4 โมเดลการแก้หนี้สินเกษตรกรแบบครบวงจร ทางออก ‘มรดกหนี้ชาวนา’ ที่กำลังได้รับการปลดปล่อย
ทุกวันนี้ประเทศไทยกำหนดให้เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ เป็น ‘กลุ่มเปราะบาง’ โดยในเชิงนโยบายหมายความว่า กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนทางด้านงานวิจัย แต่หากฟังดีๆ จะพบกับความเป็นจริงที่ว่า ‘กระดูกสันหลังของชาติกำลังเปราะบาง’
เปราะบางด้วยสาเหตุที่ชื่อว่า ‘มรดกหนี้ชาวนา’ ที่ไม่มีใครอยากได้รับ หรืออยากจะส่งต่อให้กับลูกหลานชาวนาในอนาคต แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามดิ้นรนปลดหนี้ เพิ่มรายได้ เพื่อสร้างชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งๆ ที่ผู้ผลิตอาหารหลักของชาติ ควรจะเป็นเสาหลักที่มั่นคงให้กับประเทศชาติได้มากกว่านี้
เมื่อความเปราะบางมาเยือนเกษตรกรไทย ทำอย่างไรพวกเขาถึงจะเจอกับทางออกหรือวิธีปลดหนี้ในระยะยาว เวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ ‘หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ’ ข้อเสนอทางออกว่าด้วยความเสมอภาค ความเป็นธรรม และความรับผิดชอบร่วม จึงเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
นำการเสวนา โดย รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการอิสระ และนักอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองนครชัยศรี พร้อมด้วยนักวิชาการอิสระอีกหลายท่านที่ได้มาร่วมเสนอทางออกหนี้ชาวนา
รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง กล่าวว่า “ในทุกวันนี้ชาวนา ชาวไร่และเกษตรกร ผู้ผลิตอาหารของประเทศ กลับมีหนี้สินมากมาย จนกลายเป็น ‘มรดกหนี้’ ส่งต่อให้กับลูกหลาน โดยในปัจจุบันมีลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งหมด 4.8 ล้านราย
“ในจำนวนนี้ขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรฯ ประมาณ 500,000 ราย และสามารถแก้ปัญหาหนี้สินได้ประมาณ 30,000 รายภายในเวลา 15 ปี เฉลี่ยปีละ 2,025 ราย แต่หากต้องการแก้ปัญหาหนี้เหล่านี้โดยการใช้กลไกกองทุนฯ ได้ทั้งหมด อาจต้องใช้เวลานานถึง 15,000 ปี
“ตรงข้ามกับรายรับ ยกตัวอย่าง ชาวนาในพื้นที่ละแวกบ้านของผม เมื่อคำนวณรายได้เฉลี่ย จะเหลือเพียงเดือนละ 4,000 บาท ต้นทุน 5,500 บาทไม่รวมค่าเสื่อมต่างๆ กรณีเป็นนาเช่า ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นไร่ละ 500-1,000 บาท รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ซ้ำยังถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง โดยเฉพาะเกษตรกรอินทรีย์ ที่เริ่มหันหลังกลับสู่เคมีมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ขาดไปคือ ‘การส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร’
ปิยาพร อรุณพงษ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า “สาเหตุที่ทำให้เกิดหนี้ชาวนาอินทรีย์ส่วนใหญ่คือ ไม่ทราบต้นทุนการผลิตที่แท้จริง และมองข้ามต้นทุนแรงงานในครัวเรือน ทำให้การคำนวณต้นทุนต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งจะผลส่งการคำนวณรายได้ในแต่ละเดือน
“และเพื่อป้องกันการติดกับดักหนี้ของชาวนา จะต้องนำใช้นโยบาย ‘การกำหนดราคาข้าว’ เฉพาะในสถานการณ์ที่จำเป็นเท่านั้น หรือใช้ในระยะเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ข้าวมีราคาต่ำกว่าต้นทุนผลิต เพื่อลดปัญหาการเงินของเกษตรกร และเป็นการป้องกันไม่ให้ชาวนามีหนี้สินเพิ่มขึ้น
