‘สูงวัยอย่างมีความสุขและสุขภาพดี’ ด้วยวิถี 3 อ. 1 ป. สไตล์นิธิวดี บัตรพรรธนะ
แม้จะยังไม่เข้าสู่อายุ 60 ปี แต่ในใจของนิธิวดี บัตรพรรธนะ หรือ ‘หน่อย’ กลับเต็มไปด้วยแผนเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด เพราะชีวิตหลังเกษียณของเธอนั้นเปรียบเหมือนการเริ่มต้นใหม่ที่สดใส
“ชีวิตหลังเกษียณสำหรับดิฉันไม่ได้น่ากลัวเลยค่ะ ตรงกันข้ามเรากลับรู้สึกตื่นเต้นและมีความสุขอย่างมากที่จะเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด เพราะมีหลายสิ่งที่เราอยากลงไปขับเคลื่อนให้เป็นจริงตามที่ฝันไว้”
แรกทีเดียวเธอเข้าไปช่วยงานอาจารย์จงกลณี วิทยารุ่งเรืองศรี (ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.) ในโครงการ ‘เด็กไทยแก้มใส’ จนวันหนึ่ง นิธิวดีมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมกับกระทรวงสาธารณสุข และได้รับฟังข้อมูลของ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ที่เข้าไปดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงในชุมชนต่างๆ
“ตอนนั้นดิฉันรู้สึกว่า บ้านเรามีโครงการเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และคนทำงานเยอะพอสมควร แต่โครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุยังไม่ค่อยเห็นเท่าไร จากข้อมูลของ อสม. พบว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุป่วยติดเตียงถึงปีละกว่าแสนคน โดย อสม.จะเข้าไปดูแลพวกท่านและกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้งเฉลี่ยปีละกว่า 10,000 คนเท่านั้น”
ตัวเลขนี้ จุดประกายให้นักวิเคราะห์นโยบายและแผนของ อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ลุกขึ้นมานำเสนอโครงการ ‘เครือข่ายผู้สูงอายุสุขภาพดี’ ให้กับ สสส. ก่อนจะเริ่มต้นบทบาทเสริมในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ เพื่อดูแลผู้สูงอายุตามชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สร้างสังคมใหม่ในแบบ ‘สูงวัยอย่างมีความสุขและสุขภาพดี’ ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา
“ตอนนั้นคิดแค่ว่า ถ้าเรามัวแต่รอคนเข้าไปดูแลก็อาจจะสายเกินไป เราน่าจะเข้าไปส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุให้แข็งแรงสมวัยไกลโรคจะดีกว่า ดิฉันจึงลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลในชุมชนต่างๆ พบว่า ปัจจัยหลักที่นำไปสู่ภาวะเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มาจากอาหารและขาดการออกกำลังกาย
“เราจึงอยากเข้าไปทำงานกับผู้สูงอายุเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะคิดว่า ฉันแก่แล้ว จะกินอะไร จะทำอะไร ก็ปล่อยให้ฉันทำไปเถอะ ถ้าเขาอยู่กับความคิดแบบนี้ ก็มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ จนถึงขั้นเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้เช่นกัน”
ช่วงแรกที่เริ่มลงพื้นที่ไปพูดคุยกับผู้สูงอายุตามชุมชนต่างๆ เธอจึงต้องรับมือกับมุมมองความคิดของผู้สูงอายุที่ไม่มีแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนวิถีที่คุ้นเคยมาค่อนชีวิต อีกทั้งเธอยังค้นพบอุปสรรคอย่างหนึ่งซึ่งเกิดจากประสบการณ์ และภาพจำเกี่ยวกับหน่วยงานราชการในความรู้สึกของผู้สูงอายุหลายคน
“เราลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุตามชุมชนต่างๆ หรือสถานที่ที่พวกเขารวมกลุ่มกัน เช่น วัด โรงเรียน สวนสาธารณะของหมู่บ้าน ไปทั้งๆ ที่เราไม่รู้จักใครเลยนั่นล่ะ แรกๆ ก็ไม่ค่อยได้รับความเชื่อถือเท่าไร เพราะพวกท่านต่างก็เคยได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับโครงการเพื่อผู้สูงอายุที่ลงพื้นที่มาจัดกิจกรรม แต่ไม่มีความยั่งยืน เหมือนจุดพลุขึ้นฟ้าแล้วก็หายไป
“ผู้สูงอายุบางคนถึงกับถามว่า เข้าร่วมแล้วจะได้เงินไหม? ซึ่งเราก็บอกไปว่า ไม่มีเงินให้นะ แต่มีความรู้คู่สุขภาพดีมาให้ ซึ่งดีกว่าเงินจะซื้อได้เสียอีก นอกจากนี้เรายังพบว่า ผู้สูงอายุหลายคนมีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพอยู่ในเกณฑ์ดีแต่ขาดแรงจูงใจ หรือบางพื้นที่ก็ขาดความรู้ด้านโภชนาการที่ดี เราจึงต้องปรับวิธีการทำงานให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่”
แม้ช่วงเริ่มต้นทำโครงการฯ จะมีอุปสรรคเข้ามาทดสอบจิตใจของเธออยู่บ่อยครั้ง แต่ประกายแห่งความหวังก็ได้รับการจุดขึ้นอีก หลังจากอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการแผนอาหารเพื่อสุขภาวะของ สสส. ตอบรับคำเชิญเป็นวิทยากรไปถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การดูแลสุขภาพ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้สูงอายุ
