กลไก PGS NAN ส่งต่ออาหารดีและลดฝุ่นให้คนเมือง
ใครจะคิดว่า น่าน อดีตภูเขาหัวโล้นกำลังแก้ปัญหาฝุ่นให้กับคนเมือง ด้วยการเปลี่ยนไร่ข้าวโพดเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ และยังได้ส่งต่ออาหารดีถึงคนกินด้วย
หลังประสบความสำเร็จจากโจทย์ชาวนากำลังทิ้งไร่ ด้วยกลไกเกษตรอินทรีย์ มาตรฐาน Hazefree PGS Nan นำโดย ผศ.ดร. ธัญศิภรณ์ ณ น่าน หรืออาจารย์ติ๊ก อาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนนี้ PGS Nan กำลังแก้ปัญหาให้เมืองผ่านเกษตรอินทรีย์ ด้วยโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน
อาจารย์ติ๊กเล่าย้อนไปถึงวันที่ชักชวนให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ด้วยความมั่นใจ เธองัดการโฆษณาจูงใจให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ที่จะมีผลดีทั้งด้านสุขภาพ ระบบนิเวศ ดิน น้ำ อากาศ แต่วินาทีที่พูดจบอารมณ์ก็ช็อตฟีล เพราะไม่มีเกษตรกรยกมือเอาด้วยแม้แต่คนเดียว ความไม่ยอมแพ้ เธอกลับไปขายงานให้กับนักศึกษา และชวนทำโปรเจ็กต์ส่งประกวดเพื่อกลับมาเอาชนะให้ได้
“เราลงทุนไปซื้อข้าวเปลือกที่ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่จังหวัดเชียงใหม่ เอากลับมาสีที่สหกรณ์ในจังหวัดน่าน ให้นิสิตได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ทำการตลาด และส่งโครงการเข้าประกวด เพราะการเข้าประกวดจะทำให้คนฟังเรามากขึ้น”
ฝันที่วาดไว้กลายเป็นจริง โครงการที่ส่งเข้าประกวดได้แชมป์ภาคเหนือ อาจารย์ติ๊กและนักศึกษากลับไปที่โรงสีข้าวพระราชทานสถานที่เดิมในวันที่เธอได้คุยกับเกษตรกรในครั้งแรก ครั้งนี้นักศึกษามานำเสนอผลงาน ชูให้เห็นต้นทุน กำไร ขาดทุน เมื่อพูดจบ พ่อสนั่น ประธานโรงสีข้าวพระราชทานก็ยกมือคนแรกและถามว่า “ถ้าจะทำข้าวอย่างนี้ต้องทำอย่างไร?”
การนำเสนอในวันนั้นทำให้อาจารย์ติ๊กเข้าใจว่า หากจะแก้ปัญหาต้องแก้เรื่องปากท้องก่อน มูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้เกษตรกรสนใจ ถึงจะพูดเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้ชัดขึ้น
“ผลประกอบการปีแรกอยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาท ปีที่สองเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านบาท ปีที่สามเพิ่มมาเกือบ 3 ล้านบาท และครึ่งปีที่สี่ขึ้นมาถึง 4 ล้านบาท” อาจารย์ติ๊กไล่เรียงผลประกอบการในสี่ปีแรกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“เราไม่อยากจะเชื่อว่าผืนแผ่นดินจังหวัดน่านทำอย่างอื่นได้นอกจากปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว วันนี้พืชผักผลไม้มีความหลากหลายขึ้น ขณะเดียวกันเราพยายามสร้างเครือข่ายในพื้นที่ แต่ยังพบคำถามว่า ทำไมต้องขายแพง?”
