
อากาศที่เปลี่ยนแปลง อุณภูมิที่เปลี่ยนไป และภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้น คือสัญญาณเตือนฉุกเฉินที่โลกใบนี้ได้แจ้งล่วงหน้ามาหลายสิบปี ส่งผลต่อความมั่นคงในหลายด้าน ตั้งแต่อากาศ อาหาร และชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก
ในเวลานี้ มีผู้คนจำนวนมากกำลังค้นหาวิธีกู้โลก ที่สามารถคืนระบบนิเวศ และสร้างความมั่นคงทางอาหารได้ด้วย นั่นก็คือ ระบบการทำเกษตรเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นระบบผลิตอาหารที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ เน้นความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ทั่วโลกได้หันมาให้ความสำคัญ และได้ใช้ระบบนี้ในรูปแบบที่แตกต่างกันตามสภาพภูมิประเทศ
องค์การสหประชาชาติระบุว่า ฟาร์มที่ทำงานร่วมกับธรรมชาติ ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่า นอกจากนี้ยังทำให้ดินมีสุขภาพดี ทำให้มีผลผลิตต่อเนื่องและมากขึ้น
การที่ไม่ใช้สารเคมีก็ช่วยลดการก่อเกิดมลพิษต่างๆ ฟื้นฟูระบบนิเวศและผืนป่า ทั้งยังทำให้เกิดคลังอาหารและยาแผนโบราณ ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งยังช่วยปกป้องโลกใบนี้ได้
อย่างที่รัฐอานธรประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย ได้ใช้แนวทางเกษตรนิเวศ ด้วยการทำเกษตรกรรมธรรมชาติแบบไร้งบประมาณ Zero-Budget Natural Farming (ZBNF) ตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งเป็นการทำฟาร์มต้นทุนต่ำ ปราศจากการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงแห่งแรกของอินเดีย ที่ใช้วิถีการดูแลแบบโฮมเมดสไตล์ชาวอินเดีย
เช่น ปรุงดินด้วยวัสดุจากท้องถิ่นอย่างมูลวัว ปัสสาวะ เศษพืช การคลุมดินด้วยหญ้า การเติมอากาศในดินหรือที่เรียกว่า waaphasa ด้วยการปล่อยให้สิ่งมีชีวิตในดิน เช่น ไส้เดือนและราก ดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ ท่ามกลางอากาศและความชื้นที่พอเพียงและสมดุล

ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อดินฟ้าอากาศทั้งรายปี รายเดือน รายวัน และรายฤดูกาล ทำให้ภาคเกษตรกรรมสั่นไหว สะเทือนถึงความความมั่นคงทางอาหารและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกร
จากข้อมูลของ ดร.จตุพร เทียรมา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระบุว่า ในช่วง 10 ปีหลัง ด้วยอิทธิพลของโลกร้อน ส่งผลให้ฝนตกมากขึ้นทั่วทั้งภาคอีสาน เฉลี่ยปีละ 51 มิลลิเมตร โดยเฉพาะทางอีสานตอนล่าง ทั้งยังเกิดภัยแล้งในช่วงฤดูฝนราวเดือนมิถุนยายนจนถึงเดือนกรกฎาคม ในขณะที่อุณหภูมิทั่วภาคอีสานเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 0.81 องศาฯ เฉลี่ยรายเดือนสูงสุด 2 องศาฯ
อันที่จริงไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะที่ภาคอีสาน แต่เป็นเหมือนกันทั่วโลก ดังนั้นหนทางที่จะกู้วิกฤตนี้ได้ ขึ้นอยู่กับสองมือและระบบเกษตรเชิงนิเวศ ที่มุ่งเน้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
อย่างการทำเกษตรแบบปกาเกอะญอ ด้วยการใช้ภูมิปัญญาทำกินอยู่กับธรรมชาติอย่างสันติ ชาวบ้านเรียนรู้เรื่องราวจากธรรมชาติ ปลูกทุกอย่างในแปลงเดียว ปลูกให้เป็นเหมือนป่า มีสัตว์ป่ามาร่วมใช้พื้นที่ เกิดปุ๋ยคอกตามธรรมชาติ วนกลับมามีเมล็ดพันธุ์ที่หลากหลาย มีผลผลิตกว่า 70 ชนิด ใช้จิตวิญญาณในการปลูกพืชผักและสร้างป่า เช่น เมื่อใช้และกินน้ำต้องรักษาน้ำ ใช้ดินก็ต้องรักษาผืนดินเช่นกัน
ส่วนทางภาคใต้ของไทย เกษตรนิเวศได้เปลี่ยนโลกใบเล็กในสวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน สวนมะพร้าว ให้กลายเป็นโลกใบใหม่ที่มีอาหารเพิ่มขึ้น และอากาศก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
อย่างที่กลุ่มเกษตรพื้นที่ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ได้ใช้เกษตรนิเวศสไตล์ ‘ไร้ระเบียบแต่มีระบบ’ ทำเกษตรแบบเกื้อกูลธรรมชาติ ดูแลและไม่ทำลายระบบนิเวศ ด้วยการทำเกษตรร่วมยาง โดยในช่วงแรกทำเป็น ‘ป่าปล่อย’ ปล่อยให้ธรรมชาติเติบโต ฟื้นฟู และจัดการกันเอง
สิ่งที่ได้คือ ‘ความมั่นคงทางอากาศ’ ที่ช่วยลดอุณหภูมิบริเวณสวนได้ ทั้งยังได้ ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ กลับมา เพราะได้ผลผลิตที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผักพื้นบ้าน ผักตามแนวร่องสวน พืชเลื้อย และผลไม้นานาชนิด
ต่อมาทำเป็น ‘ป่าปลูก’ ปลูกพืชผสม เช่น กาแฟ โกโก้ และไม้เศรษฐกิจ เพื่อสร้าง ‘ความมั่นคงทางรายได้’ สำหรับครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
มีข้อมูลน่าสนใจจาก รศ.ดร.ร่วมจิตร นกเขา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ได้ทำการศึกษาและวิจัยการส่งเสริมปลูกข้าวไร่ในกลุ่มวิสาหกิจข้าวไร่ชุมโค จังหวัดชุมพร พบว่า การปลูกข้าวไร่แซมในพืชเชิงเดี่ยวในสภาพร่มเงา ช่วยลดอุณหภูมิกลางแจ้งรายชั่วโมงระหว่างวันได้
เช่น ในช่วงเวลาเที่ยงตรง อุณหภูมินอกสวนประมาณ 43 องศาฯ แต่ในแปลงมะพร้าวเหลือ 38 องศาฯ ในแปลงปาล์มน้ำมันเหลือประมาณ 40 องศาฯ และในแปลงยางพาราเหลือ 31 องศาฯ และจะค่อยๆ ลดลงในช่วงตอนเย็นจนถึงกลางคืน
นอกจากนี้ยังทำให้เกษตกรผู้ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสวนมะพร้าว มีพันธุ์ข้าวไร่ที่แข็งแรงต่อสภาพอากาศท้องถิ่น และสามารถปลูกได้ทั้งปี

และที่สำคัญที่สุด เกษตรนิเวศจะเป็นหนทางที่ทำให้เกษตรกรสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อไปได้อย่างมั่นคง และช่วยชะลอวิกฤติโลกเดือดให้ช้าลงกว่าที่เคยเป็นมา
ที่มาข้อมูล
– www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=756980869554376