สิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนเป็นกังวลก็คือ พฤติกรรมการกินขนมของลูกในแต่ละวัย เด็กเล็กๆ คุณพ่อคุณแม่อาจควบคุมและกำหนดปริมาณอาหาร รวมทั้งขนมและเครื่องดื่มต่างๆ ได้ แต่สำหรับเด็กโต มีปัจจัยหลายอย่างที่การควบคุมนั้นเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น แล้วจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ กินขนมจนเพลินพุง แต่ลำบากสุขภาพในระยะยาว
งานเสวนา ‘ปิดเทอมอย่างไรให้เด็กไทยห่างไกลจากโรคอ้วน’ ที่จัดขึ้นโดยกรมอนามัย ร่วมกับสถาบันส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม (สพมส.) มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการป้องกันเด็กจากตลาดอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน โซเดียมสูงกับสุขภาพเด็ก โดยการหารือของตัวแทนกลุ่มผู้ปกครองที่ได้แชร์วิธีการควบคุมขนมให้กับลูก พร้อมกับแนวทางและข้อเสนอต่อภาครัฐในด้านต่างๆ รวมทั้งนโยบายที่ทางกรมอนามัยได้ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน
ตัวแทนกลุ่มแกนนำผู้ปกครองระบุว่า สิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญคือ ‘บทบาทของพ่อแม่’ กับการเป็นแบบอย่างที่ดีของ ‘คนในครอบครัว’ ที่จะช่วยให้ลูกซึมซับพฤติกรรมการกินที่ดีและเหมาะสม มีการกำหนดปริมาณขนมในแต่ละวัน พร้อมการเลือกและตัดสินใจซื้อขนมที่ดีมีประโยชน์ร่วมกัน
เสริมด้วยการสอนให้ลูกอ่านฉลากอาหาร และรู้จักคุณค่าของอาหารที่ดีมีประโยชน์ และโทษของการกินที่มากเกินไป พร้อมทำกิจกรรมอาหารที่ดีร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมผลไม้ในรูปแบบที่สนุกๆ เช่น การทำสมูทตี้ ไอศกรีมพร้อมให้ความรู้ทางด้านวิชาการอย่างสนุกสนานแทนการซื้อขนมกรุบกรอบตุนไว้
มีการสนับสนุนให้ลูกมีแรงจูงใจในการกินที่ดีด้วยการชื่นชม เมื่อลูกกินของที่มีประโยชน์ ทั้งการกินผัก กินนมจืดแทนน้ำอัดลม ทั้งนี้กลุ่มผู้ปกครองเน้นย้ำว่า สามารถหยืดหยุ่นได้ นานๆ กินที หรือกินได้เวลาออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ก็จะไม่ทำให้ลูกกดดันมากเกินไป
สิ่งที่สองก็คือ ‘บทบาทของการช่วยเหลือจากภาครัฐ’ กลุ่มผู้ปกครองเสนอเรื่องการเสริมแรงทางบวกช่วยจัดการช่วงโฆษณาขนม อาจร่วมกับหน่วยงานรัฐทำสื่อเรื่องการเรียนรู้ด้านอาหารที่ดีมีประโยชน์ มีการกำหนดความถี่การโฆษณา อาจร่วมกับบริษัทเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรม จัดทำฉลากอาหารที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
พร้อมจัดกิจกรรมและทำสื่อให้ความรู้ด้านสุขภาพกับเด็กๆ มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโทษของการกินหวานมันเค็มมากเกินไป โรคอ้วนในเด็ก ด้วยการใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย พร้อมเพิ่มช่องทางการสื่อสารเพื่อให้เด็กๆ และคนในครอบครัวเข้าถึงได้ง่าย
ทั้งยังเสนอให้มีทำเรตติ้ง หรือการจัดระดับความเหมาะสมของอาหารหรือขนมประเภทต่างๆ ด้วยการกำหนดอายุ เช่นเดียวกับการจัดเรตติ้งเนื้อหาของรายการโทรทัศน์ อย่างน้อยเพื่อเป็นทางป้องกันและส่งเสริมให้เด็กๆ รู้จักการเลือกสิ่งดีๆ ให้กับตัวเองได้
ที่สำคัญคือ การติดตามผลจากนโยบายส่งเสริมสุขภาพนักเรียนในยั่งยืนหรือนโยบาย ‘โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม’ เพื่อให้นโยบายนี้ใช้ได้จริงในทุกๆ สถานศึกษา โดยเฉพาะระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา
อีกหนึ่งประเด็นที่กลุ่มผู้ปกครองไม่มองข้ามก็คือ การรีวิวความอร่อยของขนมในช่องทางออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผ่านอินฟลูเอนเซอร์หรือนักรีวิว บางส่วนเป็นขนมที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เด็กๆ เข้าถึงได้ง่าย สั่งซื้อเองได้ง่ายมากขึ้น เสนอทางเลือกคือ อาจมีการระบุโทษของการกินขนมที่มากเกินไปต่อท้ายคลิป อย่างน้อยก็เพื่อเป็นทางเลือกต่อเด็กๆ ได้มากขึ้น
สิ่งที่สามคือ ‘การให้ความร่วมมือของโรงเรียนและครู’ ด้วยการขอความร่วมมือไม่แจกขนมให้กับเด็กตอนทำกิจกรรม การจัดกิจกรรมด้านโภชนาการ ให้ความรู้เรื่องประโยชน์และโทษของอาหารต่างๆ ส่งเสริมความรู้เชิงสุขภาพและพฤติกรรมการกินที่ดี เพื่อสุขภาพที่ดีในวันข้างหน้าให้กับเด็กๆ
ในขณะเดียวกันทางโรงเรียนอาจมีมาตรการควบคุมประเภทของอาหารและเครื่องดื่ม และจำกัดปริมาณขนมที่จำหน่ายภายในโรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ สามารถเลือกซื้อได้อย่างกำจัดเช่นกัน รวมไปถึงการควบคุมร้านค้าขายขนมหน้าโรงเรียนด้วย
นอกจากนี้กลุ่มผู้ปกครองได้เสนอเพิ่มเติมไปยังห้างสรรพสินค้าว่า นอกจากจัดโซนกิจกรรมแล้วอยากให้จัดมุมสุขภาพ ให้ความรู้หรือทำกิจกรรมเกี่ยวกับอาหารที่มีประโยชน์ต่อเด็กๆ หรือการจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ก็จะช่วยให้เด็กตัดสินใจเลือกซื้อได้ดีขึ้น
ทางด้าน ศศิพร ตัชชนานุสรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ได้กล่าวถึงการดำเนินมาตรการป้องกันเด็กจากตลาดอาหารและเครื่องดื่มของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งได้ขับเคลื่อนเป็นนโยบายและมาตรการ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพและจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพเด็ก
ซึ่งสิ่งที่กรมอนามัยได้ดำเนินการไปแล้วนั้นมีหลายส่วน โดยแบ่งเป็นการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านโภชนาการ อาทิ การให้ความรู้ฉลากโภชนาการ (ผ่านแอปพลิเคชั่น FoodChoice) ข้อปฏิบัติการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี (FBDGs) การจัดทำคู่มือแนวทางคำแนะนำการบริโภคอาหารตามธงโภชนาการ ชุดความรู้ส่งเสริมสุขภาพตามกลุ่มวัย เป็นต้น
“ส่วนการจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนนั้น มีการกำหนดมาตรฐานอาหารกลางวัน (Thai School Lunch Program) มีนมโรงเรียน จัดทำโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงอาหารปลอดภัยใส่ใจสุขภาพ รวมทั้งการดำเนินโครงการโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีกฎหมายมาบังคับใช้ ส่วนใหญ่เป็นการขอความร่วมมือไปกับสถานศึกษา โดยยังคงดำเนินการกันอย่างต่อเนื่อง และได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนต่างๆ จำนวนมาก ถึงอย่างนั้นก็ยังคงพบร้านขนมหน้าโรงเรียนกันอยู่
“จากสิ่งที่เกิดขึ้น จึงมีการร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลสุขภาพเด็ก เพื่อคุ้มครองและปกป้องเด็กอย่างเป็นรูปธรรม เป้าหมายคือ ลดการพบเห็นการทำตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ผ่าน 9 มาตราการควบคุม อาทิ ควบคุมเรื่องฉลาก รวมถึงดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์ต้องไม่ใช้เทคนิคดึงดูดเด็ก แต่ให้ใช้สัญลักษณ์กำกับที่เข้าใจง่ายแทน มีการควบคุมการโฆษณาทุกช่องทาง ควบคุมแรงจูงใจ เช่น การแลกแจกแถม ให้ชิงโชค ชิงรางวัล และควบคุมการแสดงความคุ้มค่าด้านราคา เช่น ขนมแพ็กใหญ่ขึ้นแต่ราคาเดิม
“ที่สำคัญคือ การควบคุมการจำหน่ายในสถานศึกษา ระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา แล้วเน้นการจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ ควบคุมเรื่องการบริจาคอาหารและเครื่องดื่มในศูนย์รวมสำหรับเด็ก รวมถึงควบคุมการมอบสิ่งของ อุปกรณ์ต่างๆ ของใช้ที่มีโลโก้ของอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
“รวมทั้งมีการจัดตั้งกลุ่มชมรม ชุมชนออนไลน์ เช่น กลุ่มนมจืด กลุ่มขนมเพื่อสุขภาพ เพื่อส่งเสริมการบริโภคที่ดี และ ควบคุมการติดต่อ ชักชวน หรือสร้างแรงจูงใจเด็ก ทั้งทางตรงและอ้อมจากโฆษณาต่างๆ
“ท้ายสุด สิ่งที่กรมอนามัยหวังเป็นอย่างยิ่งคือ การทำให้เด็กไทยมีสุขภาพที่แข็งแรง ลดการเกิดโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงอายุยังน้อยหรือในวัยผู้ใหญ่ ที่ส่งผลมาจากพฤติกรรมการกินตั้งแต่ยังเล็ก นอกจากนี้ยังเชิญชวนผู้ปกครองร่วมปกป้องเด็กไทย ด้วยการกดไลค์ กดแชร์ Facebook Fanpage ‘ร่วมกันปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ’
“และเข้าร่วมประชาพิจารณ์ที่เกิดขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน พร้อมร่วมลงชื่อสนับสนุนผ่าน Change.org ในเดือนมิถุนายน 66 เพื่อร่วมกันเรียกร้องให้เด็กไทยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี”