เปลี่ยน ‘ลานกับแกล้ม’ ให้เป็น ‘ลานกับข้าว’ การเปลี่ยนค่านิยมใหม่ที่ดังมาจากเสียงของสตรี
ว่ากันว่า ที่ไหนมีงานรื่นเริงหรือมีงานเทศกาลอาหารขนาดใหญ่ ที่นั่นจะต้องมีดนตรี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกับแกล้มรสเด็ด เพราะความสนุกมักมาพร้อมกับระดับแอลกอฮอล์ในร่างกาย แต่ความสนุกในตอนต้น อาจสร้างความทุกข์ระทมในตอนจบได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุเมาแล้วขับ การทะเลาะเบาะแว้งกันจนได้รับบาดเจ็บ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
เมื่อปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่เนิ่นนาน เมื่อ 16 ปีที่แล้ว ดร.ณัจยา แก้วนุ้ย ผู้จัดการโครงการส่งเสริมอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพ ‘อร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์’ จึงลุกขึ้นมาสร้างค่านิยมใหม่อย่างตั้งใจ พร้อมรณรงค์เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน ด้วยการผุดโครงการเปลี่ยนลานเบียร์ให้เป็นลานวัฒนธรรมทางอาหาร โดยเริ่มต้นไปพร้อมๆ การออก พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2551 และสามารถขับเคลื่อนเทศอาหารไร้แอลกอฮอล์มาได้จนถึงทุกวันนี้
ดร.ณัจยาได้แชร์ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ในรายการ เช็คอินกินกาแฟ แชร์เรื่องเหล้า EP.163 ตอนเสียงสตรี เสียงสติ สตรีผู้สร้างค่านิยมใหม่ ‘ลานกับแกล้ม มาเป็น ลานกับข้าว’ ร่วมพูดคุยโดยธิรดา ยศวัฒนะกุล ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดสงขลา ผ่านเพจ ‘เช็คอินกินกาแฟ แชร์เรื่องเหล้า’
“เราเริ่มต้นกันในปี 2552 กับงานแรกอย่าง ‘งานเทศกาลอาหารดีเขตทวีวัฒนา’ ที่เปลี่ยนจากลานเบียร์เป็นลานวัฒนธรรมทางอาหาร สิ่งที่เราทำตอนนั้นก็คือ นำเสนอเรื่องกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ไปแจ้งกับทางสำนักงานเขตว่า จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเทศกาลอย่างไร
“อีกด้านก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการกว่า 200 ร้านค้าว่าจะต้องขายได้ โดยต้องขอความร่วมมือให้ร้านค้าจำหน่ายเพียง ‘กับข้าว’ ไม่ใช่ ‘กับแกล้ม’ และต้องเพิ่มกิจกรรมเพื่อตอบโจทย์กลุ่มครอบครัวให้มากขึ้น กิจกรรมที่ลานเบียร์เคยมีก็ยังต้องคงมีต่อไป แต่เพิ่มกิจกรรมสำหรับเด็กมากขึ้น อาทิ การวาดรูป มีเครื่องเล่น อย่างปีแรกไฮไลท์คือบอลลูนขึ้นโลโก้ No Alcohol ส่งผลให้ผู้ประกอบภายในงานขายดีออย่างถล่มทลาย และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า เปลี่ยนลานกับแกล้ม ให้เป็นลานกับข้าว”
กระแสตอบรับที่ดีจากเทศกาลอาหารไร้แอลกอฮอล์ครั้งแรก ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โมเดลเปลี่ยนลานกับแกล้มให้เป็นลานกับข้าวจึงขยายสู่เทศกาลอาหารในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เส้นทางนี้ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แต่สตรีเก่งคนนี้ก็มองว่า นี่คือโอกาสที่ดีที่จะสามารถเปลี่ยนค่านิยมของผู้คน
ดร.ณัจยาเดินหน้าต่ออีกครั้งที่เมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ปราบเซียนของการจัดงานเทศกาลอาหารไร้แอลกอฮอล์ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลักคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่พร้อมเข้ามาจับจ่ายและสังสรรค์อย่างเต็มที่
