คาร์บอนเครดิตไม่ช่วยลดโลกร้อน นักวิชาการชี้ ไทยเสี่ยงขาดพืชอาหาร-แล้งจัด

330270 edited Gindee Club กินดี คลับ

นักวิชาการสิ่งแวดล้อม-เกษตร ระบุปัญหาโลกร้อนทวีความรุนแรงแบบดอกเบี้ยทบต้น ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มแย่ เสี่ยงต่อภัยพิบัติทางภูมิอากาศอันดับ 9 แนะทั่วโลกร่วมมือจัดการด่วน ใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทน เปลี่ยนเกษตรแปลงใหญ่สู่เกษตรนิเวศ เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ย้ำชัด คาร์บอนเครดิตไม่ได้ผลในการช่วยลดโลกร้อน

ดร.อัศมน ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวในวงสัมมนา เรื่อง “นโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กับการปรับตัวในภาคเกษตร” ที่บ้านสวนซุมแซง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกไม่ต่ำกว่า 30 ปี ช่วงแรกๆ ทุกคนมองว่า เป็นเรื่องไกลตัว อาจจะไม่เกิดขึ้นจริง หรือเกิดแค่บางพื้นที่

330261 edited Gindee Club กินดี คลับ

ต่อมาจึงรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดจากคน ภาคที่สำคัญที่สุดก็คือพลังงาน เช่น เครื่องปรับอากาศ เราใช้วันนี้ สิ่งที่ปล่อยออกไปอยู่บนบรรยากาศ 10-20 ปี แม้ต้นไม้และทะเลจะช่วยดูดซับไว้ แต่ส่วนที่เหลืออยู่ก็มากพอที่จะทำให้โลกร้อนขึ้น และมีความเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นเข้ามาด้วย อาทิ น้ำท่วม น้ำแล้ง

ดร.อัศมน กล่าวอีกว่า แม้จะมีการพูดคุยกันระดับนานาชาติถึงสาเหตุและแนวทางแก้ไขเกิดเป็น “กรอบอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสหประชาชาติ” แต่ผลกระทบยิ่งรุนแรงมากขึ้น เพราะกรอบนี้ไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ทำให้ต้องมานั่งพูดคุยกันใหม่ ให้แต่ละประเทศกำหนดเป้าหมายว่าจะลดก๊าซคาร์บอนเท่าใด ซึ่งประเทศร่ำรวยก็มองว่า การลดต้องลงทุนมาก เลยเอาเงินไปให้ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อซื้อคาร์บอนเครดิต ลดในประเทศกำลังพัฒนาแทน

“ไทยเองก็มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% ก่อนขยับขึ้นมา 40% ในปัจจุบัน มีแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ครอบคลุมไปถึงปี ค.ศ.2050 มีกรอบ 3 ส่วน คือ

1. ลดก๊าซคาร์บอนในภาคส่วนพลังงาน ภาคส่วนอุตสาหกรรม ภาคส่วนของขยะ หรือภาคส่วนอื่นๆ

2. เรื่องสุขภาพของประชากร

3. เรื่องการท่องเที่ยว การจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

“แต่ต้องยอมรับว่าโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ และวันที่ร้อนก็เพิ่มขึ้น เดิมคือเดือน มี.ค.-เม.ย. ตอนนี้ พ.ค.ก็ยังร้อน คาดว่าอีก 20-30 ปี อุณหภูมิในช่วงที่ปลูกข้าว ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค.จะขยับ 2-4 องศาเซลเซียส และมีนักวิชาการบางคนกล่าวว่า ข้าวหรือพืชบางชนิดอ่อนไหวต่ออุณหภูมิในการผสมเกสร ภาคเกษตรจึงเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย”

