แทนที่จะทำงานเพื่อความฝันและความมั่นคงของตัวเอง สมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท กลับเลือกที่จะค้นหาความสุขและความหมายของชีวิต ผ่านการทำงานเพื่อสังคมให้กับมูลนิธิต่างๆ มากว่า 30 ปี หญิงแกร่งจากแดนใต้ ใฝ่ฝันที่จะต่อสู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ให้กับกลุ่มเกษตรกร กลุ่มเปราะบาง กระทั่งกลุ่มคนชายขอบ
ถึงวันนี้แรงกระเพื่อมนั้นได้กลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่มอบรอยยิ้มและปลดหนี้ให้กับชาวนาและเกษตรกรนับร้อยชีวิต
สมจิตเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นจิตอาสา ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และจบปริญญาโทคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก่อนจะทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) และทำงานรณรงค์ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) จนถึงบทบาทสำคัญในฐานะตัวแทนคณะกรรมสมัชชาการปฏิรูปประเทศสมัยท่านอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2553
“สมัยเป็นจิตอาสาเรามีความสุขมาก รู้สึกเหมือนเราตายได้แล้วเพราะเราได้ทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคมและประเทศชาติ คนอย่างเราคงไม่เหมาะกับการทำงานสื่อหรือเป็นข้าราชการ เพราะเป็นคนนอกกรอบ เราต้องการทำงานที่มีอิสระทางความคิด อิสระในการทำ .
“อย่างการทำงานกับมูลนิธิต่างๆ ถ้าเรามีไอเดียดี มีแนวทางในการทำงานที่ชัดเจนเป็นระบบ และมีความรับผิดชอบ มันก็เป็นจริงได้ในที่สุด และเราก็ได้ทำงานเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมหรือกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างที่ตั้งใจไว้”
น้อยคนนักจะรับรู้ว่างานของสมจิตสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้กับสังคมไทย แต่สำหรับชาวนาและเกษตรกรในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เธอเป็นเหมือนกำลังใจสำคัญที่ทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของคนไทย ตั้งแต่การแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนา การสนับสนุนด้านเกษตรอินทรีย์ จนถึงการกระจายสินค้าผ่านเพจ ‘นาเคียงเมือง’
“นาเคียงเมืองเป็นโครงการของมูลนิธิชีวิตไท ก่อตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าให้กับชาวนาและเกษตรกร ควบคู่กับการสนับสนุนให้คนเมืองได้รับประทานข้าวปลอดสาร ผักและผลไม้อินทรีย์ เพื่อให้คนเมืองเข้าใจปัญหาของชาวนา วิถีชีวิตที่ยากลำบาก และภาระหนี้สินจากการทำเกษตรกรรม เพื่อให้คนเมืองเข้าใจทุกข์ของชาวนาและหาทางช่วยเหลือร่วมกัน”
ในประเทศที่คนส่วนใหญ่บริโภคข้าวเป็นอาหารจานหลัก แต่ชาวนาในฐานะผู้ผลิตกลับมีชีวิตที่ยากลำบาก ไม่สามารถกำหนดราคาของสินค้าที่ตนผลิตได้ และตกอยู่ในวังวนของหนี้สินไม่รู้จบ
“งานของเราจึงเริ่มต้นตั้งแต่การปรับวิธีคิดของชาวนาและเกษตรกร เพื่อให้เข้าใจถึงหลักการในการแก้ไขปัญหา และองค์ประกอบของการเกิดวงจรหนี้สินของแต่ละครอบครัว โดยเฉพาะนโยบายของภาครัฐที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกรไทย บางอย่างเป็นการช่วยเหลือปลายเหตุหรือมาตรการระยะสั้น ขณะที่ปัญหาเบื้องลึกจริงๆ ของชาวนาอยู่ที่การควบคุมกลไกราคาทางการตลาด ไหนจะโดนโรงสีกดราคา ชาวนาจึงเป็นเหมือนผู้ผลิตที่ไม่มีวันกำหนดราคาสินค้าได้เลย”
หน้าที่หลักของสมจิตและทีมงานของมูลนิธิชีวิตไท จึงไม่ใช่เพียงการลงพื้นที่เพื่อทำการศึกษาวิจัย รับรู้ปัญหา ตลอดจนให้ความรู้แก่ชาวนาและเกษตรกรใน 5 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการแก้หนี้กับมูลนิธิฯ ได้แก่ ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สิงห์บุรี และนนทบุรี หากแต่เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการเกษตรจากเคมีสู่อินทรีย์ การบริหารจัดการหนี้สิน ส่งเสริมให้ชาวนาและเกษตรกรมีรายได้เสริมจากการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร จนถึงการสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายสู่คนเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ
“เราอยู่ได้ก็ด้วยการสนับสนุนจากคนไทยทั้งประเทศ เมื่อมีคนเห็นคุณค่าของเกษตรปลอดสารอาหารปลอดภัย ก็จะส่งเสริมความยั่งยืนและสร้างการเปลี่ยนแปลงในที่สุด เราทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้คนเมืองได้กินข้าว ผักและผลไม้ปลอดสาร
“ลองคิดดูสิว่า เวลาไปซื้อข้าวตามห้างฯ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าข้าวสารถุงนั้นผ่านสารเคมีและยาฆ่าแมลงอะไรมาบ้าง แม้ปริมาณของสารเคมีจะอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แต่กินมากไปก็สะสมในร่างกายอยู่ดี ตรงข้ามกับเราซื้อข้าวปลอดสารและผักผลไม้อินทรีย์ผ่านเพจนาเคียงเมือง หรือตลาดเขียว คุณก็สอบถามได้เลยว่าเกษตรกรปลูกอย่างไร แม้ผลผลิตอาจจะไม่สวย แต่ก็ดีต่อสุขภาพ”
ตลอดชีวิตการทำงานกว่า 30 ปี สมจิตได้รับบทเรียนมากมายจากการต่อสู้เพื่อพี่น้องเกษตรกรไทย ครั้งหนึ่งเธอเคยก้มกราบแผ่นดินร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ “เป็นการคารวะผืนดินเพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่า ที่ดินมีความจำเป็นต่อชีวิตของชาวนาและเกษตรกรมากเพียงไร เราก้มกราบโดยพร้อมเพียงจากทำเนียบถึงสวนอัมพร มันเป็นภาพประทับใจที่ชีวิตนี้เราจะไม่มีวันลืม”
เช่นเดียวกับการต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้เส้นทางสู่ความสำเร็จอาจไม่สวยงามและราบรื่น แต่สมจิตก็มีความสุขและภูมิใจทุกครั้งที่เห็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเขา
“เราเคยลงมือฝัดข้าวเอง (การทำความสะอาดข้าวที่ได้จากการสี) เพราะช่วงนั้นเกษตรกรบางรายเพิ่งปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกจากเคมีเป็นอินทรีย์ ทางโรงสีก็ยังสีข้าวไม่ค่อยดี เลยต้องฝัดข้าวอีกครั้งก่อนจะแพ็กส่งให้กับผู้บริโภค มันเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าที่สอนให้เรารู้ว่า ถ้าจะลงมือทำอะไรแล้วต้องทำให้ดีที่สุด แล้วเราก็นำบทเรียนตรงนั้นมาปรับปรุงพัฒนาการทำงานของทีม ควบคู่กับการสร้างมาตรฐานให้กับผลิตผลทางการเกษตรอินทรีย์ แล้วยังได้สนับสนุนให้เกษตรกรนำบทเรียนมาพัฒนาคุณภาพการผลิตต่อไป
“นอกจากจะทำเพื่อส่งเสริมคุณภาพการผลิตและคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร ทุกครั้งที่ช่วยเหลือคนอื่นเราก็ได้สิ่งดีๆ กลับมาให้ตัวเองเช่นกัน อย่างเวลาชาวนาและเกษตรกรมาประชุมก็ไม่ได้มาคนเดียว เขาพาครอบครัวและญาติพี่น้องมาด้วย หลายคนหันมาปลูกข้าวกินเอง ปลดหนี้ได้ มีรายได้เสริมจากอาชีพอื่นๆ ซึ่งความสำเร็จของเขาก็เหมือนความสำเร็จของเราเช่นกัน”
ความฝันครั้งต่อไปของผู้หญิงแกร่งคนนี้ จึงเป็นการมอบความสุขเล็กๆ ให้กับตัวเอง สมจิตวางแผนที่จะกลับไปใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วยการปลูกทุเรียนปลอดสารที่บ้านเกิดในจังหวัดนครศรีธรรมราช เธอยิ้มละไมเมื่อนึกถึงครั้งล่าสุดที่กลับไปเหยียบผืนดินอ่อนนุ่มชุ่มน้ำด้วยเท้าเปล่า ที่นั่นเป็นหมุดหมายที่เธอจะลงมือหว่านเมล็ดพันธุ์ดีๆ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภคในฐานะ ‘เกษตรกร’