บทเรียนสภานโยบายอาหาร กลไกบูรณาการการเกษตร อาหาร และสุขภาวะ

fresh vegetables grow organic garden generated by ai edited Gindee Club กินดี คลับ

สภานโยบายอาหารกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1982 ที่เมืองน็อกซ์วิลล์ รัฐเทนเนสซี่ สหรัฐอเมริกา โดยมีจุดเริ่มจากวิกฤติอาหารในอเมริกา อาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งมีความกังวลต่ออนาคตของนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบด้านเกษตร จึงชักชวนนักศึกษาสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรื่องอาหารและแพลตฟอร์มที่สนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันขึ้น และแนวคิดนี้ก็เติบโตไปสู่ระดับรัฐ ระดับประเทศ ทั่วภูมิภาคอเมริกาเหนือ จนทั่วโลกในที่สุด

วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด ผู้รับผิดชอบโครงการบูรณาการยุทธศาสตร์แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของสภานโยบายอาหารที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 30 ปีก่อน พร้อมนำเสนอบทเรียนสภานโยบายอาหารที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ และการพัฒนาสภานโยบายอาหารในสังคมไทย ที่กำลังเกิดขึ้นใน 4 จังหวัดด้วยความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ระหว่างการบรรยายเรื่อง ‘แนวคิดสภานโยบายอาหาร กลไกบูรณาการ การเกษตร อาหาร และสุขภาวะ บทเรียนของไทยและต่างประเทศ’ ในการสัมมนาวิชาการ ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566

สภานโยบายอาหาร เป็นแนวคิดที่มุ่งแก้ปัญหาระบบอาหารที่มีความซับซ้อนและส่งผลต่อชีวิตของผู้คน ท่ามกลางวันเวลาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติในหลายมิติ โดยพัฒนาพื้นที่กลางให้คนที่ทำงานด้านอาหารได้มีแพลตฟอร์มในการทำงานร่วมกัน เพื่อนำมาซึ่งสุขภาพและการเข้าถึงอาหารที่ดี ปกป้องแหล่งอาหาร พัฒนาเศรษฐกิจและผลิตผลทางการเกษตรของชุมชนอย่างถ้วนหน้า ด้วยการสร้างแนวร่วมกันของผู้คนและองค์กร

fresh market Gindee Club กินดี คลับ

ซึ่งสภานโยบายอาหารมีหน้าที่สำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานในแต่ละส่วน (ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม) เชื่อมต่อระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (แหล่งทุน องค์กรไม่แสวงผลกำไร ธุรกิจ) เชื่อมต่อผู้คนในห่วงโซ่อาหาร (ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้แปรรูป ผู้ขนส่งและจัดจำหน่าย ผู้จัดการขยะ) เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ (เมือง ชนบท พื้นที่ขาดแคลน พื้นที่ทรัพยากรเหลือ) และเชื่อมต่อระหว่างระบบอาหารเข้าด้วยกัน ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็นและรับผิดชอบอย่างเสมอภาค

“การคิดเรื่องสภานโยบายอาหาร ต้องผลักดันให้คนรู้สึกมีศักยภาพ มีบทบาทที่จะเปลี่ยนระบบอาหารซึ่งส่งผลต่อระบบการเกษตร แต่เราไม่สามารถทำแบบเชิงเดี่ยวได้ ต้องบูรณาการร่วมมือกัน มองให้ครบทั้งระบบอาหาร และยิ่งเราอยากจะแก้ปัญหาในภาพใหญ่เท่าไร เรายิ่งต้องทำให้ทุกพื้นที่เป็นระบบอาหารท้องถิ่นให้มากขึ้น”

วัลลภาหยิบยกสภานโยบายอาหารจาก 3 ประเทศมานำเสนอเป็นบทเรียน คือโตรอนโต แคนาดา ซึ่งเกิดจากภาคสังคม คือนักเคลื่อนไหวกิจกรรมสังคมที่มาจากมิติผู้บริโภค มิลาน อิตาลี เกิดจากภาครัฐเป็นผู้ออกแบบกติกา และอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ที่เกิดจากภาคธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

