มืออีกหนึ่งคู่ของภาคีแผนอาหารฯ ที่ร่วมกันถักทอระบบอาหารให้มาร้อยรวมกันเป็นนโยบาย
หากจะนิยามความเป็น ‘นัก’ อะไรสักอย่าง สำหรับวัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด แล้ว คำว่า ‘นักสร้างสรรค์และริเริ่ม’ น่าจะเป็นอีกคำที่บ่งบอกถึงสิ่งที่เธอทำมาทั้งชีวิตได้เป็นอย่างดี นอกจากคำว่า ‘นักขับเคลื่อน’ ที่เธอได้รับการนิยามมาเสมอ
“การริเริ่มอะไรก็ตาม critical thinking สำคัญ และต้องเชื่อว่ามุมใหม่มันมี possible imagin มีความเป็นไปได้ ถ้าเราทำโดยไม่มี critical thinking ทำตามเดิม ลงร่องไปแบบเดิม มันไม่ไปไหน เมื่อมี critical thinking ถึงจะมี imagination และมี design” คำพูดในตอนหนึ่งสะท้อนตัวตนของเธอได้ดี ถึงหลายบทตอนการทำงานที่ก่อขึ้นจากหัวใจและความคิดเท่าทันยุคสมัย และยังสนุกกับการเรียนรู้อยู่ไม่วาย
เมื่อสวมแว่นมองผ่านเข้าไปในอดีต ก่อนหน้าที่จะก่อตั้ง INI หรือ Innovation Network International กิจการเพื่อสังคมที่หนึ่งในภารกิจนั้นคือปรุงอาหารสมองในรูปแบบหนังสือ และทำงานขับเคลื่อนระบบอาหาร วัลลภาคือผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ผลิตหนังสือที่จุดประกายปัญญา และสร้างการเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดให้สังคม
แล้ววันหนึ่ง จานข้าวที่อยู่ตรงหน้า ครัวที่มีวัตถุดิบปลอดภัยรู้ที่มา ก็พาเธอหันเหรอยเท้าเข้าสู่การขับเคลื่อนงานอาหารปลอดภัย ความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในบทบาทของการสนับสนุน สื่อสาร และเชื่อมโยงให้ผู้คนในห่วงโซ่นี้ได้มาสร้างสรรค์การทำงานร่วมกัน
จากการเป็นหุ้นส่วนกับเกษตรกรอินทรีย์ด้วยระบบสมาชิก CSA เพื่ออุดหนุนเงินล่วงหน้าให้เกษตรกรผลิตอาหารที่ดีส่งให้คนเมืองได้กิน นำมาสู่การเกิดขึ้นของตลาดเขียวแห่งแรกในกรุงเทพฯ ที่อาคารรีเจนท์ โดยการสนับสนุนของ สสส. นั่นนับเป็นการลากเส้นจากจุดเริ่ม ที่พาให้วัลลภากลายมาเป็นนักขับเคลื่อนด้านอาหาร และช่วยสนับสนุนการทำงานของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะมาจนถึงวันนี้ ในบทบาทของผู้รับผิดชอบโครงการบูรณาการยุทธศาสตร์แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ
“จุดเริ่มต้นเล็กๆ มาจากการเรียนรู้ผ่านงานคิดงานเขียนหลายเล่มที่เราทำสำนักพิมพ์ มันค่อยๆ ป้อนอาหารสมองให้เรา แล้วเราก็เห็นความสำคัญว่า เรื่องอาหารมันเป็นภาระรับผิดชอบของบุคคลที่เราจะต้องดูแลตัวเราเอง และเอาการดูแลของตัวเราเองไปเชื่อมต่อ ซึ่งการจะเชื่อมต่อเราต้องสร้างอะไรเล็กๆ ขึ้นมา
