ผู้ปลูกวิถีเกษตรธรรมชาติสู่ผืนดินลำปาง ด้วยการบรรจุลงหลักสูตร กศน.

ดร.เกตุแก้ว อริยะเลิศเมตตา

แม้จะไม่ได้มีพื้นฐานอาชีพเกษตรกรรมมาโดยตรง อีกทั้งรับราชการมาทั้งชีวิต แต่ความสนใจในวิถีเกษตรทำให้ ดร.เกตุแก้ว อริยะเลิศเมตตา อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อำเภอเมืองลำปาง ค้นหาหนทางเพื่อเรียนรู้ด้วยตัวเอง และเมื่อได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรเกษตรธรรมชาติ กับมูลนิธิเอ็มโอเอไทย เธอก็ได้ค้นพบความหมายใหม่ของชีวิต

และจากจุดเริ่มต้นที่ตั้งใจเพียงเรียนรู้และนำกลับพัฒนาชีวิตตัวเอง อาจารย์เกตุแก้วมองเห็นประโยชน์ของเกษตรธรรมชาติมากยิ่งกว่านั้น การขับเคลื่อนวิถีเกษตรธรรมชาติในพื้นที่ที่ตนเองอยู่จึงเกิดขึ้น ด้วยการผลักดันเรื่องเกษตรธรรมชาติเข้าสู่หลักสูตรการศึกษาของ กศน. กระทั่งเรื่องนี้ได้กลายเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ที่สถานศึกษาอื่นทั่วประเทศ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้

และนี่คือเรื่องราวของอดีตผู้อำนวยการ กศน. อำเภอเมืองลำปาง ที่เพิ่งครบวาระเกษียณในปี 2565 กับงานขับเคลื่อนเกษตรธรรมชาติเพื่อสุขภาวะ ที่นอกจากจะงอกงามขึ้นบนผืนดินจังหวัดลำปางแล้ว ยังได้เกิดพลเมืองอาหารที่จะนำองค์ความรู้ไปขยายต่อได้อย่างน่าชื่นชม

“ไม่เคยคิดเรื่องทำเกษตรมาก่อนเลย เรื่องนี้เข้ามาเปลี่ยนเป้าหมายหลังเกษียณของเรา เคยวางแผนว่าเกษียณราชการแล้วจะไปปฏิบัติธรรม แต่กลายเป็นว่ามาทำงานพัฒนาเต็มตัว ซึ่งก็ตอบโจทย์ชีวิตเราตรงที่ทำแล้วก็มีความสุข และในช่วงระหว่างที่เราทำงาน มันก็เหมือนเราได้ปฏิบัติธรรมไปด้วยนะ” อาจารย์เกตุแก้วเล่าถึงสถานะของการทำงานขับเคลื่อนวิถีเกษตรธรรมชาติอย่างเต็มตัว ซึ่งเป็นหมวกใบใหม่ที่เธอสวมในวันนี้ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล

“เราทราบว่ามูลนิธิเอ็มโอเอไทยทำ MOU กับกศน.มาหลายปีแล้ว ก็ติดตามมาตลอดและอยากไปอบรม จนปี 2559 อาจารย์สุชาญ ศีลอำนวย (ผู้จัดการโครงการและเลขานุการ มูลนิธิเอ็มโอเอไทย) มาจัดอบรมเกษตรธรรมชาติที่ศูนย์ฝึกพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน จังหวัดเชียงราย จึงแจ้งหน่วยงานต้นสังกัดว่าขอให้ส่งเราไป”

การเรียนรู้ในครั้งนั้น จุดประกายให้อาจารย์เกตุแก้วอยากทำเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยแนวทางเกษตรธรรมชาติ จนถึงวันนี้เธอเป็นเกษตรกรที่มีผลผลิตของตัวเองทั้งผักและผลไม้ และส่งต่อผลผลิตที่ปลอดภัยนั้นสู่ผู้บริโภคในพื้นที่ ควบคู่กับงานขับเคลื่อนที่ทำอยู่ด้วย 

“ที่ผ่านมาเราเห็นคนสุขภาพไม่ดีเนื่องจากรับประทานสิ่งที่เป็นพิษต่อร่างกาย เกษตรธรรมชาติจะไม่ใช้เคมีในการดูแล และนอกจากเราจะได้ผลผลิตที่เป็นพืชผักแล้ว ยังมีผลในด้านจิตใจด้วย เพราะเกษตรธรรมชาติจะเน้นการลงมือปฏิบัติ ให้สัมผัสดิน ดูควบคู่กันไปทั้งทางร่างกายและจิตใจ”