#โตรอนโต
ที่แคนาดามีหน่วยงานที่ทำงานส่งเสริมด้านสุขภาพ (เปรียบเช่นเดียวกับที่ไทยมี สสส.) นำปัญหาความเจ็บป่วยอย่าง NCDs และภาวะโรคอ้วนมาเป็นตัวตั้ง จากนั้นจึงก่อตั้งสภานโยบายอาหารขึ้นมาโดยมีสมาชิก 30 คนหมุนเวียนกันไป และมีโควต้าให้เยาวชน 2 คนเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อได้เห็นแบบฝึกหัดในการแก้ปัญหาระบบอาหาร

มีการวางยุทธศาสตร์ 5 ปี และยุทธศาสตร์ในแต่ละปีเพื่อทำการขับเคลื่อน สร้างแผนที่ขึ้นเพื่อชี้ว่าแต่ละพื้นที่มีอะไร เช่น พื้นที่ผลิตอาหาร พื้นที่กระจายอาหาร โดยสภานโยบายอาหารจะทำหน้าที่ระบุประเด็นปัญหา เป็นตัวประสานระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากชุมชน ส่งเสริมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเมืองโตรอนโต และทำหน้าที่พัฒนาและวางนโยบายและวิธีการปฏิบัติที่ดี เพื่อนำร่องโครงการและส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารให้คนเมือง

รวมถึงทำงานร่วมกับกลุ่มเยาวชนและสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเตรียมคนรุ่นใหม่ให้มีวิชาชีพเฉพาะด้านอาหาร ส่งเสริมการศึกษาเรื่องระบบอาหาร และกระตุ้นให้เกิดแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งในหมู่พลเมืองโตรอนโตด้วยกันเอง ระหว่างเมืองและชนบท และระหว่างหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

“แนวคิดของ ดร.เวย์น โรเบิร์ตส์ ซึ่งเป็นผู้ก่อหวอดสภานโยบายอาหารของเมือง และเป็นผู้ร่างยุทธศาสตร์ Toronto Food Strategy ทำให้เกิดการรวมตัวกันทั้งองคาพยพ และตอนนี้ทั้งในแคนาดาและสหรัฐอเมริกามีสภานโยบายอาหารกว่า 130 เมือง”

#มิลาน
สภานโยบายอาหาร ริเริ่มขึ้นโดยเทศบาลเมืองมิลานที่มีความคิดก้าวหน้า มองเห็นว่ายิ่งขยายความเป็นเมืองมากเท่าไร จะยิ่งทิ้งคนไว้ข้างหลัง เกิดปัญหาความหิวโหย มีภาวะทุพโภชนาการ และมีปัญหาคนจนเมือง

การตระหนักถึงความสำคัญของเกษตรกรครัวเรือนและผู้ผลิตรายย่อย ทำให้มองเห็นการทำเกษตรกรรมในเมืองและเขตชานเมืองเป็นโอกาสที่จะช่วยจัดการเรื่องอาหารของเมือง และสร้างสัมพันธภาพให้กับผู้คนที่นับวันจะเป็นปัจเจกมากขึ้น โดยมีภาคประชาสังคมและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

สภานโยบายอาหารจึงวางกรอบนโยบายขึ้น 6 หมวดหมู่ คือ การกำกับดูแลและจัดการ อาหารและโภชนาการที่ยั่งยืน ความเสมอภาคทางสังคมและเศรษฐกิจ การผลิตอาหาร การจัดหาและจัดจำหน่ายอาหาร การจัดการขยะเศษอาหารและอาหารส่วนเกินที่กลายเป็นขยะ

และยังเกิด The Milan Urban Food Policy Pact ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศของนายกเทศบาลเมือง เพื่อจัดการอาหารระดับเมืองที่มุ่งเป้าไปที่เมืองใหญ่ทั่วโลก จนเกิดการลงนามร่วมกันขึ้น

“ตอนนี้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ตั้งคณะไปมิลานเพื่อลงนามข้อตกลงนี้แล้ว และจะเริ่มต้นโครงการที่เขตห้วยขวางเป็นเขตแรก โดยทำงานร่วมกับ UNDP เพื่อให้เป็นไปตามตัวชี้วัดทั้ง 6 หมวด ซึ่งนับเป็นข่าวดี และถ้าความคิดเหล่านี้เข้าไปอยู่ในกลไกระดับนโยบายว่าต้องมีสภานโยบายอาหารทุกจังหวัด ระบบอาหารของไทยจะเปลี่ยนไปเลย”