ด้าน อ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการอิสระ กล่าวเสริมว่า คนที่รู้ครั้งแรกว่า โลกร้อนขึ้น คือบริษัทขายน้ำมัน ตั้งแต่ พ.ศ.2520 แต่ปกปิดไว้ 11 ปี ระหว่างนั้นก็ตั้งงบ 30 ล้านเหรียญฯ ตั้งนักคิดขึ้นมาบิดเบือนข้อมูล ทำให้คนสับสน ความจริง 75% ของโลกร้อน เกิดจากพลังงาน สหรัฐอเมริกาปล่อยคาร์บอนฯ 15 ตัน/คน/ปี คนไทยปล่อย 5 ตัน/คน/ปี นั่นคือไฟฟ้า 1 หน่วย ปล่อยคาร์บอนครึ่งกิโลกรัม ขณะที่ต้นไม้ขนาดใหญ่ดูดซับได้แค่ 20 กก./ปี เราต้องปลูกต้นไม้มากเท่าใด และใช้พื้นที่ตรงไหน จึงจะดูดซับได้เท่ากับพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ถ้าเราไม่เปลี่ยนพลังงาน

330269 edited Gindee Club กินดี คลับ

“จากการศึกษามีโมเดลว่า ประเทศไทยจะเจอความร้อนมากขึ้น 10 เท่า ขณะที่บางประเทศเจอ 3 เท่า ข้อมูลเมื่อปี 2563 พยากรณ์ว่า มีโอกาส 20% ที่จะถึง 1.5 องศาเซลเซียส ภายใน 5 ปี ปี 2565 เพิ่มโอกาสเป็น 50% ล่าสุดปีนี้เพิ่มเป็น 66% ขณะที่น้ำทะเลแถวที่จะเกิดเอลนีโญ คือแถบอเมริกาใต้ เปรู ฝั่งตรงข้ามกับอินโดนีเซีย และไทย

“ความร้อนเพิ่มเร็วแบบสูตรดอกเบี้ยทบต้น จนนักวิทยาศาสตร์ตกใจ เพราะปรากฏการณ์ความร้อนเป็นเหมือนโดมิโน ล้มทับกันเป็นทอดๆ แบบเพิ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซ้ำไทยยังเป็น 1 ใน 42 ประเทศที่ถูกเตือนให้ระวังเรื่องการขาดแคลนอาหาร และเสี่ยงเกิดความแห้งแล้ง”

นักวิชาการอิสระชี้ว่า ผลการประเมินขององค์กร CAT (Climate Action Tracker) 37 ประเทศ ซึ่งทั้ง 37 ประเทศนี้ปล่อยคาร์บอนประมาณ 90% ของทั้งโลก ระบุว่า ไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่แย่ ซึ่งกลุ่มนี้ ได้แก่ รัสเซีย อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ และไทย ทั้ง 5 ประเทศ ทำให้อุณหภูมิโลกสูงถึง 4 องศาเซลเซียส และประเทศไทยยังถูกจัดอันดับเป็นที่ 9 ของโลกที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางภูมิอากาศอีกด้วย

ขณะเดียวกันเมื่อดูการใช้พลังงานไฟฟ้า อ.ประสาท กล่าวว่า ประเทศไทยใช้ประมาณ 2 แสนล้านหน่วยทั่วประเทศ ถ้านำแสงแดดมาใช้แทน จะลดค่าไฟฟ้า ลดโลกร้อนได้มหาศาล ประกอบกับแสงอาทิตย์มีมากกว่าที่มนุษย์ใช้ 10,000 เท่า ถ้าคนทั้งโลกใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งปี ก็จะเท่ากับแสงอาทิตย์ที่ส่องมาถึงโลกเพียง 8 นาทีเท่านั้น แต่ปัญหาคือเราไม่มีเทคโนโลยีที่จะไปเก็บพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้

330272 edited Gindee Club กินดี คลับ

อย่างไรก็ตามในการศึกษาของสแตนฟอร์ด บอกว่า เราจะเป็นซูเปอร์พาวเวอร์ ใช้พลังงานลม แดด แบตเตอรี่ โดยลงทุนเพิ่มราว 1% ของ GDP ติดต่อกัน 10 ปี ก็จะมีพลังงานใช้เหลือเฟือ นำมาใช้อะไรก็ได้หมด ปัญหาโลกร้อนจะจบลงภายในปี 2035 เพราะลดคาร์บอนได้ถึง 90%

