เปิดนโยบาย ‘เกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร’ จาก 11 พรรคการเมืองก่อนเลือกตั้งปี 66
เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ด้วยการร่วมพิจารณาจากบทสรุปนโยบายเลือกตั้ง 2566 เรื่อง ‘เกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร’ ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์จากการตอบคำถามสำคัญ 4 ข้อ
ทำอย่างไรให้เกษตรกรไทยเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน, แก้ปัญหาสารพิษตกค้างในผักและผลไม้อย่างไรหลังพบว่ามีสารพิษเกินค่ามาตรฐาน, แก้ปัญหาเด็กไทยมีภาวะเตี้ยอย่างไร, และใช้มาตรการใดในการป้องกันการรวมศูนย์ระบบเกษตรของประเทศ จากตัวแทนทั้ง 11 พรรคการเมือง ซึ่งจัดเวทีโดยมูลนิธิชีววิถี
‘เลือกได้ อยู่ได้ เปลี่ยนแปลงได้ ปลดล็อคได้ และเพิ่มทางเลือกได้’ นโยบายพรรคก้าวไกล โดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด
-มอบ ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’ เพิ่มเงินอุดหนุนเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ จากเดิม 600 บาท เป็น 3,000 บาทต่อเดือน
-ปลดล็อก 3 อย่างคือ ‘ที่ดิน’ ด้วยกองทุนพิสูจน์สิทธิในที่ดินต่างๆ ‘หนี้สิน’ ด้วยทางเลือก 3 ทาง คือ หนึ่ง-จ่ายหนี้คนละครึ่งกับรัฐบาล สอง-ให้รัฐบาลเช่าที่ดินระยะยาวเพื่อปลูกไม้เศรษฐกิจ สาม-ยืมพื้นที่หลังคาบ้านติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และแบ่งรายได้หลังหักต้นทุนการติดตั้งมาชำระหนี้ สุดท้าย ‘แหล่งน้ำ’ ด้วยการลงทุนในอัตรา 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อ 25,000 บาท
-มุ่งหน้าสู่ช่องทางตลาดพรีเมียมด้วยการแปรรูป เช่น สุราก้าวหน้า แปรรูปสมุนไพรต่างๆ เครื่องสำอาง ส่งขายในตลาดที่มีมูลค่าสูง
-ส่งเสริมให้เกษตรกรรุ่นใหม่เข้ามาทำงานแทนที่ ด้วยการจ้างงานมาให้บริหารจัดการ
-มีการตรวจมาตรฐานปลอดภัยของผักและผลไม้ให้ครอบคลุมและทั่วถึงจากรัฐบาลอย่างเข้มงวดและจริงจัง
-ส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มรายได้ด้วยการทำ ‘ฟาร์มสเตย์’ ให้เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่น
-เพิ่มเงินช่วยเหลือเด็กไทยเป็น 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน
-เพิ่มค่าอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนเป็น 30 บาทต่อคนต่อวัน พร้อมขยายไปจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษา
-กระจายอำนาจของบุคคลกรไปสู่ในระดับท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด
‘เกษตรเพื่อสุขภาพ คนไทยไม่เป็นโรค ลดการใช้สารเคมี’ นโยบายจากพรรคภูมิใจไทย โดย ศุภชัย ใจสมุทร
-ใช้ยุทธศาสตร์ เกษตรเพื่อสุขภาพ คนไทยไม่เป็นโรค ลดการใช้สารเคมีร้อยละ 50 ต่อต้านการใช้สารพิษทางเกษตรทั้ง 3 ชนิดอย่างต่อเนื่อง
-ยกระดับและพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ด้วยการใช้เกณฑ์ของยุโรปอย่างเข้มข้น
-ยกเลิกการนำเข้าและใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายในระดับนานาชาติ
-ยกเลิกการนำเข้าสารเคมีที่ไทยเคยยกเลิกไปแล้วไม่ให้นำกลับเข้ามาอีก
-ยกเลิกการสนับสนุนทางการเงินในภาคธุรกิจหรือเกษตรกร ที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งทางตรงและทางอ้อม
