ปีนี้เป็นขวบปีที่ 20 พอดีของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เครือข่ายที่เกิดจากการรวมตัวกันของบุคคลหลายกลุ่ม ทั้งทันตแพทย์ กุมารแพทย์ นักโภชนาการ นักนิเทศศาสตร์ และนักวิชาการอิสระหลายสาขา ที่ทำงานรณรงค์ให้เด็กไทยลดการกินหวานให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นช่วงปลายปี พ.ศ.2545 จากการสนับสนุนของ สสส. ที่ก่อตั้งขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน
ตลอดเส้นทางการขับเคลื่อน เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานสร้างผลลัพธ์ทางสังคมให้เกิดขึ้นจากหลายโครงการ อาทิ การแก้ไขประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข โดยไม่ให้มีการเติมน้ำตาลในนมสูตรต่อเนื่อง (สูตร 2) โครงการครอบครัวอ่อนหวาน ซึ่งรณรงค์ไม่ให้สำรองเครื่องดื่มและขนมที่มีปริมาณน้ำตาลสูงในตู้เย็น เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลโดยเริ่มต้นจากครอบครัว
โครงการโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม เพื่อลดการบริโภคน้ำตาลในเด็ก โครงการร้านกาแฟอ่อนหวาน ที่ให้ผู้บริโภคสามารถเลือกระดับความหวานที่น้อยลงได้ ไปจนถึงโครงการ Healthy Meeting ลดน้ำตาลในมื้อเบรกของการจัดประชุม มาตรการจัดเก็บภาษีน้ำตาล หรือภาษีความหวานในเครื่องดื่ม เพื่อลดพฤติกรรมติดหวานของคนไทยด้วยกลไกราคา ฯลฯ
เพราะรสหวานกับวัฒนธรรมการกินของคนไทยนั้นเป็นของคู่กัน การจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยให้ลดการบริโภคน้ำตาลจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เบื้องหลังการขับเคลื่อนแต่ละโครงการของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จึงเดินหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป บางเรื่องต้องอาศัยความอดทนและรอจังหวะเวลาที่ประตูเปิดช่อง ขณะเดียวกันก็ทำงานด้านข้อมูลคู่ขนานไปอย่างเข้มข้น รวมถึงสร้างเครือข่ายที่เห็นพ้องกันเพื่อผลักดันโครงการอย่างเข้มแข็ง
“การรณรงค์เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยากมาก แค่ตอนเริ่มต้นตั้งชื่อเครือข่ายก็เถียงกันแล้วว่าจะตั้งชื่อว่าอะไรดี” ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน หรือ ‘หมอปิ’ ที่หลายคนคุ้นเคย เล่าให้เราฟังอย่างอารมณ์ดี ในห้องประชุมของเครือข่าย ที่กระทรวงสาธารณสุข แม้จะเข้าสู่ปีที่สองของการเกษียณอายุราชการแล้ว แต่หมอปิยังคงเข้ามาทำงานเช่นเดิมทุกวัน เพื่อขับเคลื่อนงานที่ตัวเองร่วมอยู่ในหัวขบวนผู้ขับเคลื่อนมาตลอด 20 ปี