“ตอนแรกที่ทำไม่ได้คิดว่าจะจัดตลาดเขียว คิดเพียงว่าเราเกี่ยวข้องตั้งแต่การผลิตที่ดีมาสู่ตลาดซึ่งเป็นช่องทางแล้ว ก็ต้องสื่อสารกับคนกินด้วย แล้วการผลิต การขาย และการกิน มันคือระบบห่วงโซ่อาหาร หลังจากนั้นตลาดเขียวก็ถูกนำไปเป็นโจทย์ของโรงพยาบาลและโรงเรียน ผลผลิตจากชุมชนของเกษตรกรส่งเข้ามาในครัวโรงเรียนและครัวโรงพยาบาล เพื่อให้เด็กและคนป่วยได้กินอาหารที่ปลอดภัย และเกิดเป็น community ขึ้นมา”
การเชื่อมต่อเช่นที่วัลลภาว่า จึงเป็นการค่อยๆ ถักทอชีวิตบุคคลมาร้อยเข้ากันเป็นแผนที่ผืนใหญ่ จนเกิดเป็นภาพรวมของระบบอาหารที่เชื่อมโยงกันไม่รู้จบ
“ต้องขอพูดในฐานะตัวแทนของภาคีและแผนอาหารฯ ว่าในระยะเวลา 15 ปีของแผนอาหารฯ ที่เราได้เข้ามาทำงานเกี่ยวข้อง เราเห็นแล้วว่าการทำในระดับกิจกรรมนั้นไม่พอ ต้องร้อยกิจกรรมแล้วแมตช์ให้เป็นกระบวนเชิงระบบ ระบบอาหารชุมชนเป็นระบบอาหารของพื้นที่ ที่มีเกษตรกรชุมชน วิสาหกิจชุมชนเป็นผู้ประกอบการ เป็นผู้กระจายเพื่อส่งต่อไปถึงผู้บริโภคคือสถาบันโรงเรียนและโรงพยาบาล และมีการจัดตลาดเขียวให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ด้วย ลักษณะนี้คือกลายเป็นระบบอาหารชุมชนขึ้นมาแล้ว”
ระบบอาหารชุมชน ถูกนำมาออกแบบร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ผ่านการทำงานของภาคีแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ เพื่อให้เกิดเป็นนโยบายในระดับชุมชนของกระทรวงต่างๆ อาทิ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของกระทรวงศึกษาธิการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทย หรือโรงพยาบาลอำเภอ ซึ่งดูแลโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จนเกิดผลลัพธ์ที่น่าชื่นชมในหลายๆ โครงการของภาคี
“งานที่แต่ละภาคีทำนั้นไม่ง่ายเลย ภาคีเขาต้องทำงานกับหุ้นส่วนในพื้นที่ เรามีพื้นที่กลางของการบูรณาการเป็นแพลตฟอร์มให้คนมาคุยกันเพื่อประกอบภาพการทำระบบอาหารชุมชน ซึ่งเวลาเราพูดเรื่องระบบอาหารอินทรีย์ของชุมชน ถ้าส่องกล้องมองลงไปเราจะเห็นผู้คนที่เป็นมดงานกำลังถักทออยู่จำนวนมาก”
แม้จะได้รับการตอบรับและเกิดระบบอาหารชุมชนต้นแบบอยู่หลายแห่ง แต่นั่นไม่ได้เป็นหลักประกันว่าระบบอาหารนี้จะยืนระยะอยู่ในชุมชนไปได้ตลอด การผลักดันให้เกิดนโยบายจึงต้องขับเคลื่อนต่อเพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืนกว่า