ขณะที่ ดร.กฤษฎา บุญชัย จากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา อธิบายว่า ก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน มาจากระบบทุนนิยม โดยเฉพาะ 2 กลุ่มใหญ่ที่เป็นฐานหลัก คือกลุ่มทุนนิยมพลังงาน กับกลุ่มทุนนิยมเกษตร แต่ยังไม่สามารถจัดการอะไรได้มากนัก เพราะโลกยังถูกขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมและมีระบบผูกขาดขนาดใหญ่ของโลกโดย 2 กลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่

ดร.กฤษฎา ชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมีหลายด้าน อาทิ 1. ทำให้เกิดภาวะแห้งแล้งสุดขั้ว ซึ่งเรากำลังจะเจอในช่วง 1-2 ปีนี้ 2. ฤดูกาลอุตริ อยู่ดีๆ ฝนตกหนัก บางช่วงเกิดพายุ หรืออุทกภัยอย่างรุนแรง 3. ผลผลิตการเกษตรลด 4.เกิดไฟป่า 5.ผลกระทบด้านสุขภาพ 6.ระบบนิเวศที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานถูกทำลายจากภัยธรรมชาติ 7.การแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช รวมทั้งเชื้อโรค 8.ความขัดแย้งเรื่องทรัพยากร เช่น การแย่งน้ำทำนา 9.การย้ายถิ่น มีผู้ลี้ภัยทั้งจากการสูญเสียการผลิต และลี้ภัยเพราะเกิดจากการทำลายของระบบนิเวศ 10.น้ำสะอาด น้ำจืด ลดลง 11. ความหิวโหย ความยากจน

ดังนั้นถ้าอยากหยุดยั้งผลกระทบ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบหักดิบ อุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรเคมี เกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็เปลี่ยนไปสู่เกษตรเชิงนิเวศ เพราะที่ผ่านมา มีงานวิจัยที่แสดงผลชัดเจนว่า คาร์บอนเครดิตไม่ได้ผลในการช่วยลดโลกร้อน

330271 edited Gindee Club กินดี คลับ

สำหรับภาพรวมแผนเป้าหมายลดก๊าซที่ไทยเสนอกับ UN นั้น ดร.กฤษฎา ระบุว่า ไทยไม่ได้พูดถึงภาคเกษตร เน้นไปที่ภาคพลังงาน ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม แต่ล่าสุดแผนของประเทศเริ่มกำหนดลดก๊าซในภาคเกษตรราว 1 ล้านตัน เพื่อทำให้เกษตรกรไทยมีสมรรถนะ มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ทว่าจากการประเมินของทีมวิชาการเรื่องการปรับตัวภาคเกษตร พบว่าคนรับรู้น้อยมาก แผนของประเทศยังมาไม่ถึงเกษตรกร

“ภาคเกษตรจะได้รับผลกระทบรุนแรงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จึงต้องรีบวางแผน ว่าจะตั้งรับปรับตัวกันอย่างไร โดยอาศัยทั้งเรื่องพันธุกรรม การจัดการน้ำ ดิน ระบบนิเวศต่างๆ มีงานศึกษาของมหาวิทยาลัยในมาเลเซีย บอกว่าปั จจัยหลักของการปรับตัวเกษตรกรอาเซียนมีอย่างน้อย 5 เรื่อง คือ

“1. ต้องมีระบบนิเวศ หมายถึงดิน น้ำ พันธุ์ที่มีความมั่นคง มีทางเลือกหลากหลาย 2. เกษตรกรที่มีการปรับตัวได้ดี มักจะเป็นเกษตรกรที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ไม่มีหนี้สินมากจนไม่มีอิสระในการผลิต 3. มีความรู้ ติดตามข้อมูลข่าวสารการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อนำมาสู่การวางแผนของตัวเอง 4. มีความยืดหยุ่นในการปรับตัว 5. มีเครือข่ายทางสังคมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งอยากให้นำ 5 ปัจจัยนี้มาวางเป็นแผนปฏิบัติการว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรไทยมีศักยภาพ มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น” ดร.กฤษฎา กล่าวย้ำ

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.