แม้จะเป็น 1 ใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มพื้นที่ที่ยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ของประเทศไทย แต่ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทของอดีตนายตำรวจเกษียณราชการวัย 62 ปี ทำให้ชื่อเสียงของ ‘สะบ้าย้อยโมเดล’ กลายเป็นอำเภอตัวอย่างของ ‘โครงการพัฒนาต้นแบบความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชน’ พร้อมกับความพยายามที่จะพัฒนาสู่การเป็นเมืองต้นแบบแนวคิด ‘หนึ่งครัวเรือน หนึ่งแปลงเกษตรอินทรีย์’
‘จ่าชม’ ร้อยตำรวจเอก เจษฎาวุธ เพ็งลาย ชายต้นแบบแห่งอำเภอสะบ้าย้อย เพิ่งเสร็จภารกิจจากการลงพื้นที่ตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์ในอำเภอแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา ฝนที่ตกตลอดบ่ายวันนั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของจ่าชมแต่อย่างไร เขายังรับหน้าที่เป็นวิทยากรโครงการ ‘เกษตรกรรมทำด้วยมือ’ หรือการสอนให้นักเรียนในโรงเรียนต่างๆ เข้าใจแนวทางในการปลูกผักปลอดสาร ควบคู่ไปกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9
“สมัยรับราชการ ผมได้อบรมในโครงการ ‘ฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ บ้านควนหรัน’ แล้วผมก็ชอบอบรมเกี่ยวกับเกษตรกรรมมาตลอด ทั้งอบรมเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน ศาสตร์พระราชา 6 มิติ ผู้ตรวจแปลงเกษตรของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดสงขลา และการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ผมผูกพันกับเกษตรอินทรีย์มาหลายปีแล้ว”
จ่าชมมักจะนำความรู้จากการอบรมเกษตรอินทรีย์มาถ่ายทอดให้นักเรียน ครู และชุมชนต่างๆ ในสะบ้าย้อยเป็นประจำ เขาจะเรียบเรียงด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย อธิบายด้วยจังหวะเนิบช้าน่าฟัง สลับกับการลงมือทำให้ดูเป็นตัวอย่าง บ่อยครั้งที่การลงพื้นที่ตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์ของจ่าชมและทีมงานไม่จำเป็นต้องมีพิธีรีตอง เพราะส่วนใหญ่วงประชุมมักจะจัดขึ้นบนแคร่ไม้ของบ้านสมาชิกสักคน
“เราก็นั่งล้อมวงกินข้าวกันที่บ้านนั่นล่ะ เด็ดผักปลอดสารที่ปลูกไว้ในรั้วบ้าน เก็บไข่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงไว้มาทำไข่ชะอม กินกับผักต้มและน้ำพริกง่ายๆ ใช้เงินไม่เกิน 300 บาท กินอิ่มได้ตั้งหลายสิบคน ปลาก็เลี้ยงเอง เพราะเรานำความรู้จาก ‘โครงการปั้นโคก สร้างหนอง ทำนา’
“คือเรานำทุกศาสตร์มาผสมผสานกันเป็นองค์ความรู้ มันสะท้อนความมั่นคงทางอาหารได้เช่นกัน เราอัพเดตงานกันทาง Line และประชุมออนไลน์ผ่าน Zoom เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กันมากกว่า”
บ่อยครั้งที่สมาชิกมักจะแบ่งปันความรู้ใหม่ๆ ที่ได้จากการปลูกพืชปลอดสารบนวิถีของตัวเอง ด้วยเพราะวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวควนหรัน ผูกพันกับเกษตรกรรมมาหลายชั่วอายุ จ่าชมเองก็คุ้นเคยกับพืชผักสวนครัวที่บรรพบุรุษปลูกไว้ในรั้วบ้าน
“เอาไว้กิน แจก จ่าย เหลือขาย แลกเปลี่ยนกับบ้านใกล้เรือนเคียง คนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนใช้ขี้วัว ขี้ไก่ ขี้ค้างคาว ใบไม้หมัก หรือเรียกว่า ‘มายา’ (แปลว่า ปุ๋ย) ใช้ปลูกผักด้วยวิธีธรรมชาติมานานแล้ว เป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น”
ช่วง 2-3 ปีแรกที่จ่าชมทำหน้าที่วิทยากร กรรมการสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนของสงขลา และผู้จัดการโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านควนหรัน เกษตรอินทรีย์ยังเป็นวิถีที่ได้รับความสนใจในโรงเรียนและชุมชนต่างๆ ในสะบ้าย้อยและอำเภอใกล้เคียงเท่านั้น
จนช่วงวิกฤตโควิด-19 ทำให้ความสนใจในเรื่องนี้แผ่ขยายออกไปเป็นวงกว้าง ลูกหลานที่เคยทิ้งนาไปหางานทำในเมืองหรือต่างถิ่นต่างแดน ก็กลับคืนสู่ดินแดนบ้านเกิด พร้อมกับยึดอาชีพเกษตรกรรมไว้หาเลี้ยงครอบครัว
“โควิด-19 ทำให้ลูกหลานเข้าใจว่า เกษตรกรรมเป็นความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริง คนที่เคยไปทำงานที่อื่นพอถูกเลิกจ้างหรือตกงานก็กลับมาทำอาชีพเกษตรกรรมที่บ้านเกิดกันเยอะมาก ยึดเป็นอาชีพหลักเลยก็มี เพราะเขาเห็นแล้วว่า แม้จะปิดบ้านปิดเมือง แต่เกษตรกรไม่ได้เดือดร้อนอะไร เรามีผลไม้และพืชผักที่ปลูกไว้กินเอง เหลือขายแจกจ่ายผ่านออนไลน์ได้ทั่วประเทศ”
ในฐานะวิทยากรและครูพี่เลี้ยง จ่าชมให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งยังส่งเสริมการจัดตั้งตลาดเขียวในชุมชนต่างๆ ของสะบ้าย้อย เพื่อให้เกิดการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน นอกจากนั้น เขายังสนับสนุนให้ร้านอาหารนำผักปลอดสารจากชาวบ้านไปปรุงเป็นเมนูพื้นเมือง เพื่อส่งเสริมให้การบริโภคผักปลอดสารเป็นความมั่นคงของอาหารในระยะยาว
“ผมได้แนวคิดในการสร้างตลาดเขียว และชุมชนปลอดสารจากการเข้าร่วมโครงการพัฒนาต้นแบบความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชน ของ สสส. ปัจจุบันผมเป็นประธานโครงการความมั่นคงทางอาหารของสงขลา ทำหน้าที่เป็นคนเชื่อมต่อเรื่องเกษตรอินทรีย์ระหว่างโรงเรียน ชุมชน วัดหรือมัสยิด ตลาดเขียว เหมือนเป็น ‘พี่เลี้ยง’ ให้กับพวกเขามากกว่า เราก็นำความรู้ที่ได้จากหลายโครงการมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เกิดเป็นความเข้มแข็งของชุมชนที่หลายคนเรียกว่า ‘สะบ้าย้อยโมเดล’ นั่นล่ะ”
แม้ปัจจุบันโรงเรียนต้นแบบถึง 6 แห่ง ในอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา จะได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวอย่างความสำเร็จของ ‘สะบ้าย้อยโมเดล’ ในโครงการพัฒนาต้นแบบความมั่นคงทางอาหารให้กับจังหวัดอื่นๆ แต่สำหรับจ่าชม มันเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จเพื่อนำไปสู่การส่งเสริมให้ชาวบ้านได้กินผักปลอดสาร อาหารปลอดภัย และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับครอบครัว
“ผมไม่เคยมองว่าเราทำเพื่อชื่อเสียง ความสำเร็จ หรือความร่ำรวย แต่เราทำเพื่อให้คนมีกิน เหลือขาย แทนที่เราจะกำเงินไปซื้อพริกหรือผักสดสัก 20 บาท โดยที่เราไม่รู้เลยว่าผักแต่ละชนิดที่วางขายมาจากไหน ใช้สารเคมีมากเท่าไหร่ การที่เรามีผักปลอดสารไว้กินในรั้วบ้าน นอกจากจะประหยัดเงิน หาง่ายแล้ว ยังดีต่อสุขภาพของทุกคนในครอบครัวอีกด้วย”
