โซเดียมไม่ใช่ตัวร้าย เพราะร่างกายเรายังต้องการโซเดียมในการรักษาสมดุลกรด-ด่าง ควบคุมสมดุลน้ำและของเหลวภายในร่างกาย ควบคุมหัวใจให้ทำหน้าที่ได้ปกติและสม่ำเสมอ ควบคุมการทำงานของเซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อ การดูดซึมสารอาหารและเกลือแร่บางชนิดในไตและลำไส้เล็ก และควบคุมระบบความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ
ด้วยข้อดีที่ร่ายยาวมาขนาดนี้ ทำให้เราต้องเติมโซเดียมเข้าร่างกาย เพราะโซเดียมเป็นเกลือแร่ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นได้เอง แต่โดยทั่วไปร่างกายเราต้องการโซเดียมแค่วันละ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน หรือหากจะมากกว่านั้นก็ต้องไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น
แต่จะชั่ง ตวง วัด อย่างไร นี่ยังเป็นเรื่องชวนกุมขมับ เรามีวิธีเช็กโซเดียมใน 1 วัน จากคำแนะนำของกรมอนามัยมาบอกต่อ
#เช็กเครื่องปรุงอาหาร เรามักใช้เครื่องปรุงหลากหลายชนิดในการปรุง แต่เครื่องปรุงแต่ละชนิดก็มีปริมาณโซเดียมที่ต่างกัน เมื่อเทียบปริมาณโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม จะเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา, น้ำปลา 4 ช้อนชา, ซีอิ๊วขาวและซอสปรุงรส 6 ช้อนชา, ซอสหอยนางรม 4 ช้อนโต๊ะ ปริมาณแนะนำที่พอเหมาะคือ ให้เติมน้ำปลาหรือซีอิ๊วไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อมื้อ
แต่ในการปรุงอาหาร เรามักจะปรุงในปริมาณที่มากกว่า 1 ที่ หรือมากกว่า 1 มื้อ และเรามักจะใส่เครื่องปรุงรสมากกว่า 1 ชนิด และอาหารบางชนิดเรายังต้องการเครื่องปรุงรสต่างๆ เพิ่มเติมอีก จึงต้องระวังสัดส่วนในการปรุงแต่ละครั้งไม่ให้เกินพอดีด้วย
#อ่านฉลากโภชนาการ ด้วยการสังเกตปริมาณโซเดียมบนบรรจุภัณฑ์อาหารต่างๆ ที่มีทั้งฉลากแบบ GDA (Guideline Daily Amount) หรือฉลากหวานมันเค็ม ที่แสดงข้อมูลโภชนาการเป็นค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม และระบุค่าร้อยละที่ร่างกายจะได้รับต่อวันเอาไว้ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น หากบนฉลากระบุปริมาณโซเดียมไว้ที่ 500 มิลลิกรัม ก็จะคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณที่ร่างกายได้รับต่อวัน เท่ากับว่า เมื่อกินอาหารนั้นจนหมด ร่างกายเราได้รับโซเดียม 500 มิลลิกรัมแล้ว ปริมาณการบริโภคโซเดียมในอาหารอื่นๆ ที่เหลือในวันนั้น จึงไม่ควรเกิน 1,500 มิลลิกรัม