เมื่อนมแม่เป็นมากกว่าอาหาร ทำอย่างไรให้เด็กไทยได้กินนมแม่อย่างยั่งยืน
สังคมไทยในยุคก่อน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรม เพราะแต่ละครอบครัวต่างก็เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยการเข้าเต้าล้วนๆ แต่ภาพดังกล่าวเลือนหายไปจนเกือบหมดเพราะการเปลี่ยนแปลงของโลกได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงบริบทของสังคมไทยให้เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงนั้น
ด้วยความสำคัญของนมแม่ ไม่ได้เป็นแค่เพียงการให้เด็กคนหนึ่งได้กินนมแม่แล้วจบไป แต่การที่เด็กไทยคนหนึ่งได้กินนมแม่ คือการสร้างฐานทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ การผลักดันและขับเคลื่อนให้สังคมไทยหันมาใส่ใจการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงดำเนินมาอย่างยาวนาน และถึงจุดที่กลับมายืนได้ระดับหนึ่ง เพราะตอนนี้มีลูกที่ได้กินนมแม่เป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นแต่ก็ยังไม่มากพอ ยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็น ‘วิถีของแม่และสังคมไทย จึงยังเดินหน้าต่ออย่างเข้มข้น

หนึ่งในเวทีเสวนาที่น่าสนใจ เกิดขึ้นในงานประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 8 ซึ่งกรมอนามัย และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จัดขึ้นร่วมกับภาคีเครือข่าย คือ ‘Brand Building & Strategy for Breastfeeding’ ที่ชวนคุยกันถึงเรื่องการสร้างแบรนด์นมแม่ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมสู่ความยั่งยืน ด้วยเนื้อหาที่เป็นไปอย่างออกรส ว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องนี้เดินเข้าสู่เส้นชัยได้
นอกจากเป้าหมายในการผลักดันไปสู่นโยบายระดับชาติแล้ว การนำแนวคิดทางการตลาดและการสร้างแบรนด์มาช่วยสนับสนุน ก็เป็นวิธีที่หลายประเทศทำแล้วได้ผล แล้วหากประเทศไทยจะทำแบบนั้นบ้าง ควรต้องมีกระบวนการอย่างไร
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา ให้ความเห็นว่า “ในการเริ่มต้นชีวิตวันแรกของเราหนีไม่พ้นเรื่องนมแม่ เรารู้กันหมดว่านมแม่ดียังไง แต่การจะลงมือปฏิบัติจริงก็มีเรื่องที่ทำได้และทำไม่ได้ แม่บางกลุ่มก็มีความจำเป็นที่ให้นมลูกไม่ได้ ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจ และเราต้องสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้เขาสามารถให้นมแม่ได้”
ขณะเดียวกัน พ่อหรือปู่ย่าตายายก็มีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงดู โดยเฉพาะสังคมปัจจุบันที่พ่อแม่ไปทำงาน และเด็กอยู่ในการดูแลของปู่ย่าตายาย ในฐานะพ่อที่กำลังมีลูกเล็ก หมอไพโรจน์แชร์ถึงบทบาทที่พ่อสามารถทำได้ ทั้งการให้กำลังใจและการแบ่งเบาภาระการเลี้ยงดู “การตั้งกติกาขึ้นในบ้านจะช่วยให้การจัดการง่ายขึ้น อย่าปล่อยให้ภาระการให้นมเป็นหน้าที่ของแม่อย่างเดียว”

ทำอย่างไรให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างยั่งยืนถึงเป้าหมาย?
ด้าน ดร.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษาสมาคมพยาบาลนมแม่แห่งประเทศไทย ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ชวนคุยชวนคิดถึงการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้บรรลุถึงเป้าหมายว่า
“เราต้องยอมรับว่าน้ำนมแม่เป็นได้มากกว่าอาหาร น้ำนมแม่เป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดสายสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกัน (boning) การปลูกความรักระหว่างแม่กับลูก จะส่งต่อไปถึงครอบครัว สู่คนในชุมชน และสานความรักความเอื้ออาทรที่มีต่อผู้อื่น และเมื่อมนุษย์มีความรักต่อกัน ก็จะนำมาสู่สังคมที่สงบสุข”
แต่คำถามคือ เราได้ทำให้สังคมไทยซึมซับความมหัศจรรย์แห่งนมแม่ตามมิติเหล่านี้หรือยัง หรือเรามองนมแม่เป็นเพียงมิติทางกาย?
