การลงทุนสร้างเด็กไทยให้มีคุณภาพต้องเริ่มตั้งแต่แรกเกิด น่าดีใจที่การเลือกตั้งที่ผ่านมา สังคมไทยได้เห็นพรรคการเมืองชูนโยบายที่จะเข้ามาดูแลเด็กต่ำกว่า 3 ปี และผลักดันสิทธิลาคลอดให้ได้ 6 เดือน หรือสิทธิลาคลอด 180 วัน
ปัจจุบัน พระราชบัญญติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 เรื่องลาเพื่อคลอดบุตร มาตรา 41 กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน
“ช่วงเวลายังไม่เพียงพอสำหรับแม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน” นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เคยกล่าวยืนยันไว้ในงานประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 8 ซึ่งจัดโดยมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
การที่แม่ต้องกลับไปทำงานหลังใช้สิทธิลาคลอดหมดแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่ตัดสินใจใช้นมผสมหรือให้อาหารอื่นทดแทนนมแม่ ยิ่งช่วงสถานการณ์โรคโควิดแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เช่นกัน เพราะ มีการแยกลูก แยกแม่หลังคลอด ทำให้ทารกเสียโอกาสในการเริ่มต้นกินนมแม่
อุปสรรคข้างต้น ทำให้สถานการณ์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำการสำรวจโดยองค์การยูนิเซฟ พบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยอยู่ที่ 14% เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว อยู่ที่ 44% กัมพูชา 66% มาเลเซีย 40% อินโดนีเซีย 51%
ถามว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมสถานการณ์การให้นมแม่ของประเทศไทย ถึงไม่ดีขึ้น ทั้งๆที่โครงสร้างระบบสาธารณสุขของเรา ถือว่าดี เศรษฐกิจก็ดี
คำถาม คืออะไร?
อธิบดีกรมอนามัย วิเคราะห์ให้เห็นคำตอบของคำถามข้างต้นว่า การให้ความรู้และทักษะแก่แม่ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นในตนเองที่มีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ การสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ก็ยังไม่สามารถสร้างความตื่นตัวทางสังคมในวงกว้างได้ อีกทั้งบุคลากรบางส่วนยังขาดทักษะดูแล ให้ความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
สุดท้ายสถานพยาบาลบางแห่งยังไม่สามารถดำเนินงานตามแนวทางโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก (BFHI) ได้สำเร็จ
”การผ่าตัดคลอดโดยไม่จำเป็น บางโรงพยาบาลพบว่า แม่ผ่าตัดคลอดเกือบ 100% และกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่แยกแม่แยกลูกออกจากกัน หรือแม้การคลอดปกติก็แยกแม่แยกลูกเร็วเกินไป ทำให้การให้นมภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด ได้เสียโอกาสตรงนี้ไป” นพ.สุวรรณชัยระบุ และกล่าวว่า
“การดำเนินการทางนโยบาย จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายของประเทศไทยในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การผลักดันสิทธิลาคลอดแก่แม่ 180 วัน และตั้งเป้าปี 2568 ประเทศไทยต้องมีทารกร้อยละ 50 ได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน รวมไปถึงการมี อสม.ให้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงนมแม่ด้วย”
• พัฒนาคนในศตวรรษที่ 21 – ลงทุนกับเด็กให้ผลคุ้ม
ขณะที่พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ชี้ว่า เคยมีการศึกษาที่พบว่า การลงทุนในการเลี้ยงดูเด็กในช่วงปฐมวัยหกขวบปีแรกจะมีผลตอบแทนถึง 6.7-17.6 เท่าของการลงทุน ยิ่งลงทุนตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ ยิ่งให้ผลคุ้มค่า และเมื่อเทียบระหว่างช่วงอายุ 3 ขวบปีแรก กับช่วงอายุ 4-5 ขวบ ช่วงอายุแรกจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
พญ.ศิริพร ยังเน้นย้ำถึงการพัฒนาคนในศตวรรษที่ 21 ที่ทุกประเทศให้ความสำคัญและมีการเตรียมตัว โดยเฉพาะการเตรียมตัวตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เด็กมีต้นทุนสุขภาพที่ดี ซึ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถือเป็นขบวนการให้อาหารและการเลี้ยงดูที่เริ่มต้นตั้งแต่เริ่มต้นของชีวิต นอกเหนือจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว ต้องมีการดูแลที่ดีด้วย
“รัฐบาลไทยดูแลเด็กตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป มีให้รายหัว มีค่าอาหารกลางวัน มีงบประมาณให้ท้องถิ่นดูแลเด็ก แต่เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีลงมา ยังไม่มีการดูแลจากรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม”
ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ ชี้ว่า วันนี้อัตราการเกิดของเด็กไทยน้อยลงทุกๆ วัน การไปถึงเป้าหมาย ทารกร้อยละ 50 ได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ระดับนโยบายต้องมีการผลักดันสิทธิลาคลอดให้ได้ 6 เดือน
• ผ่าตัดคลอดไทยนำโด่ง กระทบแม่ให้นมบุตร
ด้าน ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ อดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มองว่า การที่ไทยเสียแชมป์อัตราการให้นมแม่ เหลือแค่ 14% การดำเนินการระดับนโยบายต้องไม่มีโรงพยาบาลไหนแยกลูก แยกแม่อีกต่อไป เพื่อให้ลูกได้รับนมแม่หลังคลอดภายใน 1 ชั่วโมงแรก
ที่สำคัญต้องลดอัตราการผ่าคลอด (CESAREAN SECTION) ที่ไม่จำเป็นลงให้ได้ ปัจจุบันตัวเลขผ่าคลอดโดยไม่จำเป็นบรรดาแม่ไทยอยู่ที่ 50 % ซึ่งต้องลดลงมาให้เหลือแค่ 20% ให้ได้
“เราต้องช่วยกันลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น เพื่อให้นโยบายการส่งเสริมให้นมแม่อย่างเดียว 6 เดือนไม่ผสมน้ำ ทำสำเร็จ หรือหากแม่ผ่าตัดคลอด ก็ต้องหาวิธีให้แม่สามารถให้นมบุตรให้ได้ ”ศ.นพ.ภิเศก ระบุ
ปัจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นแชมป์การผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น ล่าสุดจีนปรับทิศเริ่มมีนโยบายลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นลงแล้ว ขณะที่ประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี ในการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น เราสามารถนำเงินจำนวนนี้มาส่งเสริมการให้นมบุตร หรือทำอะไรๆ ได้อีกมากมาย
ที่ผ่านมา สสส.สนับสนุนให้เกิดสังคมที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่แม่ ครอบครัว พร้อมกับสร้างค่านิยมว่า นมแม่ เป็นสิทธิที่ลูกจะได้รับตั้งแต่แรกเกิด ส่งเสริมสถานประกอบการที่เอื้อกับแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน และการปั๊มนมเก็บให้ลูก
รวมถึงการส่งเสริมพ่อช่วยแม่ แบ่งเบาภาระการเลี้ยงดูบุตร โดยเฉพาะช่วงการให้นมบุตร ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. เป็นอีกคนที่สนับสนุนระยะเวลาที่เหมาะสมที่เด็กแรกเกิด ควรกินแต่นมแม่ คือ 180 วัน
“ปัจจุบันกฎหมายให้สิทธิลาคลอดได้ 98 วัน สสส. สนับสนุนให้เกิดการใช้สิทธิ์ลาคลอดได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้แม่ได้อยู่กับลูกได้นานที่สุด โดยรณรงค์ให้แม่เห็นความสำคัญ ให้สถานประกอบการจัดสถานที่ และภาครัฐจัดนโยบายไปช่วยเสริม ไม่ใช่ดูแค่เงินที่จะจ่ายเป็นเงินเดือน ต้องดูในแง่ผลิตภาพที่ดีขึ้นประเทศชาติจะดีขึ้น จากเด็กไอคิวสูงขึ้นที่เป็นผลมาจากกินนมแม่
“เมื่อคำนวณผลได้จากเงินเดือนของแม่ที่ลาคลอดที่เสียไป ก็คุ้มค่า ประเด็นนี้ สสส. และภาคีที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันผลักดันต่อไปเพื่อให้เกิดขึ้นจริง”