“งานนี้เป็นงานหลักในชีวิตเรามานานแล้ว ยิ่งเกษียณก็ทำให้เรามีเวลาให้มันมากขึ้น ลงพื้นที่ได้มากขึ้น ได้เห็นอะไรดีๆ ได้เยอะขึ้น และได้ไอเดียอะไรมากขึ้น มาทำงานจนทุกคนบอกว่านี่เกษียณจริงหรือเปล่า เพราะยังมาทุกวัน (หัวเราะ)
“เครือข่ายเกิดขึ้นจากการที่เราเป็นทันตแพทย์ แล้วปัญหาที่เราแก้ไม่ตกเลยระยะหนึ่งในช่วงนั้นคือปัญหาฟันผุในกลุ่มเด็กเล็ก เรามีการศึกษาเป็นระยะว่าที่เราคุมเรื่องฟันผุกันไม่อยู่เกิดจากอะไรบ้าง ถ้าเป็นเรื่องแปรงฟันเราจัดการกันได้ด้วยวิชาชีพ แต่ฟันน้ำนมผุเกิดจากนมปรุงแต่งที่เป็นนมรสหวานด้วย เราจึงคิดว่าต้องมาเน้นเรื่องการบริโภค”
การชูเรื่องน้ำตาลให้คนหันมาให้ความสำคัญ หากนำปัญหาด้วยฟันผุคงไม่เพียงพอ ภาวะอ้วนจึงถูกนำมาเป็นประเด็นร่วมในการรณรงค์ ผ่านชื่อเครือข่ายที่สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ด้วยคำว่า ‘ไม่กินหวาน’ ซึ่งสะดุดหูและยากที่จะปล่อยผ่านความสนใจ
“ทั้งนักอักษรศาสตร์และนักนิเทศศาสตร์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและทำงานร่วมกับเรา ก็เห็นด้วยว่าใช้ชื่อนี้ดี เพราะหลักการที่เราจะรณรงค์ให้คนสนใจ เราต้องทำให้คนถามก่อน และที่เราใช้คำว่าเด็ก เพราะเรามุ่งเป้าไปที่เด็ก ถ้าเด็กไม่กินน้ำตาลได้ ไม่ติดหวาน การบริโภคน้ำตาลจะน้อยลง เลยใช้ชื่อนี้เป็นชื่อเครือข่าย”
เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เริ่มนับหนึ่งจากการรณรงค์ โดยวางเป้าว่าต้องทำให้คนรู้จักเครือข่ายให้ได้ก่อน และตั้งเป้าว่าจะทำงานนโยบายที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก งานขับเคลื่อนของเครือข่ายเดินหน้าด้วยฐานข้อมูลซึ่งเป็นงานวิจัยและการศึกษา หนึ่งในนั้นคืองานวิจัยที่ทำร่วมกับสถาบันโภชนาการ เพื่อเข้าใจการบริโภคของคนไทยทั่วประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 และงานวิจัยชิ้นสำคัญนี้ยังใช้เป็นแหล่งอ้างอิงได้จนถึงปัจจุบัน
“ข้อมูลชุดนั้นมีผลออกมาชัดเจนว่า คนไทยรับน้ำตาลจากเครื่องดื่มเป็นหลัก ครึ่งหนึ่งของน้ำตาลที่คนไทยบริโภคมาจากเครื่องดื่ม และหนึ่งในสามมาจากการบริโภคขนมถุง ที่แถมมาด้วยโซเดียมที่สูงมาก”
“เราเขียนข้อมูลกันเป็นเล่มๆ เพื่อออกสื่อเป็นระยะๆ ความสำเร็จแรกของเครือข่ายคือการผลักดันให้อย.แก้ไขประกาศ เอาน้ำตาลจากนมสูตรสอง เพราะเราพบว่าเด็กไทยเราปลอดภัยจากน้ำตาลแค่หกเดือนแรก พอนมสูตรสองเริ่มใส่น้ำตาล เด็กที่กินสูตรสองจะติดหวานทันที
“ระหว่างทางที่ทำเรื่องนี้เราไม่ได้อยู่เฉย เราติดตามพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลของคนไทย โดยใช้ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลแห่งชาติ ซึ่งเปิดเผยเป็นสาธารณะ เราคำนวณออกมาเป็นปริมาณการบริโภคต่อคนต่อวัน และได้อาจารย์ทางโภชนาการมาช่วยทำงานตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกว่าเราควรกินน้ำตาลเท่าไร