-จัดเก็บภาษีสารเคมีจำกัดศัตรูพืชให้ขึ้นทะเบียนตามระดับความเป็นอันตราย และห้ามโฆษณา พร้อมกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง
-ควบคุมสินค้าการเกษตรที่อาจปนเปื้อน หรือปฏิเสธสินค้าที่มีสารเคมีหรือทำลายทิ้งก่อนถึงมือผู้บริโภค
-เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์อย่างน้อยร้อยละ 200 ด้วยเงินสนับสนุนจากทางรัฐบาลและการกู้ยืมจากธนาคาร
-ลดภาษีเกษตรอินทรีย์ สนับสนุนตลาดอินทรีย์ในระดับตำบล
-ส่งเสริมตลาดเขียวให้เกิดขึ้นในทุกๆ พื้นที่
-มอบทุนสนับสนุนด้านการวิจัยหรือการให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ให้กับองค์กรต่างๆ
-ส่งเสริมและสนับสนุนภาคเกษตรกรรมให้เกิดเป็นคลังอาหารที่อุดมสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง
‘ยกระดับภาคเกษตรกรรม สู่มหาอำนาจทางอาหารของโลก’ นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ โดย อลงกรณ์ พลบุตร
-ส่งเสริมนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนให้เกิดเกษตรอินทรีย์ 2 ล้านไร่ ทำเกษตรคาร์บอนต่ำลดโลกร้อน ขับเคลื่อนสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอสอย่างเต็มกำลัง
-เดินหน้าเรื่องอาหารแห่งอนาคต สู่ทางเลือกของอาหาร ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนจากพืชหรือแมลงที่ปัจจุบันมีกว่าหนึ่งพันฟาร์มทั่วประเทศ
-ส่งเสริมการปลูกพืชท้องถิ่นกินได้ เช่น สาหร่าย ผำ แหนแดง รวมทั้งอาหารฮาลาล
-ส่งเสริมเกษตรปลอดภัย เกษตรสุขภาพ ด้วยการเพิ่มปุ๋ยชีวภาพเป็น 5 ล้านตันทดแทนการนำเข้าปุ๋ยเคมี
-จัดตั้งศูนย์บริการดิน ปุ๋ย น้ำชุมชนทุกตำบล นำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้เพื่อพัฒนาพื้นที่แต่ละจังหวัด
-คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมสวัสดิภาพของเกษตรกร รวมถึงคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์พืช เมล็ดพันธุ์ หรือพันธุ์สัตว์
-ยกระดับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ด้วยการขับเคลื่อนกรรมการเกษตรกรยั่งยืนในระดับตำบลทุกจังหวัด
-เติมทุนเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ 3 ล้านบาท 1 หมื่นแปลง เพื่อให้เป็นเสาเข็มใหม่ของประเทศ
‘สร้างความแข็งแกร่งให้เกษตรกร ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่’ นโยบายจากพรรคชาติไทยพัฒนา โดย นิกร จำนง
-ส่งเสริมเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
-บริหารจัดการน้ำสำหรับภาคเกษตรด้วยการเจาะน้ำบาดาลเพิ่ม
-ขยายเขตการไฟฟ้าเพื่อการเกษตรยูนิตละ 2 บาท
-ผลักดันให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ขายคาร์บอนเครดิต
-เพิ่มทุนภาคการเกษตรให้มากขึ้น สร้างเสริมความแข็งแกร่งให้กับเกษตรกร และองค์กรภาคเกษตรและสหกรณ์ให้แข็งแรง
-เพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการภาคการเกษตรแบบครบวงจร
-สนับสนุนให้เกษตรกรไทยปลูกพืชที่ตัวเองกินได้ แทนการปลูกพืชอาหารสัตว์หรือปลูกเชิงเดี่ยว
-ลดการเผาเพื่อสุขภาพของผู้คนและสิ่งแวดล้อม
-แจกพันธุ์ข้าวปลอดภัยให้กับเกษตรกร
-ปรับรูปแบบบริหารจัดการระบบการเกษตรและระบบสาธารณสุข เพื่อให้เด็กไทยได้รับอาหารปลอดภัยและมีโภชนาการครบถ้วน
‘ผลักดันเกษตรกรรมภูมิปัญญาชาวบ้าน สู่มาตรฐานสากล’ นโยบายพรรคประชาชาติ โดย มนตรี บุญจรัส
-พัฒนาสินค้าราคาถูกจากปราชญ์ชาวบ้านหรือภูมิปัญญาชวาบ้าน เช่น สารชีวภัณฑ์ สุราพื้นบ้าน น้ำกะแช่ สาโท สู่มาตรฐานระดับสากล