ในปีนั้น อาจารย์เกตุแก้วยังมีตำแหน่งเป็นผอ.กศน.ที่อำเภอห้างฉัตร หลังการอบรมเธอนำความรู้ที่ได้มาวางแผนโครงการ เพื่อบรรจุลงในแผนปฏิบัติการประจำปี ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากครูในกศน.และเกษตรกร จนทำให้อำเภอห้างฉัตรมีพื้นที่นำร่องที่สามารถทำเกษตรธรรมชาติได้ แต่หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี อาจารย์เกตุแก้วต้องย้ายมาสังกัดอำเภอเมืองลำปาง

“เราก็เอาความคิดนี้มาบรรจุอยู่ในแผนงานของกศน.อำเภอเมืองลำปางด้วย ตั้งเป้าหมายว่าจะบรรจุเกษตรธรรมชาติเป็นหลักสูตร โดยครูหรือบุคลากรที่นั่นยังไม่ผ่านการอบรมเลย” เธอเล่าถึงความตั้งใจ กระทั่งในปี 2560 เอ็มโอเอไทยจัดการอบรมอีกครั้ง ครั้งนี้เธอพาครูใน กศน.ไปอบรมด้วย 

“เพื่อจะได้มาช่วยงานกันค่ะ พออบรมกันเรียบร้อยเราก็ทำแผนงานปฏิบัติการลงพื้นที่ จัดอบรมพัฒนาบุคลากรครูใน กศน.อำเภอเมืองทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน จนเกิดแนวคิดและแผนปฏิบัติการครอบคลุมในสิบเก้าตำบล” 

การอบรมบุคลากรให้เป็นนักส่งเสริมการปลูกผักสวนครัว ต่อยอดการเรียนรู้ไปสู่ความเข้าใจเรื่องอาหารศึกษา ศิลปะเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากมูลนิธิเอ็มโอเอ จากนั้นครูกศน.จึงนำความรู้มาพัฒนาหลักสูตร และออกไปจัดกิจกรรมในพื้นที่ให้กับนักศึกษาและประชาชน เรียกได้ว่า กศน.เป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายองค์ความรู้  ด้วยกลไกการทำงานที่ใกล้ชิดกันเป็นต้นทุน

“หลักสูตรของกศน.มีหลายรูปแบบ ในการศึกษาขั้นพื้นฐานจะเป็นการเรียนหลักสูตรม.ต้น ม.ปลาย ส่วนการศึกษาต่อเนื่องจะมีด้านอาชีพ เศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาสังคมและชุมชน เราจึงได้เอางานที่เราเกี่ยวข้องมาผนวกกับเกษตรธรรมชาติ โดยพัฒนาหลักสูตรเป็นรายวิชาเลือกของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจบหลักสูตร”

หลักสูตรวิชาเกษตรธรรมชาติ มีเนื้อหาประกอบด้วยอาหารศึกษา การจัดดอกไม้ศิลปะเพื่อชีวิต เพื่อสุขภาพที่ดี เพื่อสุขภาพจิตที่ดี และการปลูกผักสวนครัว ซึ่งการจะผ่านเป็นหลักสูตรได้นั้นก็มีขั้นตอนปฏิบัติอยู่ไม่น้อย 

“เนื่องจากว่าเป็นหลักสูตรที่มีเกรด และเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างหลักสูตร จึงต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้มีความรู้ความสามารถจากหลายสาขา คณะกรรมการ กศน.จังหวัดจะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้เสร็จเรียบร้อย จากนั้นจะส่งไปที่สำนักงาน กศน.ส่วนกลาง กระทั่งได้รับอนุมัติ สามารถลงทะเบียนเรียนได้ แล้วหน่วยงานสถานศึกษาอื่นๆ ทั่วประเทศสามารถดาวน์โหลดหลักสูตรเราไปใช้ได้เลย เพราะอยู่ในรายวิชาเลือกของสำนักงาน กศน.แล้ว

“ส่วนการศึกษาสายอาชีพ เราพัฒนาเป็นหลักสูตรเกษตรธรรมชาติครบวงจร ไปจัดกิจกรรมเกษตรธรรมชาติให้เกษตรกร โดยเรียนทั้งหมด 50 ชั่วโมง” 

ด้วยศักยภาพของกศน.นั้นสามารถนำบริบทของชุมชนเข้ามาผนวกเพื่อสร้างการเรียนรู้ แต่การจะให้ชุมชนเรียนรู้เรื่องใด ก็ต้องขึ้นกับว่าชุมชนมีความสนใจอยู่ด้วยหรือไม่ 

“เราต้องจัดประชาคมในชุมชนก่อนว่ามีเกษตรกรที่สนใจมั้ย จากนั้นเราก็ร่วมมือกับมูลนิธิเอ็มโอเอไทยและสสส. จัดอบรมหลักสูตรเกษตรธรรมชาติ หลักสูตรอาหารศึกษา ให้กับแกนนำเกษตรกร”

เกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของชุมชนอยู่แต่เดิม ซึ่งอำเภอเมืองลำปางมีทั้งเกษตรกรเคมีและเกษตรกรอินทรีย์อยู่ในพื้นที่ และในจำนวนนั้นก็มีเกษตรกรที่ให้ความสนใจการพัฒนาองค์ความรู้ 