“เราเคยประสบความสำเร็จกันมาแล้ว จากเด็กกินนมแม่ร้อยละ 4 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 23 ทำไมเราไม่หยุดมองว่าที่ผ่านมาอะไรทำให้เราสำเร็จ”
ทั้งนี้ อาจารย์สง่าวิเคราะห์ว่า ความสำเร็จที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้กลายเป็นวาระโลก และไทยเราได้พัฒนากลุ่มแกนนำให้เกิดขึ้นได้อย่างมากมาย พร้อมกับมีการบรรจุเรื่องนี้ไว้ในแผนพัฒนาชาติทุกระดับ แล้วขับเคลื่อนทางยุทธศาสตร์ตามแนวทางบันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของ BFHI (Baby-friendly Hospital Initiative) ทั้งยังเกิดอินฟลูอินเซอร์และสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมากมาย
“เรามี อสม.นมแม่ มิสนมแม่ เราระดมภาคีเครือข่าย บขส.เดลิเวอรี่นมแม่จากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ใช้มาตรการทางสังคมควบคู่ทางกฎหมาย จับมือกับกระทรวงแรงงานออกกฎหมายนมแม่ ออกกฎหมายการตลาดนมผง และกำลังขับเคลื่อนไปสู่ 180 วันในการลาคลอด รุกเข้าไปในสถานประกอบการคือมีมุมนมแม่ ผมจึงขอฝากคิดต่อว่า เราจะนำปัจจัยความสำเร็จเหล่านี้มาปัดฝุ่นและเดินหน้าต่ออย่างไร”
นโยบายและแผนปฏิบัติงานที่ไม่ต่อเนื่อง การไม่สามารถสร้างความตระหนักในกลุ่มผู้กำหนดนโยบายได้ไม่มากพอ รัฐบาลและทุกภาคส่วนลงทุนกับเรื่องนี้ต่ำ ยุทธศาสตร์บันได 10 ขั้นเป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่อง ขาดองค์กรหลักระดับชาติในการขับเคลื่อน ฐานข้อมูลเพื่อการวางยุทธศาสตร์ชาติมีไม่พอ และขาดการส่งเสริมการวิจัยเพื่อพัฒนา เหล่านี้คือปัญหาที่อาจารย์สง่าชี้ให้เห็น
ทั้งได้เสนอการปรับแนวคิดใหม่ เพื่อให้เด็กไทยได้กินนมแม่อย่างยั่งยืนว่า ควรต้องปรับจุดขายของนมแม่จากสุขภาพมาเป็นการสร้างสังคมและเศรษฐกิจ ปรับมายด์เซตสำหรับผู้กำหนดนโยบายประเทศและท้องถิ่น ปรับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนมแม่ใหม่ภายใต้บริบทปัจจุบัน ปรับระบบและกลไกที่จะเอื้อต่อการส่งเสริมนมแม่ และปรับยุทธศาสตร์การสื่อสารให้เป็นหัวใจการขับเคลื่อน
“และผมอยากเห็นการพัฒนาทุกระดับ ทั้งผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติ นักวิชาการและชุมชน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ศูนย์นมแม่จะมีนักบริหารและนักการจัดการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เน้นพัฒนาทักษะการนำองค์ความรู้ด้านการจัดการ สร้างนวัตกรรมการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในทุกชุมชน
นอกจากนี้ยังต้องเร่งรัดปัจจัยเอื้อ ทั้งกฎหมายลาคลอด การบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาหารทารก หนุนเสริมบทบาทพ่อและคนใกล้ชิดแม่ สร้างบรรยากาศการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทุกสถานที่ที่มีแม่ ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบการ ส่งเสริมให้คลอดธรรมชาติ และส่งเสริมแม่ที่ผ่าคลอดให้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
“นมแม่เป็นมากกว่าอาหาร เพราะการทำให้เด็กไทยได้กินนมแม่คือการสร้างฐานทรัพยากรมนุษย์ไทยให้มีคุนภาพ นำไปสู่การสร้างชาติ ดังนั้นการขับเคลื่อนให้เด็กไทยได้กินนมแม่จะไม่สามารถรอถึงวันพรุ่งนี้ได้ แต่ต้องลงมือทำทันทีในวันนี้”

หนุนด้วย Marketing & Branding
ดร.วชิรวิชญ์ กีรติดุสิตโรจน์ เปิดโลกการตลาดนมแม่ในต่างประเทศให้เราเห็นว่า ในมิติการทำ Marketing & Branding การดื่มนมแม่ไม่ใช่ดื่มแค่นมแม่ แต่จะทำอย่างไรให้มีค่ายิ่งกว่านั้น
ในหลายประเทศผุดสโลแกนเพื่อใช้เป็นตัวนำในการสร้างสังคมนมแม่ อย่างในสวิตเซอร์แลนด์บอกว่า ‘ให้นมแม่วันนี้ เพื่อสุขภาพและความสุขของวันพรุ่งนี้’ นอร์เวย์ใช้น้ำเสียงที่ขึงขังด้วยการบอกว่า ‘สิทธิแรกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเด็ก คือสิทธิที่จะได้ดื่มนมจากแม่’