“ต้นแบบที่เราสร้างมันขึ้นกับบุคคล ซึ่งมีโอกาสที่จะตั้งอยู่แล้วก็ดับไปไม่ยั่งยืน บางครั้งมีตลาดเขียวที่นี่ ผ่านไปปีสองปีไม่มีแล้ว หรือเคยทำให้อาหารอินทรีย์เข้าไปอยู่ในครัวโรงพยาบาลได้ 50% ผ่านไปสักพักมันหายไป เราเลยต้องทำเชิงระบบเชิงโครงสร้าง ให้มันกลายเป็นนโยบาย คือทำให้กิจกรรมที่เราไปริเริ่มจุดประกายให้เขามั่นใจว่าสิ่งนี้ได้ฝังอยู่ในระบบ เช่น ให้เรื่องที่ทำในโรงพยาบาลเป็นนโยบายของกรมอนามัย พอเป็นนโยบายแล้ว สิ่งที่เราเป็นต้นแบบจะไม่ตั้งอยู่ดับไป”
วัลลภาฉายภาพให้เราเห็นถึงการผลิดอกออกผลของการผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่ระดับนโยบาย สมัยนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เมื่อเจ้ากระทรวงเห็นดีด้วย และกรมอนามัยรับลูก ก็ทำให้จากเดิมที่เธอมีตลาดเขียวต้นแบบอยู่ 5 โรงพยาบาล รวมกับตลาดเขียวของภาคีอื่นๆ เป็น 50-60 โรงพยาบาล เกิดการขยายไปถึง 360 แห่ง จากโรงพยาบาลอำเภอทั่วประเทศ 700 แห่ง
“การทำเชิงนโยบาย เชิงระบบ ทำให้เราต้องศึกษามากกว่าทำเชิงกิจกรรมแล้ว เพราะการทำแต่กิจกรรมโดดๆ เราจะขยายได้แต่ในแนวระนาบ การจะทำให้มีจำนวนตลาดเขียวเยอะขึ้น มีโรงพยาบาลทำแบบนี้เยอะขึ้น เราต้องทำแนวดิ่ง นั่นคือ bottom up และ top down ต้องไปด้วยกัน กำหนดเลยว่าต้องสร้างตลาดเขียวในโรงพยาบาลอำเภอ ต้องผลักดันอาหารอินทรีย์ให้เข้าครัวได้ 30% และเราต้องมีงานวิชาการที่ถอดบทเรียนสนับสนุน
“การมีนโยบายแบบนี้อาจจะเป็นนโยบายแบบบนลงล่าง แต่มันมาจากโมเดลแบบล่างขึ้นบน เป็นโมเดลที่สร้างมาจากพื้นที่ ฉะนั้นเวลาเราบอกว่าอยากจะขยายจำนวนแบบ scale out แต่เราก็ต้อง scale up ด้วย หมายถึงการขยายแนวดิ่งให้เป็นนโยบาย แล้วมันจะช่วยทำให้จำนวนตลาดเขียวโรงพยาบาลขยายแบบ multiple จาก 20 แห่ง กลายเป็น 100 แห่ง 300 แห่ง
“เวลาทำงานเชิงนโยบาย เราต้องเอาการบริหารจัดการพื้นที่รูปธรรมที่ยั่งยืนมาศึกษา มาทำความเข้าใจว่าเขาจัดการยังไง ทำให้เกิด knowledge management เพราะเวลาเราไปทำเชิงยุทธศาสตร์และนโยบาย เราต้องการความรู้ต้นแบบนั้นมาถอดบทเรียนความรู้ มาสร้างยุทธศาสตร์ แล้วสื่อสารสังคมเพื่อให้เกิดการกำหนดนโยบาย ค่อยๆ จัดการความรู้ให้เกิดไกด์ไลน์ในการเคลื่อนงาน แล้วไปคุยกับหน่วยงานที่มีผลในการกำหนดนโยบาย
“และนโยบายยังหมายถึงการสื่อสารสังคมด้วยนะ ฉันอยากให้ลูกฉันได้กินอาหารปลอดภัยอาหารสุขภาวะในโรงเรียน ฉันเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลต้องไม่เอาอาหารที่มีสารเคมีนะ ฉันต้องการดูแลสุขภาพของฉัน หรือชุมชนต้องมีตลาดเขียวนะ ทุกคนจะได้เข้าถึง
“แต่การสื่อสารก็ต้องการความรู้ มันจึงต้องมีงานวิจัยที่สืบทราบว่า การมีตลาดเขียวมันดีกว่ายังไง มันลดต้นทุนการรักษาสุขภาพนะ เราถึงต้องมีงานวิจัยเรื่องสุขภาพเปรียบเทียบคนมาตลาดเขียวว่ามาได้ระยะหนึ่งแล้วสุขภาพเขาดีขึ้น จะได้ไปบอกหน่วยงานที่กำหนดนโยบายว่า ถ้าลงทุนเรื่อง Health Investment จะได้กำไรคืนมา อย่างที่โรงพยาบาลเชียงแสนเขาทำ จากปีหนึ่งมีคนป่วยมะเร็ง 235 คน พอมีตลาดเขียวแค่ครึ่งปี เขาเหลือ 230 คน”
วัลลภาขยายความถึงความสำคัญของงานวิจัยต่อการทำงานนโยบาย ทั้งในแง่การถอดองค์ความรู้เพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงาน และงานวิจัยเพื่อเป็นหลักฐานให้ผู้กำหนดนโยบายเห็นข้อดี รวมถึงงานวิจัยเชิงสื่อสารสังคม ว่าควรออกแบบการสื่อสารอย่างไร หรือสร้างฉากทัศน์ในอนาคตถึงสังคมที่ระบบอาหารดีครบทั้งห่วงโซ่ และงานวิจัยที่เรียกว่า ‘Food System Map’ เพื่อเชื่อมร้อยพื้นที่เข้าหากัน
“ถ้าเราจะเปลี่ยนระบบอาหารในพื้นที่ เราต้องรู้ว่าต้นทุนเดิมเรามีอะไร มีภูมิปัญญาการกินอาหารเป็นยาอยู่ไหม มีอาหารอยู่ที่ไหน ตอนนี้แผนที่นี้ได้นำมาใช้ในการทำต้นทุนแผนอาหารแล้ว เราเริ่มจับคู่ความสัมพันธ์ว่า ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ เราต้องเชื่อมร้อยบางอย่างเข้าหากัน เช่น นำความรู้ที่มี มาบวกความรู้ใหม่ของนักวิชาการ มารวมกันทำเป็น food literacy
“การมีแผนที่นี้จะทำให้รู้ว่า มีความรู้อยู่ที่ไหน แล้วจะสนับสนุนกันยังไง การมีระบบร่วมกัน แชร์ข้อมูลร่วมกัน มีแพลตฟอร์มสื่อสาร มันคือ infrastructure ที่หนุนเสริมงานภาคี”
เรื่องที่คล้ายเข้าใจยาก คลี่คลายผ่านคำอธิบายถึงการทำงานเชิงนโยบายที่ภาคีทำงานร่วมกันอยู่ เหนืออื่นใดนอกจากการเห็นงานที่ขับเคลื่อนออกผลเป็นรูปธรรมจากการทำงานแบบบูรณาการ สิ่งที่วัลลภาได้รับกลับมาชุบชูหัวใจไม่ยิ่งหย่อนกัน คือการได้เห็นพลังงานดีๆ จากผู้คนที่เชื่อมโยงอยู่
“มันดีจังเลยนะที่เขาบอกว่าได้มาเจอกัน ได้มาเชื่อมกัน มันให้พลังการเรียนรู้ พลังการเชื่อมงานแบบนี้มันสุดยอด หรือทุกครั้งที่ไปเยี่ยมแปลงแล้วเห็นเกษตรกร เห็นคนที่ทำงานกับผืนดินโดยตรง เกษตรกรในระบบนิเวศที่ยั่งยืนเขาคือผู้คุ้มครองผืนดิน เขามีพลังภายในที่เราสัมผัสได้
“ทุกวันนี้เราอยู่ในระบบอาหารที่ห่างเหิน เป็น broken food system คนไม่สัมพันธ์กับอาหาร และไม่ได้สัมพันธ์กับผู้คนด้วยกัน แต่พอเราได้เป็นเห็นภาพแบบนั้น ในนาข้าวเราเห็นหยาดฝน เห็นคนปลูก การได้ไปเห็นผอ.โรงเรียนฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อที่จะทำโครงการต่างๆ เช่น โครงการเด็กไทยแก้มใส หรือการได้เห็นหมอพยาบาลที่โรงพยาบาลเชียงแสน ทำเรื่องนี้เพื่อสุขภาพของชาวบ้าน มันสุดยอดจริงๆ สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่ให้แรงบันดาลใจกับเรา”