จากสถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทยที่ดูเหมือนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจัยสำคัญที่นำมาซึ่งวิกฤตินี้มาจากการกินอาหารจุบจิบ รวมถึงการกินขนมหวาน, น้ำอัดลม, น้ำหวาน และอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น
การกินอาหารดังกล่าว โดยไม่คำนึงถึงพลังงานและสารอาหารที่ได้รับ นอกจากจะทำให้เกิดโรคอ้วนแล้ว ยังทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้อีก ไม่ว่าจะเป็นโรคขาดสารอาหาร, โรคเบาหวาน, ภาวะความดันโลหิตสูง, ภาวะไขมันในเลือดสูง รวมถึงโรคหัวใจ ฯลฯ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นป้องกันไม่ให้เรากินจนลืมตัว การทราบถึงข้อมูลโภชนาการในอาหารที่เรากำลังนำเข้าปากจึงมีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้เราสามารถเลือกซื้อเลือกกินอาหารที่เหมาะสมต่อปัจจัยทางสุขภาพ, ได้รับข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องและเพียงพอต่อการตัดสินใจ รวมถึงสามารถนำข้อมูลผลิตภัณฑ์เปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการได้
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีข้อมูลโภชนาการอยู่ในมือ ทำให้สามารถควบคุมปริมาณอาหารและเลือกกินได้อย่างถูกต้อง แต่มันก็ไม่ง่ายเลยที่จะรู้ว่า สิ่งที่เราบริโภคแต่ละครั้งประกอบไปด้วยสารอาหารอะไร? ปริมาณเท่าไหร่?
ด้วยเหตุนี้ การกินแต่ละครั้ง เราจึงต้องมีผู้ช่วยส่วนตัว ที่จะคอยช่วยแสดงข้อมูลโภชนาการโดยเฉพาะ นั่นคือ แอปพลิเคชั่น ‘FoodChoice’ นั่นเอง
ทั้งนี้ แอปพลิเคชั่น FoodChoice เป็นแอปฯ ที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือกันพัฒนาขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยให้แก่ผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า และเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้ด้านโภชนาการด้วยวิธีง่ายๆ
เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน FoodChoice ติดมือถือหรือแท็บเล็ตเอาไว้ แล้วเปิดแอปฯ จากนั้นนำไปสแกนกับบาร์โค้ดที่อยู่บนผลิตภัณฑ์ ข้อมูลบนฉลากโภชนาการจะถูกแสดงในรูปแบบที่เข้าใจไม่ยาก
นอกจากนี้ ยังมีการเปรียบเทียบข้อมูลกับผลิตภัณฑ์แบรนด์อื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสุขภาพของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วอีกต่างหาก