ปัญหาคนเป็นโรคไต คือ ปัญหาใหญ่ระดับโลก และเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน รู้หรือไม่ว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตมากกว่า 8 ล้านคน ซึ่งเหตุผลสำคัญก็มาจากพฤติกรรมการกิน ที่กินอาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป ทำให้เกิดผลเสียไปถึงไตนั่นเอง
ดังนั้น การดูแลไต ให้สุขภาพไตแข็งแรง จึงต้องเริ่มต้นจากการปรับและเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเสียใหม่ โดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม มีแนวทางในการกินที่ช่วยให้ไตไม่พังมาบอกเอาไว้ ดังนี้
- เวลากินชาบูให้เน้นเนื้อไม่เน้นซุป เพราะในน้ำซุปมีโซเดียมสูง ยิ่งต้มนาน ยิ่งงวด ยิ่งเค็ม
- ดื่มน้ำเปล่าให้พอดี เนื่องจากจะช่วยให้ร่างกายขับโซเดียมออกมาทางปัสสาวะ ขณะเดียวกัน ก็ควรออกกำลังกายเกิน 1 ชั่วโมงควบคู่ไปด้วย เพราะจะช่วยขับโซเดียมออกได้มากขึ้นทางเหงื่อ
- ถ้าจัดหนักมื้อไหน มื้อต่อไปควรเบาลงบ้าง เพื่อให้ไตได้พัก
- เวลาปรุงอะไรให้ลดหวาน มัน เค็ม ลง
- เมื่อต้องสั่งอาหารมากิน ควรเน้นกับคนทำให้ “เค็มน้อยๆ ไม่ใส่ผงชูรส”
- พอซื้ออาหารมาแล้ว เป็นไปได้ก็อย่าปรุงเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำจิ้ม น้ำปลา หรือซอสต่างๆ
- กินผักผลไม้เยอะๆ เพราะดีต่อไต ช่วยต้านโซเดียม ช่วยให้ความดันลดลง
- ของหมักของดองและอาหารแปรรูป ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง พยายามกินของสดของใหม่เข้าไว้จะดีกว่า
อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่เริ่มไม่แน่ใจว่า ตัวเองกำลังมีปัญหาเรื่องไต หรือตกอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงจะไตพังรึเปล่า? ควรสังเกตร่างกายผ่าน 3 สัญญาณเตือนที่สำคัญ ได้แก่
- มักมีอาการบวมที่ขา เพราะไตทำงานลดลง ทำให้น้ำส่วนเกินสะสมตามร่างกาย
- ความดันเลือดสูงจากภาวะน้ำและเกลือเกิน
- ปัสสาวะผิดปกติ คือ ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน มีเลือดปนในปัสสาวะ และปัสสาวะมีฟอง
ถ้าใครมีอาการดังกล่าวปรากฏขึ้น เราขอแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ใจว่า กำลังเสี่ยงไตพังหรือไม่? ทันที