‘คิดจะปลูก ปลูกผักในกรุงเทพฯ’ มากกว่าอาหารคือคุณภาพชีวิตที่ดี

GD green fest1 edited Gindee Club กินดี คลับ

เมื่อปัญหาคือ ผักผลไม้ทุกวันนี้ล้วนปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี ไปจนถึงวิกฤติความไม่มั่นคงด้านอาหาร การพึ่งพาตนเองด้านอาหารจึงเป็นอีกทางเลือก ที่ปลุกให้คนเมืองจำนวนหนึ่งเกิดความตื่นตัว ลุกขึ้นมาปลูกผักกินเอง แล้วจะทำอย่างไรให้เกิดเส้นทางอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน

เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น เราถอดองค์ความรู้จากเวทีเสวนาสาธารณะ “คิดจะปลูก ปลูกผักในกรุงเทพฯ” จากเทศกาล “พระโขนง-บางนา กรีน เฟสติวัล” ที่เจาะลึกถึงประเด็นการจัดทำพื้นที่เกษตรในเมือง ตั้งแต่แนวคิดริเริ่ม การดำเนินการจริง ตลอดจนแนวทางการขับเคลื่อน จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญหลากหลายภาคส่วนที่ขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่เกษตรในเมือง ให้ทุกคนได้ร่วมเดินทางสู่เส้นชัยอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

ความน่าสนใจเริ่มต้นด้วย พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ชี้ให้เห็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียว คือเรื่องสวน 15 นาที และมองลึกไปกว่านั้น คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ในหลากหลายมิติ

อย่างการประยุกต์เป็นลานกีฬาสวนเพลินพระโขนง ซึ่งเป็นพื้นที่จัดงานครั้งนี้ ไปจนถึงมิติเรื่องพื้นที่เกษตรกรรม เปิดพื้นที่ให้ประชาชนหรือชุมชนใกล้เคียงสามารถเข้ามาทำการเกษตร ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทั้งพื้นที่สีเขียว ช่วยลดขยะอินทรีย์ที่มีสัดส่วนที่มากที่สุดของกรุงเทพฯ เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ และช่วยเรื่องเศรษฐกิจชุมชนได้ด้วย

ด้าน อรอุมา สาดีน ผู้จัดการ SAFETist Farm แหล่งเรียนรู้ชีววิถีริมคลองบางมด เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ลุกขึ้นมาทำพื้นที่เกษตรในเมืองให้ฟังว่า “ต้องการสร้างพื้นที่อาหารสุขภาพ เพื่อขยายโอกาสให้ผู้คนในเมืองได้เข้าถึงอาหารปลอดภัย โดยทำเกษตรที่มีเป้าหมายเน้นระบบนิเวศทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อม

“เรามองว่าอาหารเป็นสิ่งสำคัญ และเห็นชัดสุดช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่บางครอบครัวกักตุนอาหารเพราะกังวลจะขาดแคลน บางครอบครัวก็ไม่สามารถซื้ออาหารเพราะพิษเศรษฐกิจ ทางฟาร์มจึงมองว่าการมีแหล่งผลิตอาหารของตนเองเป็นเรื่องสำคัญ

“และเมื่อเราผลิตอาหารเองได้ ดูแลสมาชิกได้ เราคิดว่าแนวคิดนี้ควรแบ่งปัน ก็ได้มีการทำตะกร้าผักเซฟติสท์ โดยเน้นการจัดให้สมาชิกได้กินผักผลไม้ 400 กรัมต่อวัน ที่สำคัญผักผลไม้ทุกชนิดในตะกร้าเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจัดส่งไม่เกิน 30 กิโลเมตร เพื่อความสดและแบ่งเบาค่าขนส่งให้กับลูกค้า”

GD green fest2 edited Gindee Club กินดี คลับ

อีกหนึ่งนักขับเคลื่อนที่ทำงานด้านเกษตรคนเมืองมากว่า 13 ปี วรางคนางค์ นิ้มหัตถา หัวหน้าโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ชวนคุยต่อถึงประเด็นการขับเคลื่อนงานเพื่อความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่เมืองว่า

“เราอยากเชื้อเชิญคนเมืองให้กลับไปสู่รากฐานของชีวิตที่ต้องพึ่งตัวเองได้บ้าง โดยเฉพาะเรื่องอาหาร คือเรามองเรื่องเกษตรในเมืองไม่ได้เป็นแค่เรื่องอาหาร กินแล้วอิ่ม แต่อยากให้ชวนมองเรื่องอาหารว่าเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต”

วรางคนางค์ยังกล่าวอีกว่า ไม่อยากให้มองเกษตรในเมืองเป็นเรื่องของคนชั้นกลาง เพราะสิทธิด้านอาหาร การเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย อาหารที่กินไปแล้วดูแลเรา ดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลเมือง ต้องเป็นของทุกคน ฉะนั้นโครงการสวนผักคนเมืองจึงมีเป้าหมายเพื่อสร้างเมืองที่ดีและยั่งยืนสำหรับทุกคน

มากไปกว่านั้น การสร้างพื้นที่รูปธรรม และการแบ่งปันพื้นที่ให้แก่กลุ่มเปราะบางในสังคมได้มีพื้นที่ปลูกผักเพื่อความมั่นคงทางอาหารของตนเอง จะนำพาให้ทุกคนสามารถสามารถก้าวผ่านภาวะวิกฤติต่างๆ ได้

“เราเน้นการไปปรับปรุงพื้นที่ดินของเมืองที่เต็มไปด้วยหินดินแห้งแล้งไม่มีคุณภาพ หรือพื้นที่รกร้างว่างเปล่า โดยไปชวนคนในชุมชนเมือง เอาขยะอาหารมาหมักปุ๋ย ทำให้ดินมีธาตุอาหารเพียงพอ พื้นที่ก็จะช่วยยึดโยงให้คนได้กลับมาทำงานร่วมกันผ่านพื้นที่อาหาร

“แต่เราไม่ได้บอกว่าการปลูกผักในเมืองเป็นเรื่องง่ายนะ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าที่คนจะทำได้ ขอแค่ให้เรียนรู้และเข้าใจว่า พืชผักกว่าจะเติบโตมาเป็นอาหารสดๆ ให้เรากิน เราต้องดูแลดิน ดูแลพื้นที่ ดูแลสิ่งแวดล้อมรอบข้างให้ดี ดูแลน้ำให้สะอาด ที่สำคัญคือดูแลเพื่อนพี่น้องที่เข้ามาทำงานกับเราด้วย”

ส่วนภาคธุรกิจที่ร่วมขับเคลื่อนเรื่องการสร้างพื้นที่อาหารอย่าง รัชพล ไกรจิรโชติ กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน เล่าถึงไอเดียการทำฟาร์มผักบนดาดฟ้า Wastegetable Farm บนห้างเซ็นเตอร์วันว่า

“ตอนแรกที่ห้างลงทุนซื้อเครื่องหมักขยะเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ย ก็เอาปุ๋ยไปใส่ต้นไม้บ้าง แจกบ้าง แต่ทุกวันห้างเรามีขยะจากเศษอาหารวันละ 400 กิโลกรัม ทำปุ๋ยแจกอย่างไรก็ไม่หมด เรามีพื้นที่ มีทรัพยากร แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร จนได้แนวร่วม คือคุณหนู (ปารีณา ประยุกต์วงศ์) มาช่วยหาโซลูชัน ทำปุ๋ยหมัก ปลูกผักบนดาดฟ้าจนโครงการสำเร็จ”

“การทำโครงการ ถ้าจะเป็นการทำขององค์กร จุดสำคัญที่หน่วยงานนั้นจะคิดก็คือโครงการต้องเลี้ยงตัวมันเองได้ ตอนนี้เราทำ Wastegetable Farm มาเกือบสามปี ก็ถือว่าเป็นโมเดลธุรกิจที่สามารถอยู่ได้ ไม่มีใครต้องมาเสียสละเพื่อโครงการนี้

“เราให้เจ้าหน้าที่ของห้างเป็นตัวกลางในการแยกขยะเศษอาหารที่ลูกค้าทานเหลือในศูนย์อาหาร นำไปหมักปุ๋ย ปลูกผัก ได้ผักสดๆ กิน ไปขายได้อีก นอกจากนี้ยังมีการจัดเทรนนิ่งให้คนที่สนใจปลูกผักเองที่บ้านได้มาเรียนถึงในฟาร์ม นำโมเดลฟาร์มดาดฟ้าไปไว้ที่บ้านตัวเองได้ในทุกสเกล”

ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาทั้งสี่มองว่า มากกว่าความท้าทายในเรื่องที่ดิน คุณภาพดิน ทรัพยากรความรู้ ปัจจัยในการปลูก คือการมองเห็นโอกาสที่หลากหลาย และโอกาสนั้นมาถึงแล้วในช่วงเวลานี้ ทั้งการสนับสนุนในเชิงนโยบาย การขับเคลื่อนและความเข้าใจในภาคธุรกิจ ซึ่งการขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่เกษตรในเมืองสามารถยั่งยืนได้ ถ้าทุกคนร่วมกัน

“วันนี้ SAFETist Farm นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตอาหารสดและปลอดภัยในเมืองใหญ่แล้ว ยังเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และหลังจากที่ได้ลงพื้นที่ไปฝึกอาชีพให้กับกลุ่มคนที่ไม่ใช่แค่กลุ่มเปราะบาง เราเจอกลุ่มผู้สูงวัยกำลังเข้ามาทำเต็มรูปแบบ

“ความท้าทายคือเขาปลูกแล้วไม่มีตลาด แต่คิดว่าการมีตลาดสีเขียวตามพื้นที่ต่างๆ ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ สำคัญคือร้านค้าให้เป็นคนในพื้นที่ ทุกวันนี้มีคนเมืองหลายคนอยากปลูกผัก แต่ไม่มีปัจจัยในการปลูก ถ้าในอนาคตมีกลุ่มคนที่สามารถนำปัจจัยการผลิตบางอย่างที่ส่งฟรีให้กับเขาได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องดี” อรอุมากล่าว

ด้านวรางคนางค์เสริมว่า “ตลอดการทำงานกว่า 13 ปี เราไม่ได้มองเป็นความท้าทาย แต่มองเห็นความเป็นไปได้ คือการทำเกษตรในเมืองเป็นรูปแบบการปลูกที่เหมาะสมกับบริบทของเมือง จะมีพื้นที่เล็กๆ 1 ตารางเมตร หรือกะละมังเดียวก็สามารถปลูกผักได้ แทนที่คุณจะต้องขับรถไปซื้อกะเพรา 10 บาท จ่ายค่ารถไปกลับอีก แต่ใช้แค่ยอดสองยอด กับการเดินไปที่หลังบ้านแล้วเด็ดมาใช้ได้เลยย่อมดีกว่า

“แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องเข้าใจว่าการส่งเสริมการทำเกษตร ไม่สามารถเดินไปอย่างยั่งยืนได้ ถ้าเราไม่ทำความรู้เรื่องการบริโภคที่ดี ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคตระหนักว่าการกินของเราไม่ใช่แค่จ่ายเงินซื้อแล้วอิ่มอร่อย แต่สามารถช่วยรักษาพื้นที่เกษตร พื้นที่อาหารของเมืองเอาไว้ รักษาเกษตรกรรายย่อย สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนที่ทำเกษตรหรือการผลิตอาหาร ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยจัดการขยะอาหาร ช่วยทำให้เมืองน่าอยู่ คือทำแค่ฐานการผลิตไม่ได้ ฐานการบริโภคก็ต้องทำด้วย

“แต่ทุกอย่างต้องมีปัจจัยสนับสนุน ถ้าเกิดเมืองมีนโยบาย ทุกชุมชนทุกพื้นที่ควรจะมีพื้นที่เกษตร ซึ่งส่วนตัวอยากเชียร์ให้เกิดตลาดชุมชนในย่านนั้นๆ อาหารที่ดีใช้ทรัพยากรของย่านไหน ควรเลี้ยงดูคนในชุมชนย่านนั้น แต่ถ้าผลิตได้มากเกิน ไปขายย่านใกล้เคียงก็ได้”

ก่อนจบเสวนา พรพรหมได้กล่าวถึงนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. เป็นการทิ้งท้ายว่า “นอกจากนโยบายแยกขยะ การทำโรงปุ๋ยหมัก นโยบายด้านการเกษตรของท่านผู้ว่าฯ อีกมิติก็คือ การส่งเสริมให้มีฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ตใน 50 เขต ซึ่งตอนนี้ดำเนินการแล้ว 38 เขต และคิดว่าฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ตอาจจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของเมืองด้วย

“และยังมีเรื่องการส่งเสริมเกษตรปลอดภัย ที่ตอนนี้ทุกเขตมีนโยบายที่จะเข้าไปส่งเสริมประมาณ 200 ครัวเรือน ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะเป็นเมืองใหญ่ มีนโยบายมีบริบทที่ต้องทำเยอะ แต่เรื่องเกษตรก็เป็นเรื่องที่เราไม่ลืม”

ภาพ: UddC

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.