ด้วยความฝันที่อยากจะทำงานเพื่อสังคมและพัฒนาท้องถิ่นมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย พวงทอง ว่องไว จึงเริ่มต้นชีวิตการทำงานในฐานะ NGOs (องค์กรไม่แสวงผลกำไร) ทันทีที่เรียนจบปริญญาตรีจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ควบคู่กับการเรียนปริญญาตรีใบที่สองในคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
“จุดเริ่มต้นของการทำงานพัฒนา คือการเข้าใจปัญหาชุมชนด้านสุขภาพที่ได้รับผลกระทบจากสังคมนิยม ที่ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ จึงได้เริ่มผันตัวมาทำงานเป็นครูประถม แต่เราทำงานเป็นครูประถมอยู่สักพักก็รู้สึกว่ามันฝืนตัวตนของเรา เลยกลับมาทำงานพัฒนาชุมชนร่วมกับ สสส. ช่วงนั้นเรากลับมาทำงานที่บ้านเกิดที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วก็พบว่า คนพื้นที่มีการใช้สารเคมีในการปลูกพืชและทำการเกษตรเยอะมาก ชาวบ้านก็เจ็บป่วยกันเยอะ เลยคิดว่าน่าจะทดลองปลูกพืชสมุนไพรอินทรีย์ควบคู่กับการให้ความรู้เรื่อง ‘หมอพื้นบ้าน’”
“ด้วยการนำรางจืดที่งานวิจัยพบว่า เป็นสมุนไพรล้างพิษตกค้างในเลือด เพื่อนำมาใช้ดูแลสุขภาพของกลุ่มเกษตรกรที่เจ็บป่วยด้วยพิษจากยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืช ปรากฏว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี เราจึงส่งเสริมให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขับเคลื่อนเรื่องรางจืดต่อ แล้วเราก็เริ่มมีความหวังและมุ่งมั่นอยากจะเดินบนเส้นทางนี้มาตั้งแต่นั้น”
มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย จุดเริ่มต้นของการทำงานพัฒนา คือการเข้าใจปัญหาชุมชนด้านสุขภาพที่ได้รับผลกระทบจากสังคมนิยม ที่ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ จึงได้เริ่มผันตัวมาทำงานเป็นครูประถม
วันหนึ่งชีวิตก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่พวงทองศึกษาต่อระดับปริญญาโท ควบคู่กับการทำงานเป็นผู้ให้ทุนวิจัยของ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) เพื่อติดตามการทำงานของทีมวิจัยในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา
จากนั้นจึงได้ออกมาทำงานกับมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ในปี 2546 ซึ่งเริ่มต้นงานติดตามสนับสนุนองค์กรภาคประชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือ ในการทำงานสุขภาพ ช่วง 6-8 ปีนั้น พวงทองได้ทำงานโครงการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนและการป้องกันเอดส์ในชุมชนของจังหวัดพะเยา รวมถึงทำงานวิจัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนนในภาคเหนือ และได้เริ่มมาทำงานในประเด็นคุ้มครองผู้บริโภค ปี 2558 เป็นต้นมา
“ช่วงนั้นเราทำงานเยอะมาก อาทิตย์หนึ่งกลับบ้านแค่วันเดียวแล้วก็เดินสายไปทำงานตามที่ต่างๆ ใช้ชีวิตกิน-นอนอยู่แต่ในโรงแรม น้ำหนักตัวขึ้นมากว่า 80 กิโลกรัมและมีภาวะไขมันพอกตับ หมอบอกว่ามีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งตับสูงมาก นั่นเป็นจุดพีคที่สุดแล้วในชีวิต”
“เราตัดสินใจถอนเงินทั้งหมดออกจากธนาคารมาเช่าบ้านอยู่ เพื่อเปลี่ยนให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินควบคู่กับการออกกำลังกาย ทำอย่างนั้นอยู่หลายปี จนทุกวันนี้น้ำหนักตัวเฉลี่ย 65 กิโลกรัม และหายจากภาวะไขมันพอกตับแล้ว”