“เราเริ่มด้วยการเข้าร่วมเวทีสันนิบาตหรือการประชุมของนายกเทศมนตรีและเทศบาลจากทั่วประเทศ กระทั่งมีโอกาสได้เข้าร่วมพูดคุยกับทางสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา ตอนนั้นกรรมการหลายท่านก็ไม่เห็นด้วย เพราะเมืองหาดใหญ่ถือเป็นศูนย์กลางของชาวมาเลย์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย คือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่เข้ามาท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลสงกรานต์ เคานต์ดาวน์ ปีใหม่ หรือเทศกาลอาหารหรอย
“ในที่สุดเราได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน รวมทั้งได้รับคำชี้แนะที่ดีจากผู้ทรงคุณวุฒิอีกมากมาย โดยเฉพาะคุณพีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลาในสมัยนั้น ที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการจัด ‘เทศกาลอาหารสองทะเล’ ปี 2553 จากการจำหน่ายเหล้าเบียร์และอาหารกับแกล้มเป็นอันดับหนึ่ง ให้เป็นกับข้าวอันดับหนึ่ง
“เราเปลี่ยนจากลานเบียร์ให้เป็นลานวัฒนธรรมทางอาหารได้ภายใน 14 วัน และสามารถจัดเทศกาลสองทะเลแบบไร้แอลกอฮอล์ได้มากกว่า 10 ปี และยังคงได้รับการสนับสนุนจากนายกเทศมนตรีท่านอื่นๆ ในปีต่อๆ มาเช่นกัน”
พลังของสตรีเพียงลำพัง อาจทำได้ไม่ครบทั้งหมด ดร.ณัจยายืนยันว่าจะต้องมี ‘ทีมมดงาน’ ในพื้นที่ ให้ความร่วมมือ ช่วยกันรณรงค์ และคอยความช่วยเหลือจากหลากหลายภาคส่วน รวมทั้งทีมเยาวชน และภาคีเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนงานให้เป็นไปอย่างราบรื่น และช่วยทำให้เกิดค่านิยมใหม่ เปลี่ยนลานเบียร์เป็นลานกับข้าวได้จริงในพื้นที่ของตัวเอง
เช่นเดียวกับเทศกาลอาหารจังหวัดเชียงราย ทุกอย่างยังคงใช้วิธีเดิม แต่เพิ่มเติมคือ การเสริมพลังด้วย ‘การสร้างภาคีเครือข่ายเข้มแข็งในพื้นที่’ เช่น การได้รับความร่วมมือจากชมรมอาหารของจังหวัดเชียงราย ที่ต่อมายกระดับเป็นประชาคมอาหาร ประกอบไปด้วยผู้ประกอบการร้านอาหาร กลุ่มเกษตรกร และนักวิชาการ ที่เป็นทีมมดงานสำคัญที่ทำหน้าที่ดูแลด้านเมนูอาหาร โดยเน้นไปที่กับข้าวและอาหารท้องถิ่นเป็นหลัก หลังจากนั้นโมเดลนี้ก็ขยายสู่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ
วิธีการทำงานของดร.ณัจยา นอกจากใช้พลังสตรี พลังเสียง และพลังใจแล้ว สิ่งที่ทำให้รูปแบบของจัดงานเทศกาลอาหารไร้แอลกอฮอล์นี้สามารถดำเนินมาได้กว่า 10 ปีนี้ มีคีย์อยู่สามคำ คือ ‘การสร้าง’ เครือข่าย ‘การผูกสัมพันธ์’ ด้วยการไม่ทิ้งเครือข่าย และ ‘การขยาย’ เครือข่ายให้เติบโต จากระดับท้องถิ่น สู่ภูมิภาคและระดับจังหวัดได้ในที่สุด อย่าง ‘เครือข่ายงดเหล้า’ ในปัจจุบัน
สุดท้ายเป้าหมายสูงสุดของการเปลี่ยนค่านิยม จาก ‘ลานกับแกล้ม’ ให้เป็น ‘ลานกับข้าว’ ก็คือ การชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านสุขภาพของคนไทย ที่ป่วยเป็นโรค NCDs กันมากขึ้น ซึ่งล้วนมาจากพฤติกรรมการกินอาหาร และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งการรณรงค์เรื่องสุขภาวะและสุขอนามัยที่ดี และขยายไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพของสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับงานเทศกาลอาหาร อย่างเรื่องขยะ เพื่อให้เทศกาลอาหารไร้แอลกอฮอล์ เป็นเทศกาลแห่งความอร่อยที่ช่วยสร้างความสุขให้กับผู้คนและสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว