ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันผลักดันนโยบายระดับชาติ ‘ต้านหวานเกินเกณฑ์’ มุ่งเน้นลดหวานลดโรค
รสหวานคือความอร่อยอันดับหนึ่งที่สร้างความสุขให้กับผู้คนมาเนิ่นนาน รสหวานอ่อนๆ จะช่วยเยียวยาร่างกายที่อ่อนล้าให้กลับคือมาสดชื่น รสหวานฉ่ำๆ ช่วยเพิ่มพลังงานให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่ความหวานที่เกินขีดจำกัด กลับสร้างผลเสียต่อสุขภาพอย่างมหาศาลในระยะยาว
แล้วคนไทยต้องหวานแค่ไหนถึงจะพอ ‘พอดี’ และ ‘เพียงพอ’ ต่อความต้องการของร่างกายที่จะได้รับในแต่ละวัน เพื่อสุขภาพที่ดี และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs)
โจทย์นี้มีคำตอบจากเวทีมหกรรม ‘ประเทศไทย หวานแค่ไหนพอ?’ ผ่านวงเสวนาในหัวข้อ ‘การบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการลดหวานในประเทศไทย’ เมื่อวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2566 ณ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
อารยะ โรจนวณิชชากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หัวใจของการจัดงานเสวนาในครั้งนี้เรียกว่า เวทีสาม ช. คือ ช.แชร์ประสบการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช.ช่วยกันผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายลดหวาน และช.เชื่อมการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีระหว่างภาครัฐและเอกชน
ช.แชร์ประสบการณ์
ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 100 กรัมต่อคนต่อวัน หรือเทียบเท่ากับการกินน้ำตาลเฉลี่ย 25 ช้อนชา สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ไม่เกิน 5% หรือ 25 กรัมเท่านั้น เช่นเดียวกับทางกรมอนามัยที่ได้กำหนดไว้ว่าในแต่ละวันเราควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา ซึ่งต้องช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายและภาคปฏิบัติ ให้คนไทยตระหนักถึงผลเสียต่อสุขภาพจากการบริโภคน้ำตาลที่มากเกินพอดี ให้ลดลงต่ำกว่า 6 ช้อนชาต่อวันต่อคนให้ได้
เนื่องจากในทุกวันนี้ คนไทยป่วยเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกินหวานสูง โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ซึ่งสัมพันธ์ต่อภาวะอ้วน เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน จนนำไปสู่ ‘โรคเบาหวาน’ และยังส่งผลต่อปริมาณไตรกลีเซอไรด์หรือไขมันในเลือดสูง เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคตับอ่อนอักเสบ โรคไขมันเกาะตับ และมะเร็งเต้านมได้
ช.ช่วยกันขับเคลื่อนนโยบาย
ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กรมอนามัยพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี แต่สุขภาพคนไทยจะดีไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
สิ่งแรกที่ทางกรมอนามัยเน้นย้ำคือ การอ่านฉลากบนบรรจุภัณฑ์ทุกครั้ง เพื่อให้เห็นปริมาณน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่ม หากสูงเกินไปก็หลีกเลี่ยงหรือปรับปริมาณอาหารในมื้ออื่นๆ ทั้งยังเดินหน้ามาตรการ ‘ภาษีน้ำตาล’ ควบคู่ไปกับนโยบาย ‘หวานน้อยสั่งได้’ โดย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่กำลังเป็นกระแสการสั่งหวานน้อยจนติดปากของผู้บริโภค โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนกว่า 27 แบรนด์
ส่วนอาหารปรุงสุกที่ไม่ได้มีแพ็กเกจจิ้ง ทางกรมอนามัยได้ขับเคลื่อนเรื่องการให้ความรู้ ‘เมนูชูสุขภาพ’ ด้วยการลดหวานมันเค็ม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและผู้ขายอาหารสตรีตฟู้ด ปรับเมนูลดหวานแต่ยังอร่อยเหมือนเดิมให้มากขึ้น