-เพิ่มพื้นที่ทำกินทางการเกษตรด้วยการแบ่งพื้นที่ครึ่งหนึ่งของเขตพื้นที่ป่าสงวนฯ หรือที่ดินสปก. ในส่วนที่ไม่มีพื้นที่สภาพป่า ยกเว้นป่าอนุรักษ์และป่าชายเลน เรียกคืนสิทธิครอบครองพื้นที่ เกษตรกรรมครอบครองได้ไม่เกิน 50 ไร่ ภาคอุตสาหกรรมครอบครองได้ไม่เกิน 10 ไร่ หากเกินต้องเก็บภาษีที่อยู่อาศัยหรือเพื่อการพาณิชย์ไม่เกิน 5 ไร่
-ผลักดันให้เกิดพ.ร.บ.เกษตรปลอดภัย
-ส่งเสริมนโยบายเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมีสู่การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในระยะยาว เพื่อให้ประเทศมีอาหารปลอดภัย และผู้คนมีสุขภาพที่ดี ด้วยการมอบปุ๋ยฟรี
-ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยด้วยตัวเองเพื่อใช้ภายในประเทศ หรือเพื่อการส่งออก ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
‘แก้ไขปัญหาที่ต้นทาง ด้วยการดีไซน์ใหม่ไม่เน้นแจก’ นโยบายพรรคชาติพัฒนากล้า โดย อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี
-มุ่งหน้าสู่การเป็น ‘เกษตรแปรรูป’ และรวมกลุ่มให้เข้มแข็งด้วยการนำสหกรณ์ต่างๆ เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสู้กับการแข่งขันในตลาดโลก
-หาโอกาสทางการเงินใหม่ๆ ในภาคการเกษตร ให้เกษตรกรมีหุ้นในสหกรณ์ และสามารถซื้อขายหุ้นได้เพียงแค่ดูหน้าจอ
-ส่งเสริมเกษตรกรรมแบบใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยีและสร้างคอมมูนิตี้บนมือถือ เช่น แอปพลิเคชั่นปลูกพืช แอปพลิชั่นการใช้ปุ๋ย หรือการแจ้งข่าวสารเรื่องภาคการเกษตรทุกแง่มุมจากทุกกรมไว้ในแอปพลิเคชั่นเดียว
-เปลี่ยนจาก ‘นโยบายประชานิยม’ เป็น ‘นโยบายโอกาสนิยม’”
‘ใส่ปุ๋ยให้ประเทศเติบโต ด้วยต้นไม้พันต้น สามปีมีล้านบาท’ นโยบายจากพรรคกรีน โดย พงศา ชูแนม
-จัดตั้ง ‘ธนาคารต้นไม้’ ให้มูลค่าไม้เป็นทรัพย์และเป็นหลักประกันทางการเงิน
-มีการออก ‘หวยต้นไม้’ จากเลข 15 หลักของต้นไม้เหมือนสลากกินแบ่งรัฐบาล
-มี ‘โรงรับจำนำต้นไม้’ ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐบาล สามารถกู้เงินสร้างบ้านได้ในกรณีที่ใช้ไม้จากธนาคารต้นไม้
-ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ ต้นไม้อายุเกิน 3 ปีขึ้นไปมอบเงินให้ต้นละ 1,000 บาท ไม้ส่วนเกินนำไปผลิตเป็นไฟฟ้าพลังชีวภาพด้วยการประกันค่าราคาไม้ที่เป็นธรรมตามค่าความร้อน 6 บาทต่อกิโลกรัม
-ปรับเรื่องปัญหาที่ดินทำกิน ด้วยการรับสัมปทานปลูกป่ารายย่อย
-ส่งเสริมเกษตรสุขภาพในระดับหมู่บ้าน ผ่านระบบ อสม. และการซื้อประกันชีวิตให้ทุกหมู่บ้าน
-ผลักดันให้เกิดโครงการ 50 บาทป้องกันทุกโรค
‘พักหนี้เกษตรกรสามปี รายได้ดีสามเท่า’ นโยบายพรรคเพื่อไทย โดย น.สพ.ชัย วัชรงค์
-พักหนี้ทั้งต้นทั้งดอก และชดเชยดอกเบี้ยเพื่อให้เกษตรกรตั้งหลักให้ได้
-เร่งสำรวจและแก้กฎหมายพิสูจน์สิทธิ พร้อมแก้โฉนดที่ดิน 50 ล้านไร่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ส.ค.1 สปก. ที่ป่าเสื่อมโทรม พื้นที่บนที่ราบสูงที่มีผู้คนอาศัยอยู่ เมื่อได้รับแล้วจะต้องปลูกป่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ที่ได้รับทั้งหมด
-เพิ่มรายได้ใหม่สามเท่า ด้วยการยกระดับ GDP ภาคการเกษตร ให้เป็น 2 หมื่นบาทต่อไร่ต่อปี
