7 หลักการเกษตรกรรมยั่งยืน

แม้ภาคการเกษตรจะเป็นแหล่งผลิตอาหารป้อนประชากรโลกที่สำคัญ แต่ความจริงที่หลายคนอาจไม่ทราบก็คือ ภาคการเกษตรในปัจจุบันได้สร้างปัญหาขึ้นมามากมาย 

รู้หรือไม่ว่า พื้นที่การผลิต 1 ใน 3 ของโลกอยู่ในภาวะดินเสื่อมโทรม เพราะมีการใช้ประโยชน์จากระบบเกษตรกรรมแผนปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ระบบเกษตรกรรมแผนปัจจุบันนี้เอง ยังเป็นระบบที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไปด้วย

หากทุกอย่างยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ ก็มีความเป็นไปได้มากว่า ภาคการเกษตรจะต้องเผชิญกับปัญหาพื้นที่ผลิตอาหารไม่เพียงพอ รวมถึงระบบนิเวศเสื่อมโทรมลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารทั้งสิ้น

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลายประเทศได้มีการพัฒนาระบบเกษตรกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งรูปแบบหนึ่งที่ตอบโจทย์ได้ดีก็คือ “ระบบเกษตรกรรมยั่งยื่น” นั่นเอง

ทั้งนี้ ระบบเกษตรกรรมยั่งยื่นเป็นระบบที่ให้ชุมชนมีการพัฒนารูปแบบการเกษตรบนฐานของ “ภูมินิเวศสังคมวัฒนธรรม” รวมทั้งบนฐานทรัพยากรในแต่ละด้าน ที่เกษตรกรและภูมินิเวศสังคมวัฒนธรรมนั้นๆ มีอยู่ แต่จะให้คุณค่าและมูลค่าที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน อย่างน้อยก็ก่อให้เกิดการพึ่งตนเอง เป็นธรรม มีการเจริญเติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

หลักการของระบบเกษตรกรรมยั่งยื่นแบ่งออกเป็น 7 หัวข้อใหญ่ๆ ได้แก่

1. อาหาร, ลำดับความสำคัญในการผลิต และความมั่นคงทางอาหาร :  อาหารเป็นสิทธิมนุษยชนที่ผู้คนสามารถเข้าถึงอย่างเพียงพอ, ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายในชุมชน, สร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม โดยคำนึงถึงระบบนิเวศและวิธีการที่ยั่งยืน

2. ทรัพยากรธรรมชาติ, ทรัพยากรการผลิต : ชุมชนมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากร เพื่อรักษาการบริการทางนิเวศบนฐานวัฒนธรรมและค่านิยมชุมชน การเข้าถึงทรัพยากรควรจัดการผ่านการปฏิรูปภาคการเกษตร เพื่อความเป็นธรรมและเท่าเทียม

3. รูปแบบการผลิต, ปัจจัยการผลิต : ทำการผลิตผสมผสานในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่ำ พึ่งพิงปัจจัยการผลิตภายในไร่นา ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ในกระบวนการผลิต

4. เกษตรกร, ชุมชน : เกษตรกรรายย่อยเป็นส่วนสำคัญในการปกป้องความมั่นคงทางอาหารของชุมชน, บทบาทของเกษตรกรในฐานะผู้ผลิตมีความสัมพันธ์กับชุมชนอย่างใกล้ชิดผ่านงานพัฒนาชุมชนที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน

5. ระบบอาหารในชุมชน, การปฏิรูปการเกษตร : ระบบอาหารในชุนชนได้รับการปกป้องผ่านระบบการผลิตที่หลากหลาย บนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นและการผลิตเชิงเกษตรนิเวศ, การปฏิรูปการเกษตรที่มุ่งกระจายการถือครองที่ดินและทรัพยากรการผลิตให้เกษตรกรรายย่อย

6. การค้า, ราคา : ส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม โดยเริ่มจำหน่ายที่ตลาดชุมชนก่อน หากเหลือจึงขายที่ห่างไกลออกไป ส่วนราคาก็ต้องมีความเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค

7. นโยบายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ : นโยบายการเกษตรและสิ่งแวดล้อมไม่สามารถแยกออกจากกันได้ การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่มีความเชื่อมโยงในระบบนิเวศ

tag:

Infographic ที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลโภชนาการสำคัญอย่างไร?

นมแม่ vs นมผงสูตรดัดแปลง แบบไหนเหมาะกับเด็กทารกมากกว่ากัน?

ผลกระทบต่อร่างกายจาก 3 สารเคมีอันตรายในการเกษตร

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.