“ตอนนั้นองค์การอนามัยโลกให้บริโภคได้ถึงสิบช้อนชาต่อวัน แต่เราให้แค่หกช้อนชาต่อวัน เราคุยกันในวงว่าคนเรารู้ตัวเองได้ยากว่าตัวเองกินน้ำตาลเท่าไร เพราะมาในรูปแบบที่เราอ่านไม่ได้ หรือเราไม่ได้เป็นคนตัก เราจึงรณรงค์แค่ครึ่งเดียวขององค์การอนามัยโลก สื่อสารว่าหกช้อนชาคือกินทั้งวัน แล้วค่อยๆ ทำงานขยับไปทีละประเด็น”
จากฐานข้อมูลนำมาสู่การขับเคลื่อนในประเด็นที่ใหญ่ขึ้น คือทำอย่างไรให้คนไทยลดการบริโภคเครื่องดื่มซึ่งมีน้ำตาลอยู่ในปริมาณสูง การรณรงค์นำไปสู่นโยบายเอาเครื่องดื่มน้ำอัดลมออกจากโรงเรียน การลดระดับความหวานในเครื่องดื่ม มาตรการจัดเก็บภาษีความหวาน และนโยบายอื่นๆ เช่นที่กล่าวไปข้างต้น
“การออกสื่อของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานกลายเป็นบุคลิกประจำตัวของเรา คนรู้จักเพราะเราออกสื่อบ่อยมาก การที่เราออกสื่อก็เพื่อผลักดันเรื่องนโยบาย และเป็นกระบวนการให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งเราทำกันเป็นระยะ” หมอปิเล่าให้ฟังถึงความสำคัญในการใช้สื่อเพื่องานรณรงค์
การเป็นที่รู้จักของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ทำให้เกิดการขยายเครือข่ายซึ่งเข้ามาร่วมทำงานด้วยความสมัครใจ ซึ่งตอนนี้เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานกระจายตัวอยู่ใน 21 จังหวัดทั่วภูมิภาค มีอิสระในการพัฒนาโครงการและพัฒนานวัตกรรมของตนเอง
เบื้องหลังความสำเร็จของแต่ละนโยบายที่ปรากฏชัดเจนนั้น เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ล้วนไม่ง่าย (ซึ่ง Gindee Club จะนำเสนอในโอกาสต่อไป) หากในมุมส่วนตัวของหมอปิ ทุกก้าวของการเดินทางที่นำมาสู่นโยบายสาธารณะในวันนี้ ประกอบขึ้นด้วยแพสชั่นในการทำงาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญยิ่งของคนทำงาน
“หมอบอกกับน้องๆ ทุกคนก่อนเกษียณว่า สิ่งที่ทำให้คนเราทำงานประสบความสำเร็จได้ คุณต้องมีแพสชั่นก่อน คือทำเพราะอยากทำ ทำเพราะรู้สึกสนุกกับมัน แล้วคุณต้องลงมือทำเอง ทดลองด้วยตัวเองว่าเราทำได้มั้ย ต้องฝึกตัวเราเองได้ เราต้องเชื่อตัวเราเองก่อน แล้วใช้ความรู้นำว่าจะทำยังไง
“ตัวเองก็เป็นคนติดหวานมาก่อน และติดน้ำอัดลม ติดท็อฟฟี่มากตั้งแต่เด็ก จนวันหนึ่งเรามีลูก เราไม่อยากให้ลูกติดของพวกนี้ ความที่เรากินมาก่อนก็ใช้วิธีค่อยๆ ลด เราลดกินหวานตั้งแต่ก่อนทำเครือข่าย เมื่อไม่ต้องการให้ลูกกินหวาน เราก็ต้องไม่กินด้วย ที่บ้านไม่เคยมีน้ำอัดลมติดบ้าน ถ้าลูกอยากกินเขาต้องเดินไปซื้อเอง และเขาไม่มีสิทธิกินน้ำอัดลมทั้งกระป๋องหมดคนเดียว ต้องแบ่งคนอื่นเพื่อเขาจะได้กินน้อยลง เป็นกลไกสร้างเงื่อนไข”