-ส่งเสริมนโยบาย ‘เปลี่ยนผ่าน’ โดยให้เกษตรกรที่สมัครใจ เลือกปลูกสินค้าทางการเกษตรที่มีตลาดรองรับอยู่แล้ว พร้อมมอบเงินอุดหนุนพิเศษ เช่น การปลูกข้าวโพด 3 ล้านไร่ และมีการประกันราคานำร่อง 10 บาทต่อกิโลกรัม แต่มีเงื่อนไขคือห้ามเผา เปลี่ยนที่นามาปลูกหญ้าเลี้ยงโคประกันรายได้ 16 เท่า
-ส่งเสริมการปลูกทุเรียน 1 ล้านไร่ ส่งเสริมการสร้างแหล่งน้ำทางการเกษตรเพื่อการจำหน่าย
-สนับสนุนสตาร์อัปพัฒนาแอปลิเคชั่นในภาคเกษตร
-กำหนด KPI ผู้บริหารองค์กรทางการเกษตร
-เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 15 ล้านไร่ภายใน 4 ปี
-ส่งเสริมให้มี 1 อำเภอ 1 โรงปุ๋ยอินทรีย์แบบปลอดดอกเบี้ย
-มอบเงินอุดหนุนให้เกษตรกรผ่านรูปแบบของการลงทุน
‘3 สร้าง 2 ขจัด’ นโยบายจากพรรคไทยสร้างไทย โดย ศรัณยู คงสวัสดิ์เกียรติ
-มอบคูปองซื้อนมและอาหารคุณภาพสำหรับเด็กแรกเกิด – 6 ปี คนละ 3,000 บาทต่อเดือน
-จัดการงบประมาณอาหารกลางวันและนมโรงเรียนสำหรับเด็กอายุ 6-14 ปี
-เรียนฟรีตั้งแต่อายุ 6 ปีจนจบปริญญาตรี
-ผู้สูงอายุมีบำนาญ 3,000 บาท ประชาชนเจ็บป่วยมีโครงการ 30 บาทพลัส ปรึกษาหมอผ่านแอปลิเคชั่น สั่งยาและรับยาใกล้บ้านได้
-เกษตรกรเก็บเกี่ยวและมีผลผลิตเหลือ สามารถนำไปฝากไว้ที่ศูนย์พัฒนาสินค้าทางการเกษตรและโลจิสติกส์ประจำจังหวัดที่พรรคไทยสร้างไทยกำลังจะผลักดันให้เกิดขึ้น พร้อมช่วยพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้น และเมื่อสินค้าขายดี จะมีโอกาสได้รับกองทุนสร้างไทย 3 แสนล้าน เพื่อพลิกโฉมจากเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ
-เพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชให้มีความต้านทานต่อโรคและศัตรูพืช
-เพิ่มการทำเกษตรอินทรีย์ และผลักดันให้เกิดการงดใช้กฎหมาย 1,400 ฉบับที่ไม่จำเป็น
‘ความมั่นคงทางอาหาร คืออธิปไตยที่ต้องเร่งผลักดัน’ นโยบายจากพรรคสามัญชน โดย ณัฐพร อาจหาญ
-มองความมั่นคงทางด้านอาหารเป็นเรื่องของอธิปไตย ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสรีและปลอดภัย โดยมีกลไกคุ้มครองผู้บริโภคจากภาครัฐ
-มอบอำนาจการต่อรองให้กับเกษตรกรรายย่อยสู่เวทีเจรจาต่อรองทางการค้า
-เสนอให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และต้องระบุคำว่า ‘สิทธิเกษตรกร’ คุ้มครองสิทธิของเกษตรกร และบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับภาคเกษตร
-ปรับกฎหมายเพื่อนำมาใช้ในการควบคุมปัจจัยการผลิตต่างๆ โดยเฉพาะระบบที่ดินทั่วประเทศ ทั้งหมดต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
-กระจายอำนาจสู่ระดับท้องถิ่น เพื่อออกแบบแนวนโยบายการเกษตรให้สอดคล้องกับพื้นที่ในชุมชน และสามารถจัดการทรัพยากรท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม
‘ลดหนี้ ลดความเสี่ยง ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ เพิ่มทางเลือก และเพิ่มนวัตกรรม’ นโยบายจากพรรคพลังประชารัฐ โดย ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล
-เติมทุน 3 หมื่นบาทต่อครัวเรือน เพื่อนำไปใช้สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตต่อไร่
-มีโครงการ ‘ธนาคารเพื่อประชาชน’ สำหรับนำไปใช้ในภาคเกษตร และค้นคว้าด้านนวัตกรรม หรือเพิ่มตลาดทางเลือกอื่นๆ เช่น ตลาดเกษตรอินทรีย์
-มุ่งลดการใช้สารเคมี และลดฝุ่นลดคาร์บอนด้วยการประกาศใช้น้ำมันยูโร 5 ในวันที่ 1 มกราคม ปี 2567
-ส่งเสริมกระบวนการที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ชีวภาพและอินทรีย์ในภาคเกษตรให้มากยิ่งขึ้น