล่าถึงต้องจัดการปัญหาเหล่านี้ และน่าจะเป็นงานเกี่ยวกับการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านเกษตรกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกระแสที่คนพูดถึง
เมื่อได้ลงมือทำ ความสงสัยก็ค่อยๆ คลี่คลายและได้คำตอบว่า ห้องทำงานของเกษตรกรคือดิน น้ำ อากาศ ทุกโครงการทุกกิจกรรมเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นวิศวกรสิ่งแวดล้อมนี่ล่ะ คือ ‘ตัวจริง’ ที่ต้องเข้าไปอยู่ในภาคการเกษตรซึ่งถือเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของประเทศ ขณะที่วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่ได้เรียนพูดถึงการจัดการของเสียเฉพาะในโรงงาน บ้านเรือน แต่กลับพูดถึงภาคการเกษตรน้อยมาก
“การทำเกษตรทั่วไปใช้สารเคมี เผาพื้นที่ รุกป่า ล้วนแล้วทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่เกษตรอินทรีย์ไม่ทำกิจกรรมที่กระทบในทุกมิติสิ่งแวดล้อม เป็นหลักคิดที่มีเสน่ห์ ง่ายและลุ่มลึกมาก เราถูกหล่อหลอมให้จัดการที่ปลายทางเสมอ เราคิดนวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อตั้งรับและรับมือ ปัญหามันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ คิดแก้กันหัวแตก
“แต่หลักคิดของเกษตรอินทรีย์มันย้อนกลับทุกอย่าง วิวัฒนาการทำให้ปัญหาหนักหน่วงขึ้น นี่คือการจัดการที่ปลายทาง แต่เกษตรอินทรีย์แก้ที่ต้นทาง”
ใช้เกษตรอินทรีย์แก้โจทย์
รถ 6 ล้อที่จอดหน้าคณะเกษตร ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน เป็นพาหนะของนักศึกษาปี 2 สำหรับลงพื้นที่ การเป็นอาจารย์และเป็นคนน่านถือเป็นแต้มต่อให้กับการเรียนการสอนที่นี่
“การฝังตัวที่น่านทำให้เรารู้บริบท ที่สำคัญเรารู้วิถีชีวิต รู้จักคนน่านในฐานะคนน่าน เกิดเป็นการวางใจ ทุกๆ คนในท้องถิ่นไม่ได้จำแค่เรา แต่จำได้ถึงพ่อแม่ เจอหน้ากัน สวัสดีค่ะ คนกันเอง พูดอะไรแล้วคนเอ็นดู ประกอบกับคุณพ่อเป็นนักการเมืองที่จังหวัดน่าน เราได้เห็นวิธีการชวนชาวบ้านมาประชุม เป็นโอกาสให้ได้พูดเรื่องสิ่งแวดล้อม
“ถ้าไม่ใช่จังหวัดน่าน มันไม่ง่ายที่จะเห็นบริบท เข้าอกเข้าใจ เห็นถึงปัญหา และคนจะรู้สึกอุ่นใจจากการที่เราเป็นคนน่าน อ๋อ ลูกคนนั้น หลานคนนี้ เราพูดคนก็จะฟังเรา และได้รับการยอมรับจากพื้นที่ เพราะงานที่กำลังทำพูดถึงเรื่องการปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิถีการปฏิบัติของคน แม้แต่ผู้ช่วยงานวิจัยเราก็รับคนน่านเข้ามาทำด้วย นี่คือกลยุทธ์ที่เราเห็นในวันที่ตัวเองเข้ามา เพราะงานที่กำลังทำพูดถึงเรื่องการปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิถีการปฏิบัติของคน”
อาจารย์ติ๊กเข้ามาเป็นอาจารย์เมื่อปี 2553 และพบกับโจทย์ ‘ชาวนากำลังทิ้งนา’ ต่อเนื่องด้วยโจทย์งานวิจัย ‘ประเทศไทยไร้ฝุ่นควัน’ ในปี 2557 ที่เธอใช้คำว่า “โดนตกไม่รู้ตัว” แน่นอนว่าอาจารย์ติ๊กใช้กลไกของเกษตรอินทรีย์เข้ามาแก้โจทย์ทั้งสอง
“ติ๊กเป็นอาจารย์คนหนึ่งที่คณะเกษตร เวลาพูดถึงป่า ปัญหาการรุกป่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นเราที่เข้าไปดูแล ทั้งเรื่องงานวิจัย รวมถึงวิชาที่เข้าไปสอน ทั้งวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อมการเกษตรและพลังงานทางเลือก แทรกเรื่องเกษตรอินทรีย์ และได้รับการยอมรับโดยดุษณีด้วยเหตุและผลในสิ่งที่เกิดขึ้น
“เราทำให้นักศึกษาเห็นว่า เกษตรอินทรีย์สามารถสร้างมูลค่าได้ และตระหนักถึงผลกระทบ เป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ เกษตรเพิ่มมูลค่าไม่ใช่แค่มูลค่าเงิน แต่เป็นมูลค่าด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม”
วิชาเกษตรอินทรีย์เป็นวิชาหลักที่นักศึกษาต้องเรียน คือมิชชั่นหลักของคณะที่หวังผลิตบัณฑิตหนึ่งตำบล กระจายแนวคิดเกษตรอินทรีย์ไปทุกตำบล เมื่อก่อนนักศึกษารุ่น 1-7 ต้องมีคุณสมบัติเป็นลูกหลานเกษตรกร เพื่อที่จะกลับไปช่วยครอบครัวและช่วยคนในชุมชนปีละ 70-80 คน แล้วก็คืนบัณฑิตให้กับตำบล
“ปัจจัยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน นักศึกษาบางคนอยากกลับไปทำนาที่บ้าน แต่ด้วยต้นทุนพื้นที่ การเงิน และพ่อแม่ที่เป็นเกษตรกรเองก็คิดว่าอย่าทำเลย เด็กหลายคนใช้กลยุทธ์เข้าไปอยู่ในองค์กร และเก็บเงินส่งไปบ้าน เพื่อให้พ่อแม่ปรับวิถี ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัว ด้วยข้อจำกัดของการกลับบ้าน 20 เปอร์เซ็นต์ เราถือว่าเยอะมากแล้ว เขาไปช่วยครอบครัว ช่วยพื้นที่ใกล้เคียง อีก 80 เปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่จะเข้าไปอยู่ในระบบ CSR ของบริษัท ซึ่งเขาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนภาคองค์กร”
อาจารย์ติ๊กเชื่อในพลังกายและความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่แล้วในคนรุ่นใหม่ แต่ทัศนคติสำคัญมาก ลูกหลานเกษตรกรนอกจากจะไม่เห็นรายได้จากคนรุ่นพ่อแม่ทำแล้ว ภาพซ้ำคือปัญหาซ้ำซากของความยากจน เกษตรอินทรีย์สร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจชุมชน และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างต้องทำบนความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักร่วม เกษตรกรไม่สามารถทำเกษตรบนความไม่รู้ได้ พอตระหนักจึงไปต่อได้ง่าย รวมถึงนักศึกษาถ้าตระหนักร่วมก็เป็นหนึ่งกำลังที่จะสร้างโครงข่ายการเรียนรู้นี้ได้
ทรัพยากรคือสิ่งที่สร้างมูลค่า แต่วันหนึ่งมันต้องหมดไป ‘ความสมดุล’ เป็นสิ่งสำคัญของการจัดการในกระบวนการผลิตและการใช้ ซึ่งต้องอาศัยความคิดลุ่มลึกพอสมควร ว่าคุ้มค่ากับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ มีวิธีการจัดการกับมันอย่างไร และคุ้มไหมที่จะจัดการ เพราะผลกระทบทุกวันนี้บางอย่างมันประเมินค่าไม่ได้เลย
‘วิศวะสิ่งแวดล้อม คือนักสร้างสมดุล’ เป็นคีย์เวิร์ดที่ตกผลึกจากการคุยกับอาจารย์ติ๊กในครั้งนี้