“ผู้สูงอายุฟังอาจารย์สง่าแล้วก็เชื่อท่านกันหมด เพราะส่วนใหญ่ใส่ใจเรื่องสุขภาพอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการให้มีคนมากระตุ้นให้พวกท่านอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือบางคนก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร หลังจากได้คำแนะนำจากอาจารย์สง่า เราจึงส่งเสริมเรื่อง ‘3 อ.’ คือ อาหาร อารมณ์ และออกกำลังกาย ด้วยการลดอาหารหวานมันเค็ม ควบคู่กับการออกกำลังกาย รวมไปถึงการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
“ทีนี้เราก็มองว่า ถ้าดูแลครบตามนั้นแต่ผู้สูงอายุก็ยังซื้อผักมากินทั้งๆ ที่ไม่รู้แหล่งที่มาและปริมาณสารเคมี เลยเพิ่มอีก ‘1 ป.’ คือการปลูกผักปลอดสารไว้กินเองหรือเหลือขายจ่ายแจก ซึ่งผู้สูงอายุจะได้ทั้งการออกกำลังกาย ประหยัดค่าใช้จ่าย และแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งหมดนี้จะช่วยลดความเครียดด้วยการสร้างสังคมใหม่ๆ ให้พวกท่านรู้สีกมีคุณค่าและมีความสุขมากขึ้น”
จนถึงปัจจุบัน เธอได้วางรากฐานให้เครือข่ายผู้สูงอายุสุขภาพดีก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ด้วยการสร้างตลาดนัดสัญจรและตลาดนัดออนไลน์เพื่อจำหน่ายผักผลไม้ปลอดสารฝีมือผู้สูงอายุในชุมชนต่างๆ รวมไปถึงความหวังที่จะสร้างผู้ประกอบการสูงวัยหัวใจสีเขียว เหมือนเธอกำลังต่อจิ๊กซอว์ขนาดใหญ่ให้สังคมไทยได้รับรู้ โดยมีหมุดหมายสู่การผลักดันผู้สูงอายุให้ก้าวสู่การเป็น ‘ผู้นำ’ การเปลี่ยนแปลงและตัวอย่างที่ดีของคนรุ่นต่อไป
“ดิฉันอยากให้ผู้สูงอายุเป็นแกนนำในการสร้างความเชื่อมโยงคนทุกกลุ่มทุกวัยเข้าด้วยกัน เราจึงส่งเสริมให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินการ โดยมีเราทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่ายผู้สูงอายุในชุมชนต่างๆ เข้าด้วยกัน จากนั้นผู้สูงอายุจะเป็นศูนย์กลางในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อชุมชนของพวกเขา”
ประกายแห่งความสุขและรอยยิ้มกว้างผุดพรายบนใบหน้า อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันหยุดยาวที่นิธิวดีจะได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยือนผู้สูงอายุตามชุมชนต่างๆ ซึ่งเธอรู้สึกกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่ง ราวกับเครือข่ายที่สร้างขึ้นนั้นเป็นเส้นทางใหม่ที่มีอะไรมากมายรออยู่เบื้องหน้า
“ทุกวันนี้เราไปตามชุมชนต่างๆ ได้แค่วันหยุด เลยรู้สึกว่ายังทำได้ไม่เต็มที่ บวกกับรู้สึกอิ่มตัวกับระบบราชการและอยากจะทุ่มเทกับโครงการนี้ให้มากขึ้น เพราะเรารู้แล้วว่า มันมีความสุขที่รอเราอยู่เบื้องหน้า
“เรามองเห็นความยั่งยืนของการปลูกผักปลอดสาร การออกกำลังกาย และการได้อยู่กับธรรมชาติ สังเกตไหมว่า ผู้คนที่รักการปลูกผักและรักธรรมชาติจะมีความน่ารักอยู่ในตัวเอง นี่แหละแผนชีวิตอิ่มสุขหลังเกษียณอายุของเรา”
“เกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ดิฉันได้ขับเคลื่อนโครงการนี้ไปในชุมชนต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯ นนทบุรี และนครปฐม ช่วยให้ผู้สูงอายุปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเพื่อสุขภาพได้มากขึ้นถึงร้อยละ 70 แม้จะมีช่วงโควิด-19 ที่ทำให้ตัวเลขลดลงบ้างเล็กน้อย แต่ผู้สูงอายุหลายคนก็มองเห็นความสำคัญของการปลูกผักปลอดสารรับประทานเอง มีความมั่นคงและปลอดภัยของอาหาร ในยามที่โลกของเราเกิดวิกฤติต่างๆ
“ทุกวันนี้ดิฉันวางแผนเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด เพราะดิฉันทำงานกับ อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) มาตั้งแต่เรียนจบ แม้ปัจจุบันดิฉันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนงานให้กับ อย. แต่ดิฉันค้นพบความสุขจากการทำงานกับผู้สูงอายุ
“รอยยิ้มและสุขภาพที่แข็งแรงของพวกท่าน ก็เหมือนความสำเร็จครั้งใหญ่ในชีวิต เราต่างก็ไม่ใช่คนแปลกหน้าของกันและกันอีกต่อไป แต่เราเป็นญาติพี่น้องและครอบครัวเดียวกัน ที่ทำให้ดิฉันอยากเริ่มต้นชีวิตใหม่วัยเกษียณในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ และส่งเสริมให้พวกท่านมีสังคมใหม่ ที่มีความสุข สุขภาพแข็งแรง อารมณ์ดี และห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคต”