คุยกับ ‘ครูอุษา’ แห่งสวนผักดาดฟ้า บ้านรังษี “มากกว่าอาหารดี ตลาดเขียวให้สังคมที่ดี”
ในวันที่ ‘ตลาดเขียว’ กลับมาแล้วอย่างเต็มตัว สวนผักดาดฟ้า บ้านรังษี ของกัญญ์ณัทพัชร บุณยะโหตระ หรือ ‘ครูอุษา’ ผู้สร้างความมั่นคงทางอาหารบนดาดฟ้าอาคารพาณิชย์ย่านห้วยขวางตั้งแต่แรกเริ่ม และยืนยาวมาสู่ปีที่ 9 ก็กลับมาพร้อมผลผลิตอินทรีย์ดีๆ สู่มือผู้บริโภคสีเขียวเต็มที่แล้วเช่นกัน
นอกจากปลูกผักสวนครัวในกระถางแล้ว ครูอุษายังเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปที่มาจากวัตถุดิบในสวน ซึ่งอาศัยเพียงพื้นที่เล็กๆ แต่หลากหลาย ทั้งเต้าหู้ เทมเป้ นมถั่ว 5 สี กิมจิ ซอสมะเขือเทศ ฯลฯ เธอนำสินค้าเหล่านี้มาจำหน่ายที่ตลาดเขียว โดยมีแฟนคลับผู้รักสุขภาพแวะเวียนมาอุดหนุน
ในวันที่เราได้พบครูอุษา เธอกำลังง่วนกับการปรุงสปาเกตตีอยู่ที่ตลาด Greenery Market ณ Park@Siam บริเวณสวนข้างศูนย์หนังสือจุฬาฯ สยามสแควร์ เลยชวนพูดคุยและถามไถ่ถึงชีวิตความเป็นไปในตลาดเขียวที่เธอผูกพัน
ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของครูอุษาวางเรียงรายอยู่หลายอย่าง ทุกผลิตภัณฑ์เกิดจากความเอาใจใส่ของเจ้าของสวน ซึ่งทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นจากความไม่ตั้งใจ อย่างที่ครูอุษาบอกกับเราว่า “เริ่มแรกไม่ได้ตั้งใจจะขายอาหาร เราเป็นสายสวน ปลูกผัก และขายต้นไม้มาเกือบสิบปี ไม่ได้จะขายของแปรรูป ต้นไม้ที่ปลูกเราเน้นผักสวนครัว เพราะเรามีแค่พื้นที่เล็กๆ ที่มีแต่ปูน จึงไม่มีผักขนาดต้นโตๆ เรากินอะไรเราก็ทำออกมาขายอย่างนั้น
“ส่วนใหญ่สิ่งที่ขายคือสิ่งที่ครูกินในชีวิตประจำวัน เมื่อปลูกได้ผลผลิตมาก จึงนำมาแปรรูป ดังนั้นวัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากการปลูกเอง ยกตัวอย่างกิมจิ ก็ต้องปลูกไชเท้า ต้นหอม ขิง ผักกาดขาว เราพยายามปลูกเองทุกอย่าง ช่วงแรกขายเฉพาะการแปรรูปขั้นที่หนึ่ง อย่างเต้าหู้ เทมเป้ กิมจิ พอมาวันหนึ่งลูกค้าถามว่า ซื้อแล้วเอาไปทำอะไรกินดี ก็เลยเอาของแปรรูปมาทำอาหารพร้อมรับประทาน เป็นสองเมนูที่เริ่มเป็นที่รู้จักและชื่นชอบ คือข้าวผัดกิมจิ และสปาเกตตีเทมเป้”
ครูอุษา บอกว่าอาหารที่นำมาปรุงขายมีราคาไม่แพงเพราะปลูกเอง จึงลดต้นทุนได้มาก แต่สิ่งสำคัญที่สุดของอาหารก็คือความ อร่อยและดีต่อสุขภาพ ในรสชาติที่หลายคนติดใจนั้น ผ่านการปรุงเพียงแค่เกลือพริกไทย หรือหากจะมีซอสปรุงรสก็เป็นซอสที่เธอทำเอง
