การตลาดอาหารและผลกระทบ เมื่อเด็กถูกรายล้อมด้วยอาหารหวานมันเค็ม

medium shot kids with orange juice edited Gindee Club กินดี คลับ

ในโลกของธุรกิจอาหาร การตลาดเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินธุรกิจ แต่การที่แบรนด์อาหารมุ่งไปที่การทำการตลาดเพื่อส่งเสริมการขายเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้คำนึงผลกระทบด้านลบที่ตามมา อาหารชนิดนั้นอาจกำลังยื่นยาพิษไปสู่ผู้บริโภคอย่างมิรู้ตัว

ยิ่งหากกลุ่มลูกค้าของอาหารชนิดนั้นคือเด็กที่ยังเลือกกินไม่เป็น ผลกระทบดังกล่าวอาจจะอยู่กับเด็กอย่างยืนยาวทั้งชีวิต แต่เราจะทำอย่างไรในโลกที่รอบตัวเด็กรายล้อมไปด้วยโฆษณาอาหารและการส่งเสริมการตลาดอยู่ทั่วทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะในร้านค้า โรงเรียน ท้องถนน ในสื่อโทรทัศน์ โลกออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งอาหารเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เต็มไปด้วยน้ำตาล เกลือ ไขมัน ในปริมาณมากเกินไป

ในวงเสวนา ‘ปิดเทอมอย่างไรให้เด็กไทยห่างไกลจากโรคอ้วน’ ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แพทย์หญิงวิสารัตน์ ธีระโกเมน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ได้ฉายภาพให้เห็นสถานการณ์ที่เด็กไทยตกอยู่ในภาวะเสี่ยงของการเกิดโรคอ้วน ซึ่งเป็นมาจากการกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง ผ่านการบรรยาย ‘โรคอ้วนในเด็กและผลกระทบของการตลาดอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน โซเดียมสูง’ เอาไว้ว่า

กว่า 20 ปีที่ผ่านมา เด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า และมีการคาดการณ์สถานการณ์โรคอ้วนในเด็กและเยาวชนไทย โดยสหพันธ์โรคอ้วนโลก (WOF) ว่าจะสูงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2573

ความน่ากังวลกว่าสัดส่วนร่างกายที่น้ำหนักมากเกินเกณฑ์ คือผลที่ส่งให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และยังส่งผลต่อจิตใจหากถูกล้อเลียน หรือขาดความมั่นใจในการเข้าสังคม ทั้งเด็กอ้วนยังมีแนวโน้มเติบโตเป็นวัยรุ่นที่อ้วนมากถึง 55 เปอร์เซ็นต์ และกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพและการสูญเสียเงินได้จากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร มีมากกว่า 12,000 ล้านบาทต่อปี

ซึ่งสาเหตุสำคัญของภาวะอ้วนในเด็ก มีที่มาจากการบริโภคอาหารหวานมันเค็มมากเกินไป โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล อาหารฟาสต์ฟู้ด และสิ่งที่เป็นตัวเร่งปัจจัยให้เด็กกินอาหารไม่ถูกต้องจนเกิดโรคอ้วน ส่วนหนึ่งมาจากการถูกรายล้อมด้วยอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็ม

ขณะที่ผลจากการประเมินผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มของประเทศไทย ตามมาตรฐานโภชนาการจากฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ 41,415 รายการ ซึ่งจำนวนนี้มีข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่สามารถเข้าประเมินตามเกณฑ์ของโลโก้ Healthier Choice ได้ 12,282 รายการ พบว่า มีผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ผ่านเกณฑ์โภชนาการมากถึง 88 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่น่าสนใจจากการบรรยาย คือช่วงสถานการณ์โควิดที่เด็กต้องเรียนออนไลน์ และใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์มากขึ้น พบว่ามีเด็กมีน้ำหนักเกินเพิ่มมากขึ้น เพราะกิจกรรมส่วนใหญ่ของเด็กจะอยู่หน้าคอมพิวเตอร์และโลกออนไลน์ ซึ่งกิจกรรมของเด็กในช่วงปิดเทอมก็ไม่ต่างกัน

“เด็กจะอยู่กับหน้าจอช่วงวันหยุดมากขึ้นกว่าวันธรรมดาหรือวันไปโรงเรียน และโลกออนไลน์ทำให้เด็กเข้าถึงสื่อมากขึ้น ผลที่ตามมาคือเขาจะเห็นโฆษณาที่จะถูกยิงหรือป๊อปอัพขึ้นมาในช่วงที่เด็กชอบดู เป็นกลไกการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเด็ก เมื่อเด็กเห็นบ่อย ๆ จะอยากกินมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการลดแลกแจกแถม รวมถึงการตลาดแอบแฝง เช่น การบริจาคให้กับโรงเรียน หรือมีรถเครื่องดื่มเข้ามาในโรงเรียน ก็มีส่วนทำให้เด็กคุ้นเคยกับโลโก้และติดแบรนด์” พญ.วิสารัตน์ให้ความเห็น

“การตลาดอาหารที่มีผลต่อเด็ก จะมีตั้งแต่การใช้ฉลากตัวการ์ตูนน่ารัก ๆ หรือที่กำลังฮิตอยู่ช่วงนั้นมากระตุ้นให้เด็กอยากซื้อ อยากกิน แต่เด็กมีความรู้ไม่เพียงพอว่าสิ่งที่ดูอยู่นั้นดีต่อสุขภาพมั้ย กินมาก ๆ จะมีผลเสียอย่างไร และทำให้การกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเป็นเรื่องปกติ

“และเมื่อเห็นในโฆษณา เพื่อนก็กิน โรงเรียนก็ขาย จะทำให้เด็กเพิ่มการบริโภคอย่างไม่รู้ตัว มีความภักดีต่อแบรนด์ เห็นแบรนด์นี้ต้องกิน ยิ่งถ้ามีดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่ชอบเป็นพรีเซนเตอร์ก็จะยิ่งทำให้อยากกินมากขึ้น”

พญ.วิสารัตน์ยังได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกซื้ออาหารของเด็กส่วนใหญ่อีกว่า มาจากความชอบ 27.7 เปอร์เซ็นต์ ความอยาก 18.8 เปอร์เซ็นต์ และรสชาติ 18.8 เปอร์เซ็นต์ มีเด็กน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ที่คำนึงถึงคุณค่าทางอาหาร ซึ่งพฤติกรรมการเลือกซื้อแบบนี้ยังรวมถึงผู้ใหญ่ด้วย

“การตลาดอาหารและเครื่องดื่มทำให้เด็กชื่นชอบ และหากเด็กไทยพบเห็นการตลาดอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็มมาก จะส่งผลให้เด็กชื่นชอบและเลือกซื้ออาหารหวานมันเค็มมากตามไปด้วย สิ่งที่เราอยากผลักดันคือ ควรส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้เรื่องคุณค่าทางอาหาร และมีการโฆษณาอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ”

people eating corn dog high angle edited Gindee Club กินดี คลับ

ทั้งนี้ แพทย์หญิงวิสารัตน์ยังแนะนำ 9 ข้อปฏิบัติการกินเพื่อสุขภาพของเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นเอาไว้ว่า

1. กินอาหารให้ครบ 6 กลุ่ม แต่ละกลุ่มให้หลากหลายในปริมาณที่แนะนำตามธงโภชนาการ และหมั่นดูแลน้ำหนักตัวและส่วนสูง เพื่อปรับเปลี่ยนการกินได้เร็วหากน้ำหนักตัวเยอะขึ้น (แนะนำสัดส่วนการกินที่ถูกต้องสมวัยที่ https://bit.ly/3nUut7J )

2. อาหารมื้อหลักควรเป็นข้าว แต่หากต้องการควบคุมน้ำหนักอาจเน้นข้าวขัดสีน้อยหรือข้าวกล้อง และหากสลับอาหารเป็นแป้งชนิดอื่น เช่น ขนมปังในบางมื้อ ก็ไม่ต้องกินข้าว

3. อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ให้เน้นปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดไขมัน ถั่วเมล็ดแห้ง เพื่อให้ร่างกายเด็กได้รับโปรตีนไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หรือใช้ในพัฒนาการการเจริญเติบโต

4. กินผักให้มาก กินผลไม้รสหวานน้อยเป็นประจำ และกินให้หลากสี เด็กที่กินผักยากควรเลือกผักที่กินง่าย ไม่มีรสขมมาก

5. ดื่มนมจืดเป็นประจำทุกวัน วันละ 1-2 แก้ว และกินอาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียมอื่น ๆ

6. หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด หากปรุงอาหารกินเองเน้นใช้เกลือไอโอดีน

7. กินอาหารสะอาด ปลอดภัย ปรุงสุกใหม่ ไม่กินสุก ๆ ดิบ ๆ เพื่อลดโรคจากการปนเปื้อนในอาหาร

8. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มหวาน

9. งดอาหารหมักดอง และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.