เมื่อเอ่ยถึง ‘ผักพื้นบ้าน’ หลายคนอาจจะนึกหน้าตาและรสชาติของผักเหล่านี้ไม่ค่อยออก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผักพื้นบ้านมักเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ การเติบโตขึ้นอยู่กับท้องถิ่น และเกี่ยวข้องกับฤดูกาล ผลผลิตจึงมีไม่มาก
บวกกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งโลกร้อน ฝนหลงฤดู น้ำท่วมฉับพลัน และภัยแล้งที่เริ่มกินเวลายาวนาน ผักพื้นบ้านจึงค่อยๆ หายไป ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ผักพื้นบ้านคือหนึ่งในผู้ช่วยสำคัญที่ดีต่อเรา สิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้
#ผักพื้นบ้านให้คุณค่าทางโภชนาการสูง
ผักพื้นบ้านส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค อ้างอิงจากการศึกษาเรื่องสารอาหารของผักพื้นบ้าน ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี 2009-2011 บริเวณพื้นที่ป่าของจังหวัดกาญจนบุรี
โดยเก็บตัวอย่างผักพื้นบ้านกว่า 40 ชนิดจาก 172 ชนิด ที่สามารถให้เกษตรกรนำไปปลูกเพื่อจำหน่ายต่อได้พบว่า ผักพื้นบ้านมีสารอาหารสูงกว่าผักตามท้องตลาดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผักหวานป่า แจง และตะคึก ให้โปรตีนสูง มีใยอาหาร และวิตามินซีสูง ทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างฟลาโวนอยด์ และสารแอนโทไซยานิน ที่ดีต่อเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย
#ผักพื้นบ้านดีต่อโลก
ส่วนใหญ่แล้วผักพื้นบ้านจะเติบโตเองตามธรรมชาติ บางชนิดมีความคงทนต่อสภาพอากาศ แข็งแรงทนทาน สามารถดูแลตัวเองได้จากระบบรากที่แข็งแรงผ่านแร่ธาตุและน้ำใต้ดิน บางชนิดเติบโตได้ง่ายตามริมรั้วของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นมะขามป้อม มะเม่า มะกอกป่า ว่านเปราะ จามจุรีสีทอง (เน้นกินยอดอ่อนอร่อยคล้ายผักหวาน) กระพี้จั่น (ยอดอ่อนสีน้ำตาลอมแดง) ผักกูด กะทือ (มีฤทธิ์คล้ายขิง นิยมกินหน่ออ่อนและดอกอ่อน) และส้มกบ (ผักรสเปรี้ยว) รวมไปถึงผักพื้นบ้านที่เป็นไม้ยืนต้นบางชนิด ก็มีคุณสมบัติดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ได้ดี อาทิ มะเกลือ หูกวาง เป็นต้น
#แต่โลกร้อนทำพืชผักพื้นบ้านหดหาย
เหตุผลที่กระทบกันเป็นลูกโซ่ของโลกร้อน คือเกิดส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม และสะเทือนไปถึงความมั่นคงทางอาหารโดยตรง เนื่องจากฤดูกาลที่แปรปรวนมากขึ้น มีผลต่อภาคเกษตรกรรมโดยเฉพาะระบบเกษตรอินทรีย์เป็นอย่างมาก ตั้งแต่เรื่องฝนตกกระจุก ตกไม่กระจาย ตกครั้งหนึ่งแล้วเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ไม่ก็เจอความแห้งแล้งยาวนาน เกษตรกรแบกรับความเสี่ยง ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ได้ผลผลิตน้อย ควบคุมคุณภาพได้ยาก กระทบกระเทือนไปสู่คลังอาหาร โดยเฉพาะพืชผัก และพันธุ์ข้าว รวมไปถึงผักพื้นบ้าน
จากข้อมูลของกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต พบว่า ผักพื้นบ้านเช่นหน่อไม้ ปีนี้หายไปกว่า 30% ปกติจะมีผักพื้นบ้านกว่า 70 ชนิด แต่ด้วยสถานการณ์โลกร้อน ส่งผลให้เหลือผักพื้นบ้านที่ปลูกได้เพียง 40 กว่าชนิดเท่านั้น และในปัจจุบันมีผลผลิตของผักพื้นบ้านลดลงเกือบ 50% จากเดิมเมื่อปี 2564 มีผลผลิตส่งขายเฉลี่ยกว่า 12 ตันต่อเดือนปัจจุบันเหลือประมาณ 6 ตันต่อเดือน
#เพิ่มพื้นที่ให้ผักพื้นบ้านได้เติบโต
เพื่อกู้สถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหารและความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร จำเป็นต้องมีการปรับตัวด้วยสร้างระบบเกษตรนิเวศในแปลงเกษตรของเกษตรกรให้สมบูรณ์ เน้นความหลากหลายของพืชพันธุ์ในฟาร์ม รวมถึงการปลูกพืชผักพื้นบ้านในบริเวณรอบบ้านให้มากขึ้น
เพราะการปลูกผักพื้นบ้าน ดูแลง่ายเพียงแค่ให้เติบโตด้วยตัวเอง ไม่ค่อยมีโรคพืชหรือแมลงศัตรูพืชมารบกวน ต้นทุนการผลิตต่ำหากเทียบเท่ากับปลูกผักใบ (ผักจีน) นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถเก็บเกี่ยวไว้บริโภค กินอิ่ม และกินเป็นยาได้อีกทาง
#ความมั่นคงทางอาหารยั่งยืนเพราะมีผักพื้นบ้าน
เมื่อพืชผักเหล่านี้มีความทนทานในป่าได้ดี หากมีการอนุรักษ์พันธุ์พืชให้มากขึ้น พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรท้องถิ่นปลูกให้มากขึ้น ปลูกกินเอง เหลือขาย สร้างรายได้ให้ครอบครัว รวมไปถึงวิธีประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคนำผักพื้นบ้านไปปรุงอาหาร กินอร่อย มีความสุข สุขภาพดี ก็จะทำให้ผักพื้นบ้านเข้ามาอยู่ในวิถีการผลิตของเกษตรกร และอยู่ในการบริโภคของคนทั่วไปได้มากขึ้น
ในขณะเดียวกันก็ยังได้สนับสนุนเกษตรกร เกิดเป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค กลายเป็นระบบหมุนเวียนการปลูกสู่การกิน ผู้คนก็แข็งแรง โลกใบนี้ก็แข็งแกร่ง ระบบนิเวศจะสมดุล ความมั่นคงทางอาหารก็จะยั่งยืนได้ในระยะยาว
ที่มาข้อมูล:
– www.facebook.com/SAF.Thailand/videos/644771500746751
– www.facebook.com/photo/?fbid=705374264961267&set=pcb.705404441624916
– https://www.biothai.net/biologic…/perennial-vegetables/1783