#อัมสเตอร์ดัม
ในความพยายามที่ต้องผ่านช่วงล้มลุกคลุกคลาน สภานโยบายอาหารนครอัมสเตอร์ดัมซึ่งเกิดขึ้นโดยการรวมตัวของกลุ่มธุรกิจ ยังมุ่งหมายที่จะทำให้เสียงและความต้องการของประชาชน กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับอาหารได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบอาหาร

พวกเขาทำงานคู่ขนานกันไปทั้งกลุ่ม The Food Connect Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับเขต ระดับเทศบาล กับธุรกิจอาหารขนาดใหญ่ และกลุ่ม Food Council MRA ที่เป็นเครือข่ายประชาชน และผู้ประกอบการสังคมด้านอาหาร ด้วยความต้องการพัฒนาระบบอาหารให้ยั่งยืน ผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าปลอดภัยจากสารพิษ ไม่ใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม ไม่ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ และเชื่อมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอาหารมาทำงานร่วมกัน

แม้ทั้งสองกลุ่มจะมีบุคลิกที่ต่างกัน มีโจทย์การทำงานที่ต่างกัน แต่ก็มีการรวมตัวกันเพื่อพัฒนาโครงการนำร่อง จนประเด็นนี้ได้เข้าไปอยู่ในการทำงานของพรรคการเมืองและเติบโตอย่างน่าสนใจ ก่อนจะถดถอยไปช่วงระยะหนึ่ง แล้วกลับมาพัฒนาอีกครั้งเมื่อสภาฯ จับมือกับ 5 มหาวิทยาลัย เกิดเป็น Amsterdam Network Planning ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เกิดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบและโครงการที่นำไปสู่การปฏิบัติขึ้น

planting organic rice farmland edited Gindee Club กินดี คลับ

#สภานโยบายอาหารในสังคมไทย
สภานโยบายอาหารในไทย ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างพัฒนาต้นแบบเพื่อนำไปสู่การขยายผล ผ่านการทำงานในระดับพื้นที่โดยการร่วมมือกันของหลายภาคส่วน คือโครงการบูรณาการยุทธศาสตร์แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ โครงการเด็กไทยแก้มใส มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช UNDP ร่วมด้วยภาคีต่างๆ ของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ เพื่อเชื่อมต่อกับหน่วยงานระดับประเทศ

“เราเห็นบทบาทความสำคัญของทั้งภาครัฐ ภาคสังคม ภาคธุรกิจ สนับสนุนให้เกิดพื้นที่สื่อสารมากขึ้น แล้วแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้และต้นทุนที่มีอยู่โดยเคารพในความหลากหลาย เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลของอาหาร และให้ต้นแบบนี้กระจายไปสู่การดำเนินงานได้มากขึ้น ที่สำคัญคือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายเกษตรและอาหารอย่างถ้วนหน้า ในทุกพื้นที่ ในทุกระดับ”

พื้นที่ต้นแบบของสภานโยบายอาหาร เกิดขึ้นใน 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ น่าน สุราษฎร์ธานี และบุรีรัมย์ ซึ่งต่างก็มีต้นทุนและบริบทของความท้าทายที่แตกต่างกันไป แต่มีเป้าหมายเดียวกันในการสร้างพื้นที่ระบบอาหารที่ยั่งยืนของแต่ละพื้นที่

“สภานโยบายอาหารคือแบบฝึกหัดให้ผู้คนที่หลากหลายเห็นศักยภาพของตัวเอง สร้างความตระหนักในเรื่องระบบอาหารและการเกษตร ที่กำลังมีโจทย์ความท้าทายด้านสุขภาพและด้านการผลิต และกำลังเผชิญกับคลื่นลูกใหญ่มากคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ถ้าเราสามารถสร้างสมบัติร่วมในเรื่องอาหารได้ ถ้าเราเห็นความสำคัญของผู้คน เห็นความสำคัญของความร่วมมือ เราสร้างความรู้ขึ้นมา แล้วเราจะเปลี่ยนระบบอาหารของเราได้”

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.