เมื่อไรก็ตามที่มีใครเอ่ยถามถึงเหตุผลที่อดีตรองสารวัตรอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา หันมาลงพื้นที่ทำงานด้านเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังตั้งแต่ยังไม่เกษียณราชการ จ่าชมจะให้เหตุผลสั้นๆ ว่า “ทำเอาบุญ”
“ครั้งหนึ่ง ดร.สง่า ดามาพงศ์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเลขาธิการคณะกรรมการแผนอาหารเพื่อสุขภาวะของ สสส.) ถามผมว่า “จ่าชมคิดอย่างไรถึงมาทำเรื่องความมั่นคงด้านอาหารปลอดภัย” ผมก็ตอบท่านว่า “ผมมองว่า มันเป็นการทำบุญเพื่อให้คนอื่นได้กินผักปลอดสาร
“การที่เราเอาอาหารปลอดภัยไปให้คนอื่นกินก็เหมือนเป็นยานะ เพราะเราไม่รู้หรอกว่า ผักของเราอาจจะไปเป็นอาหารให้คนป่วยโรคมะเร็งกินหรือเปล่า การที่เขาได้กินผักปลอดสารอาจจะช่วยให้เขามีชีวิตอยู่ต่อได้อีกระยะหนึ่งก็เป็นได้”
ในฐานะ ‘คนต้นแบบ’ แห่งสะบ้าย้อย จ่าชมบอกว่า เกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องของเวลาและความอดทน จนกว่าผืนดินที่คุ้นเคยกับสารเคมีจะอ่อนนุ่ม และชุ่มไปด้วยธาตุอาหารตามธรรมชาติ เขายังพิสูจน์ให้คนในพื้นที่เห็นผ่านทุเรียนเพียงไม่กี่ต้นที่ปลูกไว้ท้ายสวน
“เกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องของ ‘การทำให้เขาคิด ไม่ใช่คิดให้เขาทำ’ ผมจึงทดลองกับทุเรียน 5 ต้นหลังบ้าน เมื่อก่อนผมก็ใช้ปุ๋ยเคมีเหมือนกัน แต่พอหันมาปลูกด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ ปรากฏว่าทุเรียนของผมเนื้อนิ่ม เหลืองทอง หอมอร่อย ทุกวันนี้ไม่ได้แจกพี่น้องเหมือนทุกๆ ปีแล้ว เพราะมีคนสั่งจองข้ามปีตั้งแต่ยังไม่ติดดอก จองทีละ 3-5 ลูก จนตอนนี้ยอดจองทุเรียนเต็มหมดแล้ว”
สิ่งที่จ่าชมสังเกตได้จากการทำเกษตรอินทรีย์ คือความแตกต่างของดินที่ปลูกแบบเคมีและอินทรีย์ ดินปลอดสารจะร่วนซุยดำดีจนสามารถค่อยๆ ลดปริมาณการให้ปุ๋ยธรรมชาติเหลือปีละ 1-2 ครั้ง
“เกษตรอินทรีย์ช่วยให้เราลดปริมาณปุ๋ยลงเรื่อยๆ ขณะที่การปลูกด้วยเคมีเราต้องเพิ่มปริมาณปุ๋ยมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเป็นการสอนทั้งคนและต้นไม้ในเวลาเดียวกัน การที่เราช่วยเหลือคนอื่นให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้โดยไม่ต้องลงทุน มันก็เป็นความสุขที่หาได้ง่ายๆ สำหรับผม”
ปัจจุบันจ่าชมยังเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนโครงการ ‘หนึ่งครัวเรือน หนึ่งแปลงเกษตรอินทรีย์’ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ชุมชนละ 4-5 ครัวเรือน เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านมีสุขภาพดีและเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว
แม้วันนี้ แผ่นดินผืนนี้ที่ยังถูกจัดให้อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ไม่สงบในชายแดนภาคใต้ หากแต่หัวใจของชาวสะบ้าย้อยกลับปริ่มสุข และอิ่มท้องไปกับผักปลอดสารตามวิถีเกษตรกรรมยั่งยืน และมันก็เป็นความสุขที่ยั่งยืนของจ่าชมด้วยเช่นกัน