‘Less Sodium, Let’s Start’ มหิดลเดินหน้าต้นแบบ ‘มหาวิทยาลัยสุขภาพดี’

2 edited Gindee Club กินดี คลับ

จากการวิจัยของ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ และคณะ พบว่าคนไทยบริโภคโซเดียมมากถึง 9.1 กรัมต่อวัน ซึ่งสูงเกือบสองเท่าจากที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ คือ ไม่ควรเกิน 2 กรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน หรือ 1 ช้อนชา เพราะจะสร้างผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวจากการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และจะสร้างภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพ รวมถึงทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นโรคแย่ลง

มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ได้ตระหนักถึงการให้ความรู้และเปลี่ยนพฤติกรรมการลดการบริโภคเค็มต่อประชาชน จึงสร้างพื้นที่ให้เกิดสภาพแวดล้อมเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เกิดเป็นต้นแบบโดยเริ่มต้นจากภายในมหาวิทยาลัย และได้จัดกิจกรรม Low Sodium Policy: KICKOFF “LESS SODIUM, LET’S START” ขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566

1 edited Gindee Club กินดี คลับ

ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านสุขภาวะเชิงนโยบายระดับชาติและนานาชาติ จึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมและสร้างความตระหนักเรื่องการดูแลสุขภาพให้กับประชาชน โดยเฉพาะการป้องกันและลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ ที่มีสาเหตุสำคัญจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของตัวเราเอง

“ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของประเทศ จึงควรดำเนินการให้เห็นเป็นต้นแบบว่า การสร้างความตระหนักรู้ การสร้างสภาพแวดล้อม และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นในภาพรวม

“โครงการมหาวิทยาลัยสุขภาพดีด้วยนโยบายลดการบริโภคโซเดียม หรือ Healthy University: Low Sodium Policy เป็นโครงการที่จะช่วยกระตุ้นให้บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ได้เรียนรู้และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหารภายในมหาวิทยาลัยจะช่วยกันลดปริมาณโซเดียมในอาหารลง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถปรับพฤติกรรมได้อย่างถาวร”

4 edited Gindee Club กินดี คลับ

ทั้งนี้ รศ.ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายคือ การประกาศเป็นนโยบายมหาวิทยาลัย สนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมด้วยการมีอาหารโซเดียมต่ำให้เลือกบริโภค และจัดหาสิ่งเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

โดยนโยบายส่งเสริมการเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบลดการบริโภคโซเดียม ประกอบด้วย การให้การส่งเสริม สนับสนุนการเรียนรู้และกิจกรรม เพื่อให้บุคลากรและนักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป ตระหนักถึงผลเสียที่เกิดกับสุขภาพอันเนื่องมาจากการบริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

ส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงอาหารภายในมหาวิทยาลัยได้มีเมนูทางเลือกที่ลดปริมาณโซเดียมสำหรับผู้บริโภค ส่งเสริมการสร้างและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่ช่วยลดการบริโภคโซเดียม และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการและร้านค้า รวมทั้งเครือข่ายภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับการลดบริโภคโซเดียม

18 edited Gindee Club กินดี คลับ

ซึ่งโครงการที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินไปแล้ว ได้แก่ การอบรมผู้ประกอบการในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ร้านค้าตระหนักและเกิดการเข้าใจ พร้อมทั้งแนะนำเทคนิคการปรุงอาหารให้มีปริมาณโซเดียมต่ำแต่ยังรสชาติดีเหมือนเดิม โดยมี ดร.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ เป็นวิทยากร และจะนำแนวคิดโรงอาหารปลอดภัย ใส่ใจคุณภาพ ของกรมอนามัย มาใช้กับร้านค้า โดยเน้นอาหารที่เหมาะสมกับภาวะโภชนาการ ลดหวานมันเค็ม มีแคลอรีที่เหมาะสม รวมถึงสั่งผักเพิ่มได้

และยังจัดให้มีโครงการประกวด Video Competition สำหรับนักศึกษา ฝึกทักษะการเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ผ่าน ‘Low โซ(เดียม) No โทรม Bootcamp’ เพื่อค้นหา Healthy MU Brand Ambassador ของมหาวิทยาลัย โครงการ ‘Low Sodium Hackathon’ เปิดรับนักศึกษาเข้าแคมป์เพื่อคิดนวัตกรรม ภายใต้โจทย์ การลดการบริโภคโซเดียมเพื่อสุขภาพที่ดีในอนาคต และโครงการ ‘Low Sodium Inno Funding’ ให้ทุนสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดการบริโภคโซเดียมทุกรูปแบบ รวมถึงการจัดงาน ‘MUSEF 2023’ ร่วมสร้างสังคมไทยสุขภาพดี ด้วยการลดการบริโภคโซเดียม ซึ่งจะมีขึ้นวันที่ 26 กันยายน 2566

6 edited Gindee Club กินดี คลับ

นอกจากการแถลงนโยบายแล้ว ภายในงานคิกออฟ ‘Less Sodium, Let’s Start’ ยังมีกิจกรรม Talk and Knowledge Sharing ‘เค็มแค่ไหนถึงพอดี?’ เพื่อให้คำแนะนำถึงการบริโภคที่เหมาะสม การประกวดอาหาร ‘โซเดียมน้อยแต่อร่อยยืนยาว’ ที่ร้านค้าจากโรงอาหารภายในมหาวิทยาลัยซึ่งผ่านการคัดเลือก ได้นำสูตรอาหารโซเดียมต่ำเข้าร่วมประกวด

20 edited Gindee Club กินดี คลับ

โดยเกณฑ์การตัดสินคือ อาหารนั้นจะต้องมีระดับโซเดียมหรือระดับความเค็มต่ำ ซึ่งวัดด้วย Salt Meter ที่แสดงผลแม่นยำ อาหารนั้นต้องยังคงรสชาติอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการโดยประเมินคุณค่าจากสูตรอาหารผ่านโปรแกรม INMUCAL-Nutrients ของสถาบันโภชนาการ และถูกสุขลักษณะโดยรวม

14 edited Gindee Club กินดี คลับ

ภายในงานยังมีส่วนนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการลดบริโภคเค็ม บูธให้ความรู้ทางโภชนาการจากส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอนวัตกรรมอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโซเดียมต่ำ น้ำปลาจากผักสะทอน เครื่องตรวจวัดความเค็ม สัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ รวมถึงบูธจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพให้ผู้มาร่วมงานได้เลือกซื้อด้วย

ขอบคุณภาพ: งานบริการวิชาการและพันธกิจสัมพันธ์กับสังคม กองแผนงาน มหาวิทยาลัยมหิดล

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.