“ครูไม่ได้มีฝีมือทำอาหารนัก แต่อาหารอร่อยเพราะเรามีวัตถุดิบที่ดีมาก วัตถุดิบที่ดีเป็นพื้นฐานทำให้อาหารอร่อย สำคัญกว่านั้นคือเรื่องราคา สปาเกตตีที่ขายกันในท้องตลาดหรือห้างสรรพสินค้า ราคาอยู่ที่ 90-120 บาท แต่ครูสามารถขายได้ในราคา 60 บาท ทำให้แม้แต่คนที่มีรายได้น้อยก็สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้ เขามาซื้อได้ และแน่นอนว่าอาหารของเรามาจากวัตถุดิบตั้งต้นที่เราผลิตเอง”
เมื่อว่างจากการหยิบจับขายของ เราชวนครูอุษามานั่งคุยอีกรอบ ถึงมุมมองเกี่ยวกับตลาดเขียวที่เธอได้คลุกคลีมานาน ในฐานะคนค้าขายที่ปลูกพืชผักอินทรีย์ เธอบอกกับเราได้ในทันทีว่า “การได้มาตลาดเขียวคือความสนุก และมีความสุขทุกครั้งที่มาขายของ เราได้เจอ ได้พูดคุยกับคนรักสุขภาพ ได้แนะนำเขาว่าควรต้องกินแบบนี้ อย่างนี้ หรือเป็นโรคนี้กินอะไรยังไงได้บ้าง เป็นการได้เจอสังคมที่เขากับเราพูดภาษาเดียวกัน คุยกันเข้าใจ
“ถ้าขายในตลาดทั่วไปเราขายไม่ได้เลย เพราะคนซื้อเขาไม่สนใจสุขภาพ มาเจอเต้าหู้ราคา 50 บาท เตลิดเปิดเปิงไปเลยนะ เขาไม่เข้าใจทำไมราคาสูง ซึ่งเราไม่ได้ขายของแพง ถั่วอินทรีย์กิโลละเป็นร้อย เราขายถูกแล้ว ไม่ได้มีกำไรมาก แต่เราขายแค่ 8 บาทไม่ได้ ก็ต้องยอมรับว่ามีคนอีกเยอะไม่เข้าใจเรื่องสินค้าอินทรีย์แบบนี้”
สวนผักดาดฟ้า บ้านรังษี by ครูอุษา ขายผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปอินทรีย์ อาหารปรุงสำเร็จ และผักกระถาง ในตลาดเขียวหลายแห่ง เวียนไปทุกเสาร์-อาทิตย์ในแต่ละสัปดาห์ ส่วนวันธรรมดา จันทร์-พฤหัส เธอใช้เวลาอยู่กับสวนเพื่อดูแลพืชผักที่ปลูกไว้ และเตรียมของเพื่อขายในวันศุกร์ โดยตลาดเขียวที่เธอนำผลผลิตไปจำหน่าย มีทั้ง City Farm Market ไทรม้า, g Garden, ตลาดนัดธรรมชาติ (พระราม 9) รวมถึง Greenery Market ที่เราได้พบกับเธอคราวนี้
“ทุกครั้งที่มาตลาดเหมือนเรามาปาร์ตี้ ได้เงินกลับบ้าน ได้อาหารดีๆ ตุนไว้จันทร์ถึงศุกร์ ตลาดเขียวกลายเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิต เราใช้ชีวิตง่ายขึ้น เมื่อก่อนครูทำแชมพู สบู่ใช้เอง ผลิตเองหมดเลย พอรู้จักตลาดเขียวชีวิตเราเบาลง ชีวิตครูสมบูรณ์แบบมากขึ้น เหนื่อยน้อยลง
“การใช้ชีวิตแบบพวกเรา คนทั่วไปไม่เข้าใจ เขาจะมองว่าอะไรกันนักกันหนา เยอะไปไหม เมื่อได้มาเจอคนที่เข้าใจกันครูก็ไม่อด และไม่เหงาด้วย เราเจอเพื่อนที่ขายสินค้าอินทรีย์เหมือนกัน เรียนรู้ และรู้จักกัน มีความเชื่อใจ มีกลไกการตรวจสอบ ถ้านำของมาขายที่ตลาดเขียว เรามั่นใจได้ว่าสินค้าของเรามีคุณภาพ เป็นอินทรีย์แท้แน่นอน เป็นสายเขียวเข้ม ทำให้มีคนติดตาม คนที่มาซื้อจะเป็นกลุ่มลูกค้าประจำ และเพราะคนซื้อซ้ำถึงทำให้พวกเราอยู่ได้”
ครูอุษาแสดงความกังวลด้วยว่า ปัจจุบันตลาดเขียวปลอมก็มีมาก ทำให้ตลาดเขียวจริงๆ ได้รับผลกระทบ หากร้านค้าสายป่านไม่ยาวก็ลำบาก เพราะรายได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน การมีลูกค้าประจำเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการสายกรีนเดินต่อได้
คำว่า ‘ตลาดเขียวปลอม’ พาให้เราสงสัยว่าเป็นอย่างไร ครูอุษายกตัวอย่างว่า “ตลาดที่บอกตัวเองว่าเป็นตลาดปลอดภัย แต่สินค้าไม่มีแหล่งที่มา ไม่รู้ว่าคนขายเป็นใคร และหากไม่นำผักมาตรวจจะรู้ได้อย่างไรว่าปลอดภัยจริง เมื่อผู้บริโภคไม่ได้รับรู้ข้อมูล คนที่เพิ่งหันมาสนใจก็แยกไม่ออก เอาผักมาเปรียบเทียบก็แยกไม่ได้ เพราะผักเคมีที่แคระไม่สมบูรณ์ บางทีถูกยกเมฆว่าเป็นผักอินทรีย์ มะละกอบิดเบี้ยวก็บอกว่าเป็นอินทรีย์”
สิ่งที่ตลาดเขียวแตกต่างจากตลาดทั่วไป คือความปลอดภัย ความจริงใจ ครูอุษายกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นว่า หากวันไหนที่มีการจัดตลาดเขียวชนกัน ตลาดนัดธรรมชาติ (พระราม 9) ที่เธอขายอยู่เป็นประจำนั้นสามารถตั้งแผงได้โดยใช้วิธีตั้งกล่อง เขียนราคาสินค้าต่างๆ ติดตั้งป้ายให้สแกน หรือทอนเงินเอง โดยที่เงินได้และสินค้าทุกอย่างที่ขายไปถูกต้องครบถ้วน
“เงินไม่เคยหายสักบาท (ยิ้ม) ลูกค้ามีความซื่อสัตย์ คนขายเองก็ต้องมีความซื่อตรง ตอบแทนให้กับสังคมที่เป็นกัลยาณมิตร การมาตลาดเขียวจึงเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับครอบครัว ไม่ต้องระวังโทรศัพท์ ไม่ต้องกลัวลูกหลานจะได้รับอันตราย นี่เป็นข้อดีของตลาดเขียวเลย ตลาดช่วยสกรีนคนในตลาดมาให้แล้ว”
สิ่งที่ครูอุษาหวัง จึงเป็นสิ่งเดียวกับที่ชาวตลาดเขียวทั้งคนซื้อและคนขายเห็นตรงกัน คือ “อย่าหยุด” ในความหมายที่ว่า ลูกค้าไม่หยุดอุดหนุน ขณะที่ตลาดเขียวก็ต้องไม่หยุดพัฒนา เพื่อให้ตลาดเขียวได้เป็นพื้นที่ที่อยู่คู่กับสินค้าอินทรีย์ปลอดเคมี ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต่อไป