นอกจากแพสชั่นแล้ว การมี ‘มิตร’ ก็เป็นกำลังหลักที่จะช่วยหมุนให้ฟันเฟืองต่างๆ ขยับก้าวไปข้างหน้า “เราเป็นคนไม่ชอบทำอะไรคนเดียว ไม่มีเพื่อนไปไหนไม่เป็น ฉะนั้นพอทำอะไรจะหาเพื่อนก่อน เครือข่ายต้องมาก่อน เราทำงานกับเขาแบบเป็นเพื่อน และต้องสามารถบอกเขาได้ว่างานที่เขาทำกับเรา เขาจะนำไปใช้ในระบบยังไง ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ยังไง
“การคิดโจทย์เป็นเรื่องสำคัญ คิดโจทย์ยากกว่าลงมือทำนะ เราต้องคิดโจทย์ให้เขาได้ แต่การจะคิดโจทย์ให้เขาเราต้องรู้ว่าเขาทำอะไร ถ้าเราไม่เห็นว่าเขาทำอะไรเราก็คิดโจทย์ไม่ออกเหมือนกัน เราต้องทำงานด้วยกัน และเราต้องฟังคนรอบๆ ข้าง ฟังเครือข่าย ตั้งใจทำ มีเงินหรือไม่มีเงินก็ทำ ช้าหน่อยไม่เป็นไร ฉันรอได้ ฉันจะต้องถึงที่ที่ฉันอยากได้สักวันหนึ่ง
“แต่ระหว่างทางไม่ใช่รอเฉยๆ เราต้องเก็บเกี่ยวข้อมูล ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรอโอกาส รอประตูเปิด แล้วต้องอยากดัง อย่าทำอะไรเงียบๆ คนเดียว อย่ากลัวคนจะรู้ว่าเราเป็นยังไง ทำให้คนได้ยินเยอะๆ ให้เขาอยากทำงานกับเรา อยากมาเป็นเครือข่ายกับเรา แล้วมันจะไปได้เอง
ขณะเดียวกัน การตั้งเป้าหมายก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน “แต่ชีวิตหมอไม่มีเป้าสูงสุด มีแต่เป้าที่ตั้งไว้ เมื่อจบแล้วก็ตั้งเป้าใหม่ และทุกๆ เป้าเราต้องเดินไปให้ถึง หมอจะมีเป้าสิบปี แต่ละโปรเจ็กต์จะมองไว้แล้วว่าสิบปีข้างหน้าจะจบโปรเจ็กต์ตรงไหน แล้วไปต่อยังไงอีกสิบปี มองเป็นวงรอบ ทำเกินกว่านี้แล้วจะไม่สนุก เราต้องหาโจทย์ใหม่ หาของใหม่”
เมื่อนับนิ้วดูแล้ว จึงเท่ากับตอนนี้เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานครบวงรอบที่จะต้องเริ่มต้นกับเป้าหมายใหม่อีกครั้ง หมอปิแง้มแผนในใจว่า “ต้องเข้าใจว่าภาคีแผนอาหารฯ เริ่มเบลนด์เข้าหากัน ตอนนี้ทุกภาคี ทุกโครงการเริ่มจะเหมือนกัน ที่ต่างก็ทำงานโรงเรียน ทำงานชุมชน
“เราก็อาจจะทำในพื้นที่ที่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างและเป็นอัตลักษณ์ของเครือข่ายคือ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เรายังคงเดินเรื่องด้วยน้ำตาล น้ำตาลยังคงเป็นประเด็นนำ แต่อาจขับเคลื่อนด้วยวิธีอื่น ซึ่งจะเป็นวิธีไหน คนที่จะตอบเราได้คือเครือข่ายทั้ง 21 จังหวัดของเรา คำตอบในการทำงานของเราเกิดขึ้นจากเครือข่ายที่ทำงานมาด้วยกัน”