ผลวิจัยตลาดเขียว บ่งชี้ ‘กินดี สุขภาพดี’

DSC05301 edited Gindee Club กินดี คลับ

แม้ว่า ‘ตลาดเขียว’ ในบ้านเราจะมีมานานมากกว่า 30 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกหน่วยงานที่มีส่วนร่วมสนับสนุนการก่อกำเนิดตลาดเขียวอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

สสส. ได้สนับสนุนโครงการบูรณาการเพื่อหนุนเสริมยุทธศาสตร์แผนอาหาร ร่วมกับภาคีเพื่อการขยายผลระบบอาหารสุขภาวะ ทำการศึกษาตลาดเขียว 3 โครงการ คือ หนึ่ง-โครงการแนวทางการบริหารจัดการตลาดเขียว: คู่มือการจัดการตลาดเขียวเชิงนวัตกรรมสังคม สอง-โครงการการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคและภาวะสุขภาพของผู้ใช้บริการตลาดเขียว และสาม-โครงการการศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนในการบริหารจัดการ ‘ตลาดเขียว’ เพื่อผลักดันสู่นโยบาย

ทั้งหมดนี้มุ่งเน้นศึกษาตลาดเขียว ภายใต้ภาคีเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนของ สสส. ซึ่งมีวิธีบริหารจัดการแตกต่างกันไปตามบริบทของชุมชน และได้สร้างสังคมของผู้ผลิตและผู้บริโภคอินทรีย์ขึ้น ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายร่วมที่มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน

@Ture digital park 140919 0016 edited Gindee Club กินดี คลับ

• ถอดบทเรียนหัวใจตลาดเขียว
วิชญาพัส รุจิระ นักวิจัยที่ได้รับมอบหมายรับผิดชอบ 2 โครงการคือ โครงการแนวทางการบริหารจัดการตลาดเขียว: คู่มือการจัดการตลาดเขียวเชิงนวัตกรรมสังคม และโครงการการศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนในการบริหารจัดการตลาดเขียว เพื่อผลักดันสู่นโยบาย ซึ่งขณะนี้ทั้งสองโครงการวิจัยใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว

เบื้องต้นพบว่า ภาพรวมของตลาดเขียวเชิงนวัตกรรมสังคม ภาคีเครือข่ายของ สสส. 9 แห่ง เป็นดังนี้

1. แบ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ผลิต ได้แก่ เกษตรกรรายย่อย เกษตรกรแบบรวมกลุ่มเป็นเครือข่าย หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรแปลงใหญ่

2. ผู้จัดการตลาดซึ่งเป็นกลไกกลาง มี 5 รูปแบบ ได้แก่ ตลาดเขียวเชิงนวัตกรรมสังคมเต็มรูปแบบ, พื้นที่ตลาดเขียวที่อยู่ในตลาดทั่วไป, ตลาดเขียวในแปลงผลิต เช่น ตลาดในสวน, ตลาดออนไลน์และเดลิเวอรี่, และตลาดเชิงกิจกรรม เช่น ตลาด Greenery

3. ผู้บริโภค มีทั้งรายบุคคล ครอบครัว และสถาบัน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า

“จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ 9 ภาคีเครือข่าย สสส. เป็นการทำงานที่หนักมาก ทั้งกับผู้บริโภค เกษตรกรผู้ผลิต และการสร้างกลไกการจัดการตลาด ทั้งในเรื่องการสื่อสารเชิงรุก ไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ถือเป็นการตอบโจทย์หัวใจของตลาดเขียวเชิงนวัตกรรมสังคม หรือ Food Citizenship มีการให้ความรู้ในแง่ความรอบรู้ด้านอาหาร โภชนาการ ความมั่นคง และความปลอดภัยทางอาหาร

“ส่วนการจัดการตลาด มีการผลักดันให้เกิด Food Community ของผู้ผลิตและผู้บริโภคให้เข้าใจ รู้บริบท ทุกคนร่วมกันสร้างระบบการค้าที่เป็นธรรม รวมทั้งการส่งเสริมกระบวนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มาตรฐานการผลิต ซึ่งได้ทั้ง PGS ออร์แกนิก และมีการพัฒนาผู้ผลิตเป็นนักสื่อสาร ทั้งมิติสิ่งแวดล้อม และส่งต่อไปถึงผู้บริโภคอย่างเข้าใจ”

DSC05298 edited Gindee Club กินดี คลับ

• ตลาดเขียวตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน
ส่วนโครงการการศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนในการบริหารจัดการตลาดเขียว เพื่อผลักดันสู่นโยบายตลาดเขียวเชิงนวัตกรรมสังคม ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) หรือ SDGs ถึง 12 ข้อ จาก 17 ข้อ มีความเชื่อมโยงการทำงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งถือเป็นต้นน้ำ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์ ที่มีฐานตลาดชุมชนในการจัดการมีนโยบายภาระหน้าที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