“ในปีแรกที่เราจัดอบรมร่วมกับมูลนิธิเอ็มโอเอไทย มีเกษตรกร 50 คนมาอบรม พอจัดครั้งที่สองก็มีเข้ามาอีก 50 คน ส่วนใหญ่เป็นคนในวัย 40-50 คนรุ่นใหม่ก็มีประมาณ 6-7 คน บางคนทำอินทรีย์มาก่อน บางคนก็ทำเคมีล้วนๆ 

“ที่น่าสนใจคือตอนนี้เกษตรกรที่เคยทำเคมีล้วนๆ สามารถปรับเปลี่ยนความคิดของครอบครัวมาทำเกษตรธรรมชาติได้ ส่วนเกษตรกรที่ห้างฉัตรที่เคยทำกับเราตั้งแต่ช่วงต้นๆ เขาก็ยังทำต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้” เธอเอ่ยถึงต้นพันธุ์ที่หย่อนเมล็ดเอาไว้อย่างภูมิใจ 

ปัจจุบันนี้ ในอำเภอเมืองลำปางมีเกษตรกรที่ลงทะเบียนเกษตรธรรมชาติไว้กว่า 200 คน ได้รับมาตรฐานเกษตรธรรมชาติแล้วมากกว่า 50 คน และจะมีเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐานเพิ่มมากขึ้นในอนาคต 

เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของวิถีเกษตรธรรมชาติในพื้นที่ กศน.อำเภอเมืองลำปางจึงผลักดันให้เกิดตลาดสีเขียว โดยจัดตลาดทุกวันพุธที่กศน.ตำบลปงแสนทอง เกษตรกรบางคนนำผลผลิตไปขายในตลาดชุมชน หรือตั้งขายที่หน้าสวนตัวเอง ทั้งยังนำผลผลิตส่งเข้าสู่โรงอาหารของโรงพยาบาล นับเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และยังเป็นการส่งเสริมการบริโภคอาหารปลอดภัยให้แพร่ขยายมากขึ้นด้วย

“ตอนนี้นอกจากอำเภอเมืองแล้ว เราขยายพื้นที่เป้าหมายไปยังอำเภอใกล้เคียง ผ่านการทำงานของกศน. ข้อดีของกศน.คือ ทำกิจกรรมได้หลายรูปแบบ มีความยืดหยุ่น สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่ายกว่าหน่วยงานอื่น และเป็นบทบาทหน้าที่ของกศน.อยู่แล้ว ที่ต้องทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องเกษตร เรื่องสุขภาพ หรืออื่นๆ

“จากการทำงานที่ผ่านมา เราได้เห็นวิถีชีวิตของเกษตรกรที่เปลี่ยนไป บางคนที่เคยมีหนี้สินจากการต้องซื้อปุ๋ยเคมี เมื่อไม่ได้ใช้เคมีค่าใช้จ่ายในครัวเรือนก็ลดลง มีรายได้เพิ่มเพราะไม่มีหนี้ สามารถล้างหนี้ได้ ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น สุขภาพกาย สุขภาพจิตสมบูรณ์ เพราะเขาไม่ได้รับผลกระทบจากการใช้เคมี ได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย และสามารถแบ่งปันจำหน่ายให้คนในชุมชนและข้างนอกได้ ทำให้อยากทำต่อเนื่อง

เมื่อถามถึงปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้งานขับเคลื่อนในพื้นที่ออกดอกออกผล อาจารย์เกตุแก้วให้ความเห็นว่า “ครูซึ่งเป็นบุคลากรของกศน. ต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเกษตรธรรมชาติ ต้องลงพื้นที่ ลงมือปฏิบัติจริง สามารถถ่ายทอดต่อได้ โดยต้องทำด้วยใจรัก มีความเสียสละ มีความอดทน เกษตรกรเองก็เช่นเดียวกัน เขาต้องยอมรับในเรื่องการเปลี่ยนแปลง และมีใจรักที่จะเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงนี้

“ส่วนความภูมิใจที่เราได้ คือเราสามารถที่จะสร้างแกนนำเกษตรธรรมชาติในพื้นที่ได้ และเกษตรกรก็สามารถเป็นต้นแบบแนะนำคนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงได้ เกิดเป็นความภาคภูมิใจว่าที่เราทำมาทั้งหมดนั้นไม่สูญเปล่า”

ผู้เขียน

ด้วยการ ‘กิน’ เป็นพื้นฐานสำคัญของการมีสุขภาพดี ‘กินดี คลับ’ จึงเกิดขึ้นด้วยเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่นำไปสู่การกินอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทั้งตามหลักโภชนาการและความปลอดภัยของอาหาร ผ่านการสื่อสารซึ่งยืนอยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการที่เข้าใจง่าย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.