ในปัจจุบันนี้ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ และหลอดเลือด กลายเป็นโรคที่มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็มาจากพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง เช่น การได้น้ำตาลจากอาหารมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นจากขนม นมรสหวาน น้ำอัดลม ฯลฯ
อย่างไรก็ดี หนึ่งในอาหารที่ผู้คนกินกันเป็นประจำ แต่อาจไม่ได้ใส่ใจกับปริมาณน้ำตาลที่มีเท่าไหร่นัก ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ และหลอดเลือด ด้วยก็คือ ‘ผลไม้’ นั่นเอง
ทั้งนี้ รายงานการศึกษาวิจัยเรื่องปริมาณน้ำตาลในผลไม้ไทย โดยโครงการรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน มีการเปิดเผยว่า จากผลไม้ที่นำมาศึกษาทั้งหมด 82 ตัวอย่าง ซึ่งมีหลากหลายชนิด บางชนิดมีหลายพันธุ์ พบว่า
ผลไม้ที่ทำการศึกษาครั้งนี้มี 2 ชนิดที่มีปริมาณน้ำตาลสูงมาก คือ อินทผาลัม กับพุทราจีนแห้ง โดยในน้ำหนัก 100 กรัม มีน้ำตาลอยู่ถึง 55.30 กรัม และ 51.35 กรัมตามลำดับ ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ผลไม้ทั้ง 2 ชนิด มีองค์ประกอบของน้ำน้อย อย่างไรก็ตาม ผลไม้ที่น้ำตาลสูงกว่าผลไม้ 2 ชนิดดังกล่าวก็คือ มะขามหวาน เนื่องจากมีน้ำตาลมากถึง 58.28 กรัมเลยทีเดียว
สำหรับผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยนั้น จากการศึกษาวิจัยพบว่า เนื้อมะพร้าวอ่อน แตงไทย และเมล็ดบัวสด มีน้ำตาลอยู่น้อยมาก เพียง 2.8, 2.5 และ 1.7 กรัมตามลำดับเท่านั้น ขณะที่กระจับ และแปะก๊วย เป็นผลไม้ที่ไม่พบปริมาณน้ำตาลเลย
ทั้งนี้ ใครที่ต้องการรู้ว่า ผลไม้ไทยที่เรากินกันอยู่หลายๆ ชนิด ไม่ว่าจะเป็นกล้วย มะม่วง ลิ้นจี่ ทุเรียน ฯลฯ มีปริมาณน้ำตาลอยู่เท่าไหร่ สามารถเข้าไปค้นหารายละเอียดกันได้จากลิงค์ www.sweetenough.in.th/images/download/book/23-12-21/sugar-thaifruit.pdf นี้
อย่างไรก็ดี แม้ความหวานของผลไม้จะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเบาหวาน เพราะผู้ป่วยเบาหวานมีความผิดปกติเกี่ยวกับการผลิตอินสุลินของตับอ่อน ทำให้อินสุลินไม่เพียงพอที่จะนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน ระดับกลูโคสในเลือกจึงสูงขึ้น แต่น้ำตาลในผลไม้ก็มีหลายชนิด ได้แก่ ฟรุ๊กโตส กลูโคส และซูโครส โดยเฉพาะฟรุ๊กโตสในผลไม้สามารถเข้าสู่เซลล์ได้โดยไม่ต้องพึ่งอินสุลิน
ดังนั้น ผลไม้ใดที่มีฟรุ๊กโตสมากก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานต้องพิจารณาเลือกกินผลไม้ที่มีฟรุ๊กโตสมากกว่ากลูโคส เช่น สาลี่่น้ำผึ้ง สาลี่หิมะ แอปเปิล เป็นต้น
ส่วนมะม่วงที่มีปริมาณฟรุ๊กโตสมากกว่ากลูโคสเช่นเดียวกันนั้น แต่เราก็ไม่ขอแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานกิน เนื่องจากมีน้ำตาลซูโครสสูง จีงไม่เหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มนี้นั่นเอง