สำหรับเป้าหมายของการทำงานโครงการนี้ เพื่อนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการตลาดเขียวในตลาดต้นแบบ 9 จังหวัดนำร่องอาหารปลอดภัย เพื่อผลักดันสู่นโยบายต่อไป

• ผู้บริโภคตลาดเขียว รอบรู้แต่ไม่สม่ำเสมอ
ด้าน ผศ.ดร.ศิริอุมา เจาะจิตต์ หัวหน้าโครงการการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคและภาวะสุขภาพของผู้ใช้บริการตลาดเขียว บอกถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการฯ ว่า ได้ทำการศึกษาใน 2 ภาคีเครือข่ายของ สสส. คือ ภาคีเครือข่ายมูลนิธิสื่อสร้างสุข จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ ตลาดกินสบายใจ กินสบายใจช็อป ในห้างสุนีย์ และภาคีเครือข่ายมูลนิธิเอ็มโอเอไทย จังหวัดสระแก้ว จำนวน 150 คน แบ่งเป็นอย่างละครึ่งเท่าๆ กัน

ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า เพศหญิงใช้บริการตลาดเขียวมากกว่าเพศชาย ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 30-39 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี อาชีพพนักงานบริษัท ซึ่งอาจเป็นไปตามที่ตั้งของตลาด

ผู้ใช้บริการตลาดเขียวไม่มีโรคประจำตัว ความรอบรู้โดยรวมทั้งสุขภาพและพฤติกรรมอยู่ในระดับพอใช้ หมายถึง มีความรู้เพียงพอและอาจปฏิบัติตามหลัก 3อ2ส คือ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย และการไม่สูบบุหรี่ การไม่ดื่มสุรา ด้านพฤติกรรมในระดับพอใช้หมายถึง มีความรู้ถูกต้องเป็นส่วนใหญ่แต่ปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ

นอกจากนี้พบว่า ระยะเวลาการบริโภคอาหารจากตลาดเขียวต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องมากกว่า 3 ปีขึ้นไปมากที่สุด ร้อยละ 36.3 ความถี่ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เงินที่นำมาจับจ่ายอยู่ที่ระหว่าง 100-200 บาท ซื้อทั้งผักผลไม้ท้องถิ่น ผักทั่วไป อาหารปรุงสำเร็จรูป

@Ture digital park 150919 0683 edited Gindee Club กินดี คลับ

• ผลวิจัยชี้ ซื้ออาหารปลอดภัยยิ่งถี่ สุขภาพยิ่งดี
ผู้วิจัยระบุว่า ผลการศึกษาความปลอดภัยอาหาร จากการสังเกต ไม่พบอันตรายสิ่งแปลกปลอมในอาหาร และเมื่อตรวจยาฆ่าแมลง 43 ตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนเลย 100%

นอกจากนี้ ผลการศึกษาภาวะสุขภาพของผู้ใช้บริการตลาดเขียว ทั้งดัชนีมวลกาย ความดัน มีค่าปกติ พบน้ำตาลเกินแต่ไม่ได้บ่งชี้การเป็นโรค ส่วนผลการคัดกรองความเสี่ยงอยู่มในระดับที่ปลอดภัย

ข้อสังเกตพบว่า ผู้บริโภคที่มาซื้อ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ไม่มีความผิดปกติของสารเคมีในเลือด อนุมานได้ว่า ผู้บริโภคที่มาซื้อผักผลไม้ที่ตลาดเขียวเป็นกลุ่มที่ดูแลสุขภาพ กินอาหารปลอดภัย กินรู้แหล่งที่มา เมื่อมีการจับจ่ายที่มีความถี่ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และกินอย่างต่อเนื่องสามารถลดความเลี่ยงสารเคมีตกค้าง โดยพบว่า ผลเลือดปกติมากขึ้น ขณะที่เกษตรกรตลาดเขียวทั้งหมดไม่พบสารเคมีในเลือดแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ผลการศึกษาโครงการการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคและภาวะสุขภาพของผู้ใช้บริการตลาดเขียว ถือเป็นแนวโน้มทิศทางผลการสำรวจที่น่าสนใจและเป็นไปตามคาด ถือเป็นการช่วยตอกย้ำและมีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนว่า การกินผักผลไม้อาหารปลอดภัยปราศจากสารเคมีจากตลาดเขียว ซึ่งเป็นแหล่งที่รู้ที่มาที่ไปชัดเจน มีมาตรฐานน่าเชื่อถือ ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายอย่างแน่นอน

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.