ศิลปะแห่งการกินอย่างมีความสุข

รศ.ดร. วันทนีย์ เกรียงสินยศ

เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้วที่สัญลักษณ์ ‘ทางเลือกสุขภาพ’ (Healthier Choice) ปรากฏตัวบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในร้านสะดวกซื้อชั้นนำและร้านกาแฟชื่อดังของไทย หากแต่มีเพียงไม่กี่คนที่จะตระหนักถึงความสำคัญมหาศาลและความยากลำบาก กว่าที่ผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นจะได้รับโลโก้ทางเลือกสุขภาพมาประทับอยู่บนบรรจุภัณฑ์

นักโภชนาการและนักกำหนดอาหารมุ่งมั่นพัฒนาเครื่องมือในการสื่อสารขึ้นมา เพื่อให้คนไทยเข้าใจง่ายภายใน 6 วินาที ว่าอาหารนั้นๆ มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

ทั้งยังกระตุ้นให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ และส่งผลให้เรามีความสุขกับการกินโดยไม่ต้องกังวลกับโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไต โรคความดัน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ (NCDs) โรคที่ทำให้หลายคนอาจต้องควบคุมการกินอาหาร หรือปรับเปลี่ยนจากการกินเพื่อความอร่อยและความสุขเป็นการดูแลรักษาสุขภาพไปโดยปริยาย

cover159 01 Gindee Club กินดี คลับ

“การมีฉลากโภชนาการที่ดีจะเป็นตัวช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น ซึ่งคนทุกกลุ่มควรมีความรอบรู้และความเข้าใจเรื่องการกินที่สมดุลต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน”

“ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน เด็กไทยประสบปัญหาขาดสารอาหาร แต่ทุกวันนี้เด็กไทยเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน หรือได้รับสารอาหารเกินความต้องการของร่างกาย แน่นอนว่าเรามีของอร่อยๆ ให้เลือกกินเยอะขึ้น เรามีความสุขกับการกินของอร่อยๆ แต่จะสุขแท้ได้อย่างไรถ้ากินแล้วส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว”

“เราจึงควรปลูกฝังความรู้เรื่องการกินอาหารที่สมดุลตั้งแต่เด็กๆ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการกินที่เหมาะสม อย่างการตั้งคำถามกับการกินไม่อั้น ที่ทำให้เรากินเอาคุ้มมากกว่ากินเพื่ออิ่มท้อง ทั้งที่พอเรากินอิ่มมากเกินไปอาจจะทำให้ความอร่อยหายไป เหลือไว้แต่ความแน่นท้อง และทำให้เราได้รับพลังงานเกินความต้องการของร่างกาย”

รองศาสตราจารย์ ดร. วันทนีย์ เกรียงสินยศ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตโภชนาการและการกำหนดอาหาร สถาบันโภชนการ มหาวิทยาลัยมหิดล พูดถึงภัยเงียบที่มาพร้อม ‘ความสุขแห่งการกินอาหาร’ ที่หลายคนประมาทและตกหลุมพรางความคุ้มค่าของราคา จนลืมนึกถึงความต้องการของร่างกายทำให้เราได้รับปริมาณน้ำตาล โซเดียม ไขมัน ที่มากเกินความพอดี

“ไม่ใช่ว่ากินไม่ได้เลย แต่มันขึ้นอยู่กับปริมาณที่เหมาะสมด้วย เราจึงต้องดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบ เช่น ช่วงนี้กินของทอดบ่อยไปมั้ย? กินเค็มกินหวานมากไปหรือเปล่า? นี่เป็นส่วนที่เราพยายามขับเคลื่อนการสื่อสารให้ทั่วถึงในผู้บริโภคทุกกลุ่ม”

“เราไม่ได้บอกให้เลิกกินหวาน เค็ม มัน แต่ต้องกินให้พอดี และมีความเข้าใจหลักการกินเพื่อสมดุลอาหารในแต่ละวัน อย่างถ้ามื้อเช้ากินเบเกอรีกับกาแฟ หรือกินอาหารที่ให้พลังงานเยอะ เราก็ต้องลดมื้อกลางวันและมื้อเย็นลง หรือถ้าแพลนจะกินบุฟเฟต์ก็ต้องกินมื้ออื่นๆ ให้น้อยลง”

ในฐานะอาจารย์และนักวิชาการผู้ขับเคลื่อนโครงการ ‘สัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพต่อการสร้างสิ่งแวดล้อมทางอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพ’ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. อาจารย์วันทนีย์ได้นำความรู้และประสบการณ์จากการทำงานส่งเสริมสุขภาพของคนไทยมาหลายสิบปี มาใช้ในการวางรากฐาน การตรวจสอบ และการพิจารณาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้อยู่ภายใต้มาตรฐานอันเข้มงวด นำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีของคนไทย รวมถึงสร้างสิ่งแวดล้อมทางอาหารที่ดีสำหรับคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง

“เหมือนที่คนสมัยก่อนพูดว่า ‘กินผักจิ้มน้ำพริก’ ปริมาณของน้ำพริกที่กินจะไม่เยอะเพราะเราแค่จิ้ม แต่ทุกวันนี้เราตักน้ำพริกราดลงไปทำให้เรากินน้ำพริกเยอะ บางคนกินน้ำพริกมากแต่กินผักนิดเดียว สมดุลก็ไม่เกิด เบเกอรีที่หวานมากๆ ก็ทำให้ชิ้นเล็กลงจะได้ไม่ทำร้ายสุขภาพ ส่วนลูกค้าก็ได้กินของหวานอย่างที่เขาต้องการ มันเป็นเรื่องของการปรับพฤติกรรม ขณะเดียวกันร้านอาหารและภาคอุตสาหกรรมก็ควรให้ความร่วมมือ ผ่านการลดขนาด ลดหวาน ลดเค็ม ลดมัน เพื่อช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมทางอาหารที่ดี”

อาจารย์วันทนีย์ ยังชี้ให้เห็นถึงอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ‘Healthy Diet’ (อาหารที่ดีต่อสุขภาพ) ไม่สามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้อย่างที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งเพราะปัจจัยด้านราคาและสถานที่จัดจำหน่าย

“อาหารที่มีประโยชน์ไม่จำเป็นต้องราคาแพง เพราะทุกคนควรเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย ในราคาที่จับต้องได้ และอาหารเพื่อสุขภาพไม่จำเป็นต้องไม่อร่อย ทุกอย่างต้องสมดุลทั้งปริมาณ คุณค่าทางโภชนาการ รสชาติ และราคา เพื่อให้คนมีความสุขกับการกินอาหารที่ดีได้ทุกวัน โดยมีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพเป็นเครื่องมือสื่อสารที่เข้าใจง่าย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่า อาหารชนิดนั้นๆ ผ่านการตรวจสอบคุณค่าทางโภชนาการอย่างเคร่งครัด”

อีกหนึ่งเครื่องมือยอดนิยมของนักโภชนาการและนักกำหนดอาหารทั่วโลก นั่นคือ ‘ธงโภชนาการ’ ที่นำมาใช้ส่งเสริมการกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวันของร่างกาย ในส่วนของประเทศไทยใช้สัญลักษณ์ ‘พีระมิดหัวกลับ’ เพราะคนไทยเชื่อว่า สิ่งที่อยู่ส่วนบนของพีระมิดเป็นของดีหรือของสูง ขณะที่นักโภชนาการเปรียบเทียบพีระมิดในเชิงพื้นที่ คือพื้นที่มากควรรับประทานให้เยอะๆ ส่วนพื้นที่น้อยควรรับประทานให้น้อยเท่าที่จะทำได้

“ไม่ถึงกับต้องทำตามธงโภชนาการเป๊ะๆ แต่เราต้องรู้จักเลือกกินให้เหมาะสมและปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตของตัวเอง ส่วนเหตุผลที่ธงโภชนาการเป็นพีระมิดหัวกลับ เพื่อให้คนเข้าใจว่าส่วนบนซึ่งเป็นพื้นที่กว้างสำคัญกว่าส่วนล่าง ควรกินในปริมาณที่มากกว่า เพราะทุกวันนี้คนส่วนใหญ่กินผักและผลไม้น้อยกว่าของหวาน วิธีง่ายๆ อย่างการซื้อผลไม้ไว้ในบ้านก็เป็นตัวช่วยที่ดี”

ทว่ากุญแจสู่การมีสุขภาพดีและป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพและเครื่องมือต่างๆ ที่นักโภชนาการนำมาส่งเสริมสิ่งแวดล้อมทางอาหารที่ดี หากแต่เป็น ‘ตัวเรา’ ที่ต้องเป็นนักกำหนดอาหารและดูแลสุขภาพของตัวเอง

“แม้มันจะเป็นเรื่องเก่าที่เราได้ยินกันบ่อยครั้ง แต่เราก็อยากให้คนหันมาออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่ดีและเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย มันจะช่วยให้คุณมีความสุขกับการกินโดยไม่รู้สึกผิด ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และไม่ทำให้เกิด Eating Disorder หรือการกินผิดปกติ”

ศิลปะแห่งการกินเพื่อความสุข จึงอยู่ที่การกินเพื่อให้เราเพลิดเพลินกับอาหารอร่อยที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ กินให้สมดุลในแต่ละวัน และกินในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อช่วยลดขยะอาหาร ทุกอย่างต้องสมดุลทั้งความสุขของเราและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม”

tag:

ผู้เขียน

ด้วยการ ‘กิน’ เป็นพื้นฐานสำคัญของการมีสุขภาพดี ‘กินดี คลับ’ จึงเกิดขึ้นด้วยเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่นำไปสู่การกินอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทั้งตามหลักโภชนาการและความปลอดภัยของอาหาร ผ่านการสื่อสารซึ่งยืนอยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการที่เข้าใจง่าย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.