“เราจึงนำความรู้และประสบการณ์จริงที่ได้จากการเจ็บป่วยในครั้งนั้น มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำโครงการ ‘ปรับพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดภาวะอ้วนและน้ำหนักตัวเกินในเด็กประถมศึกษาจังหวัดพะเยา’ ร่วมกับ สสส. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการเราพบว่า ภายในระยะเวลา 3 เดือน หรือช่วงระหว่างเปิดภาคเรียน สามารถลดน้ำหนักเด็กอ้วนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้ถึง 133 คน จากเด็กอ้วนทั้งหมด 259 คน และลดน้ำหนักสูงสุดได้ถึง 8 กิโลกรัม”
“มันเป็นบทพิสูจน์และกำลังใจที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่า ที่ผ่านมาเราเดินมาถูกทางแล้ว และเรายังมุ่งมั่นที่จะสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชนต่อไปในอนาคต”
ประกายสดใสในแววตาของพวงทอง เต็มไปด้วยความหวังและความสุขใจที่ได้เห็นโครงการปรับพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดภาวะอ้วนฯ ประสบความสำเร็จลงด้วยดี ภายใต้ความร่วมมือของครู ผู้ปกครอง เด็กนักเรียน ตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสำคัญที่สุดโครงการนี้ได้สร้าง ‘ครูมาลี นันตาลิต’ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านร่องจว้า อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ผู้ขับเคลื่อนโครงการด้วยจิตวิญญาณ และสานต่อโครงการนี้ด้วยความภูมิใจ
“ครูมาลีเป็นทั้งความหวังและกำลังใจที่ดีสำหรับเรา ครูให้ความสำคัญเรื่องการกินเพื่อสุขภาพมาตลอด แม้โครงการนี้จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ครูมาลีก็ยังคงทำหน้าที่ให้คำแนะนำและส่งเสริมการปรับพฤติกรรมให้เด็กๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้เราอยากสร้างครูมาลีคนต่อไปในทุกโรงเรียน เพราะนี่คือความเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ”
“การได้เห็นทุกคนทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือด้วยความเต็มใจ ทำให้เรามีความสุขมากๆ ที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้คน เด็กนักเรียนและครูหลายคนมีรูปร่างดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น หลังจากที่เราค้นพบความสำเร็จจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายของตัวเอง”
ความฝันลำดับถัดไปของพวงทอง ในฐานะคนต้นแบบแห่งภูกามยาม ผู้มุ่งมั่นเอาชนะโรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกินในเด็ก คือการขับเคลื่อนทางสังคมสุขภาวะเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่ดี ผ่านการสร้างชุมชนต้นแบบและการจัดการอาหารปลอดภัยในชุมชน โดยมุ่งเน้นไปที่แหล่งผลิตอาหารปลอดสาร การปรุงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รสชาติถูกปาก จนถึงการจัดจำหน่ายสินค้า เพื่อนำไปสู่ ‘เมืองแห่งสุขภาวะ’ ที่เชื่อมโยงบ้าน ร้านค้า โรงเรียน และชุมชนเข้าด้วยกัน
“ทั้งหมดที่เราทุ่มเททำงานมาตลอดหลายปี เพราะเราอยากเห็นคนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ครอบคลุมถึงการกินอาหาร การออกกำลังกาย และการมีสุขภาพจิตที่ดี เราต้องกระตุ้นให้คนเห็นถึงข้อดีของ ‘การกินเป็นยา’ ไม่ใช่กินยาเพื่อรักษาโรค ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเสมอ ถึงจะปลูกฝังให้เด็กๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้”
“ในมุมของเรา เราคิดว่าการสร้างคนเป็นสิ่งสำคัญก่อนจะนำไปสู่การสนับสนุนในเชิงนโยบาย ซึ่งนโยบายนั้นต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับยุคสมัย ค่านิยม และเท่าทันสังคมบริโภคนิยม ถึงจะประสบความสำเร็จ
“และเราอยากให้ผู้บริโภคเข้าถึงผักและผลไม้ปลอดสารได้อย่างสะดวกสบาย เพื่อให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน”