ประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 8 เสริมพลัง สร้างความรู้ สู่วิถีนมแม่อย่างยั่งยืน
ด้วยเด็กคือพื้นฐานของอนาคต การสร้างอนาคตของประเทศจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับต้นทุนมนุษย์ ที่ต้องเริ่มตั้งแต่เด็กปฐมวัย และการวางรากฐานให้กับเด็กเพื่อให้มีความมั่นคงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ชั่วโมงแรกของชีวิต ซึ่งหากแม่และครอบครัวตระหนักถึงความสำคัญ และมีทัศนคติที่ดีในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการวางรากฐานสำคัญของชีวิตเด็ก
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญต่อการลงทุนสร้างเด็กไทยให้มีคุณภาพ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่แรกเกิด ด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวใน 6 เดือนแรก ต่อเนื่องด้วยนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยถึง 2 ปีหรือนานกว่า ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
และกลยุทธ์หนึ่งที่มีความสำคัญต่อการปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือการฟื้นฟูวิชาการให้ทันสมัย และจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถนำไปพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ หรือใช้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และนำเผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในวงกว้าง จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่าย จัดประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ต่อเนื่องทุกๆ 2 ปี ตั้งแต่ปี 2548
ล่าสุด การประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 8 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-23 มีนาคม 2566 ภายใต้ชื่อ ‘เสริมพลัง สร้างความรู้ สู่วิถีนมแม่อย่างยั่งยืน: Step up Breastfeeding, Support and Sustain’ ซึ่งสอดคล้องกับธีมของสัปดาห์นมแม่โลกในปี 2565
และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งกรมอนามัยและมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ดำเนินการให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมมือกันขับเคลื่อนสู่วิสัยทัศน์ ‘การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นวิถีแห่งแม่ ครอบครัว และชุมชน เป็นค่านิยมของสังคมและวัฒนธรรมชาติที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน’
การประชุมครั้งนี้มี 3 ประเด็นหลักสำคัญ หนึ่งคือ ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เน้นย้ำ ‘6 เดือนแรกนมแม่อย่างเดียว ไม่เสริมน้ำ’ เพื่อเป็นคานงัดในการปรับพฤติกรรมแม่ที่ให้ลูกกินนมแม่เสริมน้ำ ซึ่งมีอยู่มากถึงร้อยละ 40 ให้กลับมาเป็นกลุ่มแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว โดยคาดว่าน่าจะช่วยให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวของประเทศ เพิ่มจากร้อยละ 14 สู่เป้าหมายร้อยละ 50 ภายในปี 2568
ประเด็นที่สอง คือ ทบทวนความรู้และนวัตกรรมใหม่ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อ ‘ช่วยเหลือแม่ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นก่อนออกจากโรงพยาบาล’ และประเด็นที่ 3 คือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ‘การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นวิถีของแม่และสังคม’ รวมถึง ‘การเลี้ยงดูคู่การเรียนรู้’ เพื่อนำไปสู่การสร้างต้นทุนคุณภาพคน ที่พร้อมใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21
ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้จับมือกับกรมอนามัย (ร่าง) ยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขึ้น เพื่อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็น ‘วิถีของแม่และสังคมไทย’ ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์คือ การขับเคลื่อนนโยบายและกฎหมาย (Policy & Law Oriented) การปลูกฝังและสร้างค่านิยม (Value and Culture Oriented) การพัฒนาคุณภาพระบบบริการ (Quality of Service Oriented) และการจัดการความรู้และนวัตกรรม (Knowledge and Innovation Oriented)
นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานร่วมจัดประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 8 กล่าวว่า การสร้างอนาคตของประเทศ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับต้นทุนมนุษย์ โดยเริ่มต้นที่เด็กปฐมวัยซึ่งเป็นปฐมบทที่สำคัญ หากมีต้นทุนเด็กปฐมวัยที่ไม่แข็งแรงหรือมีจำนวนไม่มากพอ มัชฌิมวัยที่จะเป็นวัยทำงานก็มีโอกาสด้อยคุณภาพ
ยิ่งยุคที่มีการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงด้านทางเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม การดูแลให้คนมีสุขภาพแข็งแรง มีความมั่นคงทางจิตใจ มีทักษะพร้อมในศตวรรษที่ 21 ต้องลงทุนปลูกฝังเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพตั้งแต่ปฐมวัย และกระทรวงสาธารณสุขยินดีให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นวิถีแห่งแม่และสังคมอย่างยั่งยืน
ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวว่า กรมอนามัยได้สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทุกรูปแบบ และร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ให้ความสำคัญและดำเนินงานปกป้อง ส่งเสริม สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขับเคลื่อน พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 เพื่อปกป้องสิทธิและสุขภาพของเด็กไม่ให้เสียโอกาสในการกินนมแม่ ผ่านการควบคุมวิธีการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดให้เหมาะสม
มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูก (BFHI) เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ให้ได้ตามมาตรฐานโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก และพัฒนาศักยภาพพยาบาลเฉพาะทาง ส่งเสริมนโยบายการลาคลอดของพ่อและแม่ การสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อช่วยลดภาระครอบครัว
ทั้งยังสนับสนุนการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการสำหรับแม่ทำงาน และจัดบริการขนส่งนมแม่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สร้างความรอบรู้และเสริมพลังในการส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระดับพื้นที่ โดยสร้างความร่วมมือระหว่างสถานพยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน และกลุ่มชมรมในชุมชน เพื่อให้เกิดแนวทางการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในพื้นที่ที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน
ในการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 8 นี้ นอกจากจะมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และที่เกี่ยวข้องจากหลายสถาบัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังได้เพิ่ม Public Sessions สำหรับประชาชนทั่วไป แม่ทำงาน แม่อาสา และ อสม. รวมทั้งได้จัด Clip Exhibition ออกเผยแพร่ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งออนไซต์และออนไลน์รวมทั้งสิ้นประมาณ 600 คน