“นอกจากนี้จะต้องมีการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของชาวนาสู่การเป็นมืออาชีพ และการทำเกษตรสมัยใหม่ ที่ครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนผลิตที่ดีเพื่อลดต้นทุน การเข้าถึงข่าวสารเพื่อรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง การผลิตและการจัดการเก็บเกี่ยวที่มีผลต่อคุณภาพและราคา รวมถึงการพึ่งพาและร่วมมือกันของเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อ ‘เพิ่มอำนาจการต่อรอง’ อำนาจของการกำหนดราคาขาย และขยายไปสู่การใส่ใจเรื่องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว”
ดร.รุ้งทอง ครามานนท์ นักวิชาการอิสระ ได้เสนอ ‘4 โมเดลการแก้หนี้สินเกษตรกรแบบครบวงจร’ ซึ่งเป็นแนวทางจากการรวบรวมผลงานวิชาการ ข้อมูลต่างๆ ที่โครงการได้จัดทำไว้ และการสัมภาษณ์ระดับลึกของชาวนาที่เป็นหนี้สินประมาณ 10-15 ราย เพื่อทราบสาเหตุของการเป็นหนี้สิน วิธีการแก้ปัญหาหนี้สิน ข้อคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับการเป็นหนี้ รวมถึงวิถีชีวิตการเป็นชาวนา โดยมีคีย์สำคัญคือ ลดรายจ่าย มีรายได้สม่ำเสมอ และมีเงินออม
โมเดลที่หนึ่ง ‘เน้นการปรับวิธีคิดและวิเคราะห์หาสาเหตุของการเกิดหนี้ที่แท้จริง’ ผ่านการทำบัญชีครัวเรือน มุ่งเน้นการปลดหนี้ โดยในช่วงเวลา 1-3 ปีจะไม่มีการเพิ่มหนี้ก้อนใหม่ และ ‘ลดต้นทุน’ เช่น การเปลี่ยนมาใช้สารอินทรีย์ที่สามารถปลูกได้ในพื้นที่แทนสารเคมี ‘ลดรายจ่าย’ ด้วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนตัวและเพิ่มรายรับ ‘ต่อยอดรายได้เสริม’ ด้วยแนวคิดการทำเกษตรแบบสร้างรายได้รายวัน แทนรายได้ตามฤดูกาล เช่น การปลูกพืชแบบผสมผสานหลังฤดูปลูกข้าว ปลูกพืชนอกฤดู หรือปลูกพืชตามบริบทพื้นที่ของตัวเอง
ที่สำคัญคือ ต้องลงมือปฏิบัติในทันที พร้อมติดตามเพื่อเป้าหมายของการปลดหนี้ สร้างระบบเครือข่ายแบบกลุ่มเพื่อเปิดโลกทัศน์ และช่วยกันหาทางออกของการเป็นหนี้
โมเดลที่สอง ‘เน้นการลดรายจ่ายครัวเรือน’ แก้ปัญหาด้วยการพึ่งพาทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่และสามารถทำได้ เช่น ปลูกพืชผักกินเอง ผลิตสบู่ ยาสระผม น้ำยาอเนกประสงค์ เป็นต้น รวมไปถึงมีวินัยในการชำระหนี้ และไม่สร้างหนี้เพิ่ม
โมเดลที่สาม ‘มุ่งสร้างเงินออม’ เช่น การสร้างรายได้เสริม หรือมีอาชีพที่สองตามความถนัด สำหรับเป็นบัญชีเงินออมแบบรายปี เป็นต้น
โมเดลที่สี่ ‘เน้นการสร้างวินัยในการชำระหนี้’ ด้วยการแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ให้ได้ แม้ว่ารายได้จะมากหรือน้อยก็ตาม ด้วยการหาอาชีพเสริม เพื่อให้เกิดรายได้และนำไปแบ่งชำระหนี้ในทันที
เช่นเดียวกับทาง ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “หนี้ของเกษตรกรหลักๆ เกิดขึ้นเพราะหนี้เดิมจ่ายไม่ได้ หนี้ใหม่ก็มาพอดี รวมทั้งระบบการเงินมีปัญหา ทั้งเรื่อง ‘รายได้ไม่พอจ่าย’ 27% เงินเหลือไม่พอชำระหนี้ 41% ‘รายได้ไม่สม่ำเสมอ’ 82% พบว่ามีปัญหาสภาพคล่อง เฉลี่ย 3 เดือนมีรายรับเข้ามาน้อยกว่ารายจ่าย และ ‘เงินได้ไม่แน่นอน’ เพราะราคาผลผลิตที่ตกต่ำ”
ดังนั้น ระบบการวางแผนด้านการเงินที่ดีจะมีบทบาทสำคัญที่ช่วยทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ รวมทั้ง ‘ส่งเสริมให้เกิดการออม’ การทำบัญชีครัวเรือน การทำประกันภัยต่างๆ เช่น การประกันภัยข้าวนาปี และการทำประกันชีวิต อาทิ ประกันชีวิตคุ้มครองเงินกู้ ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ เป็นต้น
โมเดลการแก้ปัญหานี้จะมีประสิทธิภาพที่ดีและเป็นทางออกหนี้ชาวนาได้จริงนั้น สิ่งหนึ่งคือ เกษตรกรเองจะต้องมีความรอบรู้ มีการศึกษาเพิ่มเติมจากการทำกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ จากทางภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มศักยภาพของตัวเองอย่างต่อเนื่อง
เน้นลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ สามารถลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาการเงินของตัวเองได้ ประกอบกับการเลือกใช้นโยบายต่างๆ ของภาครัฐมาเป็นตัวเสริมหนุน เพื่อปลดหนี้ให้ได้ในที่สุด