อรสุรางค์ ธีระวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานอาหารระดับซี 9 ของสังกัดกองอาหารสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ทาง อย.ยังคงเน้นเรื่องการทำฉลากอาหารด้านโภชนาการอาหารกรอบสี่เหลี่ยม ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2541 แต่ก็ยังพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่อ่านและเข้าไม่ถึงข้อมูล เนื่องจากอ่านยาก โดยภายในปีนี้ทาง อย.จะปรับรูปแบบของฉลากโภชนการนี้ใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ต่อมาได้ออกฉลากโภชนาการแบบย่อในปี 2550 เนื่องจากพบปัญหาโรคอ้วนในเด็กมากขึ้น จากการบริโภคน้ำตาลสูง และอาหารที่มีไขมันและให้พลังงานสูง โดยต้องแสดงฉลากโภชนาการแบบ GDA ด้วยการนำค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ซึ่งเป็นสารอาหารที่ส่งผลต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มาระบุไว้ที่ด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ แต่ผู้ผลิตจำนวนไม่น้อยนำไปซ่อนไว้ด้านหลังและไม่สะดุดตา ทำให้ผู้บริโภคมองข้าม
และเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น อย.จึงร่วมกับสำนักโภชนาการ จัดทำโลโก้ ‘ทางเลือกเพื่อสุขภาพ’ สำหรับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ที่ได้ผ่านเกณฑ์คัดเลือกว่ามีสารอาหารที่เหมาะสมต่ออาหารแต่ละชนิด โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา
จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับโลโก้ทางเลือกเพื่อสุขภาพทั้งหมด 2,749 ผลิตภัณฑ์ และได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการทั้งหมด 444 บริษัท และทาง อย.จะยังคงกำหนดเกณฑ์ที่เข้มข้นและเหมาะสมให้กับผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพต่อไป
กิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา จากสภาอุตสาหกรรม กล่าวว่า 3 ใน 4 หรือ 75 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์นม เป็นแหล่งที่ให้ความหวานใหญ่ที่สุด โดยระดับความหวานที่เริ่มให้ความอร่อยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 10-12 เปอร์เซ็นต์ แต่ตามเกณฑ์โภชนาการต้องไม่เกิน 6 เปอร์เซ็นต์
ทางสภาอุตสาหกรรมจึงได้ดำเนินการเรื่องการกำหนดให้ภาคอุตสาหกรรมลดหวานลงครึ่งหนึ่ง เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคลดหวานได้อีกทาง ทั้งยังรณรงค์ให้ผู้บริโภคและเด็กๆ อ่านฉลากโภชนาการ หรือมองหาโลโก้ทางเลือกเพื่อสุขภาพ รวมทั้งให้ความรู้เรื่อง Food Safety (ความปลอดภัยด้านอาหาร) เพื่อลดโรค NCDs ให้น้อยลง
ช.เชื่อมการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน
ทางด้านภาคเอกชนอย่างคาเฟ่ อเมซอน ระบุว่า นโยบายหวานน้อยสั่งได้ที่ดำเนินงานร่วมกับภาครัฐมาตั้งแต่ราวปี 2557 ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มใส่น้ำตาลในกาแฟร้อนน้อยลง จากปกติใส่น้ำตาล 1 ซองหรือ 6 กรัม เป็นใส่เพียงครึ่งซอง แล้วหมุนปากซองน้ำตาลที่เหลือวางไว้ข้างๆ ถือว่าเป็นสัญญาณหวานน้อยอย่างแรก
ต่อมาผู้บริโภคเริ่มสั่งหวานน้อยมากขึ้น และจากผลสำรวจที่พบว่าผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จึงปรับน้ำตาลซองเหลือ 4 กรัมต่อซอง รวมทั้งเรื่อง Healthier Choice การให้ทางเลือกความหวานกับผู้บริโภค ที่ต้องผ่านเกณฑ์ของ อย.
การปรับในครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลดีต่อผู้บริโภค แต่ยังเป็นการปรับลดช่องว่างของการทำงานระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐให้ทำงานได้ใกล้กันมากขึ้น สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายลดหวานให้กับผู้บริโภค ด้วยทางเลือกระดับความหวานที่ต้องปรับสูตรให้เหมาะสม หวานได้อร่อยด้วย ดีต่อสุขภาพอย่างในทุกวันนี้