“เมื่อเรามาถึงยุคของการสร้างแบรนด์ เราต้องมองว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นโปรดักต์ แล้วใส่ 5P เข้าไป” นั่นหมายถึงเราต้องสวมกลยุทธ์การตลาด หรือ 5P ลงไป ซึ่งหมายถึง Product, Price, Place, Promotion, People
“ที่ญี่ปุ่นให้นมแม่เป็น Personal Product เขาใช้สโลแกน สูงได้ดังใจฝันด้วยสองเต้าของแม่ ทำที่จับเป็นเต้าปลอมให้เด็กได้จับไปด้วย หรือในทางกลับกัน เราสามารถสร้างโปรดักต์สำหรับแม่ที่กำลังให้นมบุตรโดยเฉพาะ นี่คือการสร้าง Product
“Price คือคุณค่าและมูลค่า ทำอย่างไรให้นมแม่เป็นของสูงและไฮโซ นมแม่คือของสูงที่สุด การตลาดนมผงจะน่ากลัวถ้าเขาสู้ด้วยการชี้นำว่านมผงดีกว่านมแม่ มีสารอาหารครบ ทั้งที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นจริงแต่โฆษณาขายจนมีคุณค่า ในขณะที่นมแม่ไม่เคยโฆษณาแต่มีคุณค่ามหาศาล
“Place คือช่องทางการเข้าถึงลูกค้า นมผงทำการขายผ่านเซล ทำโปรโมชั่น เข้าไปในโรงพยาบาล ฯลฯ แต่นมแม่ยังไม่มีการสร้างช่องทาง ทำยังไงให้ทุกที่ ทุกเวลา เป็นของนมแม่ ทุกที่มีที่ให้นมลูก สิ่งที่สิงคโปร์ทำคือ ใช้คำว่า ‘กรุณาให้ความเคารพต่อการทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ของแม่’ ถ้าผู้ชายมองผู้หญิงให้นมแม่อยู่ จะถูกตราหน้าว่าเสียมารยาท เพราะแม่กำลังทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่”
“Promotion คนเราจะทำอะไรแล้วทำได้ดีถ้าเขาทำแล้วมีส่วนได้ส่วนเสีย ดูดนมแม่ได้อะไร ถ้าบอกว่าได้สุขภาพดี ก็เข้าถึงคนได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าบอกว่าดูดนมแม่แล้วได้ตังค์ เขาจะรู้สึกว่าเขาได้ บางท้องถิ่นใช้วิธีว่า ถ้าใครเลี้ยงลูกนมแม่จะมีของขวัญให้ ที่อุบลฯ ถ้าเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะได้ข้าวกล้องเดือนละสองกิโล หรือในญี่ปุ่นถ้าบ้านไหนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะได้ลดค่าไฟยี่สิบเปอร์เซ็นต์
“สุดท้าย Personalized เราต้องรู้ว่ามีกลุ่มกำลังตั้งครรภ์กี่คน เขาอยู่ตรงไหน สนใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กี่คน มีความรู้และระบบนิเวศพร้อมกี่คน กี่คนที่ยังไม่รู้ กี่คนที่ยังไม่ได้คิด ถ้าไม่มีข้อมูลเหล่านี้ เราจะไม่สามารถทำมาร์เก็ตติ้งได้”
ส่วน ปกรณ์ เต็มใจ ที่ปรึกษาการสื่อสารดิจิทัล ให้คำแนะนำถึงการสร้างแบรนด์ว่า ต้องรู้ถึงกลุ่มเป้าหมายหลักและกลุ่มเป้าหมายรองว่าเป็นใคร เพื่อสื่อสารกับคนกลุ่มนั้นด้วยภาษาที่คุยกันรู้เรื่อง การจะทำให้คนมองเห็นเป็นภาพต้องมีโลโก้เพราะแบรนด์นมแม่ไม่มีคน มีการเลือกใช้สี ธีม ไปในทางเดียวกัน และต้องทำด้วยกันเป็นทีมทั้งเครือข่าย
“คู่แข่งของเราคือใคร นมผงไม่ใช่คู่แข่ง เพราะถ้าพูดเรื่องธุรกิจ นมผงถือว่าอยู่คนละเซกเมนต์กับเรา แต่ถ้าพูดเรื่องเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกก็มีความเกี่ยวข้องกัน นมแม่มีจุดได้เปรียบที่นมผงสู้ไม่ได้ เพราะนมแม่มีการสัมผัส มีจิตวิญญาณ สายสัมพันธ์”
ปกรณ์ยังให้คำแนะนำถึงการทำ Digital Marketing เพื่อให้การสื่อสารเรื่องนมแม่ยิงไปอย่างตรงกลุ่ม ทั้งเนื้อหาและการใช้ภาษาในการสื่อสาร การให้แม่ทุกคนคุยกับศูนย์นมแม่ได้ทางไลน์โดยการให้สแกนคิวอาร์โค้ดเมื่อไปฝากครรภ์ เป็นต้น
“การกินนมแม่เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ เป็นเรื่องของคุณค่า สิ่งเหล่านี้คือเรื่องราวที่จะทำให้ทุกคนมองเห็นคุณค่าของนมแม่และสร้างแบรนด์นมแม่ให้ได้ ทุกคนที่ทำงานเรื่องนมแม่กำลังผลักดันเรื่องราวที่สำคัญมากของชาติ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือการสร้างชาติ สร้างวัฒนธรรมของชาติไทย” พ.ญ.สมสิริ สกลสัตยาทร กล่าวปิดท้าย