นั่นเป็นหน้าที่ของ PGS (Participatory Guarantee System) ที่ต้องเชื่อมโยงเกษตรกรและตลาด อาจารย์ติ๊กชวนเลมอนฟาร์มมาร่วมทำงานสร้างกลไกตลาดแบบมีส่วนร่วม ส่งผักให้คนเมือง ขณะเดียวกันนักศึกษาก็พัฒนาแพลตฟอร์มกระซิบรัก ทำตลาดออนไลน์ส่งผู้ประกอบการและผู้บริโภครายย่อยในจังหวัดน่านที่มีกำลังซื้อและมีทัศนคติที่จะช่วยกัน อาจารย์ติ๊กเรียกกลุ่มลูกค้านี้ว่า HO-RE-CA คือ Hotel-Restaurant-Café
และทุกการซื้อของพวกเขาไม่ใช่แค่การซื้อผัก แต่กำลังซื้อดิน ซื้อน้ำ ซื้ออากาศ ซื้อลมหายใจที่ดี รวมถึงจับมือกับโครงการเด็กไทยแก้มใส สสส. ส่งผลผลิตให้โรงเรียนเทศบาลเมืองน่าน ซึ่งเกษตรกรยอมลดกำไรเพื่อให้เยาวชนน่านได้กินอาหารที่ดี
“ปกติแล้วรัฐบาลสนับสนุนอาหารกลางวันเด็กคนละ 21 บาท เทศบาลเมืองน่านเพิ่มงบอาหารกลางวันให้โรงเรียนเทศบาลเมืองน่านอีก 4 บาท เพื่อซื้อวัตถุดิบอย่างเดียว ที่สำคัญนักศึกษาก็ให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ ระบบนิเวศที่ดีส่งผลกระทบต่อระบบอาหารอย่างไร ไปจนถึงการกำจัดขยะ พาไปเรียนรู้แปลงเกษตรอินทรีย์ของพ่อๆ แม่ๆ เกษตรกรอินทรีย์ เป็นการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก และเขาเหล่านี้แหละจะเป็นอีกหนึ่งเสียงที่กระจายเรื่องนี้ไปยังครอบครัว”
จุฬาฯ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการรวมกลุ่มเกษตรกร เมื่อเซ็ตระบบได้เข้าที่ก็ผันตัวเป็นที่ปรึกษาให้กลุ่มสามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ยังพบว่าเกษตรกรมีปัญหาอยู่ต่อเนื่อง
“หน้าที่ของเราจะเข้าไปออกแบบการผลิตกับพี่น้องเกษตรกร จริงๆ เขาเก่งอยู่แล้ว แต่ขาดความมั่นใจ เรามีหน้าที่ช่วยบอกว่าพื้นที่เขาเหมาะจะทำอะไร ช่วยเติมองค์ความรู้และแก้ปัญหา การทำเกษตรอินทรีย์ต้องอาศัยระยะเวลา แค่ระยะปรับเปลี่ยนพื้นที่ก็หนึ่งปีหรือมากกว่านั้น จึงต้องพัฒนาคนให้เข้มแข็ง
“เมื่อมีปัญหาเราเข้าช่วยแก้ไขทันที เพื่อไม่ให้เขาถอดใจ เพื่อให้ประสบความสำเร็จ และเป็นต้นแบบในการขยายเครือข่าย เล่าเรื่องที่เราทำ เก็บคลังคนสำเร็จ เรียกว่า ‘ครูเกษตร’ ทุกครั้งที่ได้สมาชิกใหม่ จะมีการปรับมาตรฐานเพื่อให้งานหรือผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้นทุกปี
“ระหว่างทางที่เราชวนคนเข้ามา สิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำให้เกษตรกรมีความรู้และตระหนักร่วมคือการสร้างความมีส่วนร่วม เขาต้องเชื่อก่อนว่าวิธีการที่เราทำมันจริง เชื่อจากตัวเอง เชื่อจากเครื่องมือ เชื่อในเพื่อนร่วมกลุ่ม ถึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและวิถีปฏิบัติเพื่อส่งต่อกันได้”
นอกจากทำงานร่วมกับภาคการตลาดและภาคการศึกษาแล้ว หน่วยงานท้องถิ่นเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายที่ชวนเข้ามาทำงาน อย่างมูลนิธิฮักเมืองน่านซึ่งมีบทบาทด้านประชาสังคม สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) โดยพื้นที่เกษตรกรอินทรีย์เป็นพื้นที่สาธิตให้กับหน่วยงานต่างๆ ได้เรียนรู้ เกษตรกรอินทรีย์กลายเป็นเกษตรกรดาวรุ่งในกลุ่มนี้
เมื่อโครงการจบ ทำอย่างไรจะให้พี่น้องเกษตรกรสามารถไปต่อและขยายผลได้ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่ง อาจารย์ติ๊กเล่าว่า ปัจจุบันกลุ่มทำกิจการเพื่อสังคมไร้ควัน ซึ่งได้โจทย์วิจัยประเทศไทยไร้หมอกควันมาพอดี จึงใช้กลไกของ PGS เข้ามาทำงาน และเพิ่มเติมเรื่องการห้ามเผา ซึ่งเกษตรอินทรีย์ทำอยู่แล้ว
“เราเชื่อมต่อพาร์ตเนอร์ที่ต้องการผลิตภัณฑ์ไร้ควัน บอกว่าสิ่งที่คุณกินมาจากการเกษตรที่ไม่ผ่านการเผา หรือเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ตอนที่ได้โจทย์วิจัยประเทศไทยไร้หมอกควัน เราใช้เกษตรอินทรีย์เป็นเครื่องมือ การทำเกษตรทั่วไปมีการใช้สารเคมี ถางป่า เผาไร่ ถ้าทำให้การทำเกษตรแบบนี้ลดลงได้ นั่นหมายถึงผลกระทบเรื่องฝุ่นจะลดลงด้วย เกษตรอินทรีย์จึงเป็นเรื่องที่เราเอามาทำงาน ใช้พื้นที่น้อยกว่าปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ได้มูลค่าตอบแทนสูงกว่า”
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจขับเคลื่อนหลักของจังหวัดน่าน ที่ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ โดยเฉลี่ยครอบครัวหนึ่งถือครองพื้นที่ 40-50 ไร่ ขณะที่มีแรงงานในครอบครัวไม่เกิน 4 คน ไม่มีทางที่จะไถกลบพื้นที่ทางการเกษตรได้แน่นอน ยิ่งพื้นที่ชันด้วยแล้วไม่มีทางที่จะเอารถไถขึ้นไปได้ การเผาจึงเป็นวิธีจัดการหลังเก็บผลผลิตที่ง่าย ใช้เวลาน้อย และประหยัดที่สุด
“จริงๆ คนภาคเหนือเริ่มแสบจมูกจากควันเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว เราพยายามส่งสัญญาณถึงคนเมืองหลายครั้ง จนวันหนึ่งที่คนกรุงเทพฯ ได้ผลกระทบจาก PM2.5 ถึงมีทุนวิจัยเกี่ยวกับ PM2.5 เข้ามา ตอนนี้คนเมืองก็ตื่นตัว มีความตระหนักร่วม และหาทางแก้ไข แต่การพกเครื่องฟอกอากาศมันคือปลายทาง ในขณะที่พลังของเกษตรอินทรีย์มัน powerful มาก”
ด้วยลักษณะพื้นที่ภาคเหนือที่มีภูเขาล้อมรอบเป็นแอ่งกระทะ เมื่อเผาป่าลมจะไม่ถ่ายเทเหมือนที่ราบสูงภาคอีสาน เป็นชั้นบรรยากาศที่เก็บฝุ่นควัน และระบายออกไม่ได้ จึงเป็นข้อจำกัดทำให้คนภาคเหนือได้รับผลกระทบ แต่เสียงของคนที่ได้รับผลกระทบชัดเจน ไม่ดังเท่าคนในเมือง
ฝุ่นควันไม่ได้มาจากการเผาอย่างเดียว แต่มาจากเครื่องยนต์ยานพาหนะและไฟป่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือควันไฟข้ามชาติที่ลอยมาจากการเผาของประเทศเพื่อนบ้านที่ทำเกษตรแบบเดียวกัน คือเริ่มปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือเผาไร่อ้อยด้วย
ปัจจุบันมีการขยายโอกาสให้เกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตร โดยนำรายได้ที่หัก 3 เปอร์เซ็นต์จากการขายในแพลตฟอร์มกระซิบรัก และกิจการเพื่อสังคมไร้ควัน ชวนกลุ่มบริษัทที่มีงบ CSR มาบริจาค เป็นทุนเปิดห้องเรียนอบรมให้เกษตรกรที่อยากปรับเปลี่ยน รีเทิร์นเป็นคาร์บอนเครดิต ประเมินเป็นมูลค่าทางสังคมจากป่าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้และชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกร ซึ่งรีเทิร์นกลับมาเป็นโซเชียลเครดิตด้วย
สิบกว่าปีที่ภูเขาหัวโล้นในจังหวัดน่านเป็นภาพจำของคนเมือง เกษตรกรตกเป็นจำเลยของการสร้าง PM2.5 ในฐานะคนธรรมดา เราช่วยได้เพียงปรับเปลี่ยนที่การกิน เพราะทุกๆ การสนับสนุนวัตถุดิบ ผลผลิตจากเกษตรกรอินทรีย์ ไม่ใช่แค่การซื้อผัก แต่เรากำลังได้คืนความสะอาดของต้นแม่น้ำน่าน ซึ่งถือเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลมาถึงคนกรุงเทพฯ
และวันนี้คนน่านไม่ได้แค่ผลิตอาหารดี ไม่ได้แค่รักษาป่าต้นน้ำ แต่กำลังลดฝุ่นคืนอากาศบริสุทธิ์ให้คนเมืองด้วย