โมเดลโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส การขับเคลื่อนที่ผลักดันไปถึงระดับนโยบาย
‘อาหารกลางวันเพื่อเด็ก’ ฟังดูเป็นเรื่องเล็ก แต่อาหารหนึ่งมื้อถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารในเวลาต่อมา และยังสามารถขยายผลไปสู่นโยบายระดับชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการของเด็ก เยาวชน และประชาชนในท้องถิ่น
ทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นจากศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส ภายใต้การขับเคลื่อนของมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.)
ย้อนหลังไปในปี พ.ศ.2558 กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จับมือกันก่อตั้ง ‘โครงการเด็กไทยแก้มใส ถวายเจ้าฟ้านักโภชนาการ’ ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติในวาระครบรอบ 60 ชันษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระยศของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ณ ขณะนั้น)
จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ประธานมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.) ผู้ขับเคลื่อนโครงการเด็กไทยแก้มใส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เธอได้ปั้นมากับมือจนเห็นเป็นผลสำเร็จ ได้เล่าถึงเรื่องราวการขับเคลื่อนทั้ง 7 ปี ที่ได้รับการผลักดันไปสู่นโยบายระดับชาติ
และได้รับการขยายผลไปสู่โครงการขับเคลื่อนระบบคุณภาพอาหารและโภชนาการในโรงเรียนและชุมชน รวมถึงได้สร้างเกณฑ์มาตรฐานระบบการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษานำร่องว่า
“โครงการเด็กไทยแก้มใสดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2563 เรามีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 544 แห่ง จาก 50 จังหวัด โดยมีโรงเรียนที่พัฒนายกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเด็กไทยแก้มใส จํานวน 112 แห่ง ขยายผลสู่โรงเรียนเครือข่ายเด็กไทยแก้มใสได้ 420 แห่ง และมีโรงเรียนที่เป็นพื้นที่ดาวเด่นใน 14 จังหวัด คือจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี มหาสารคาม ตาก เชียงใหม่ น่าน อ่างทอง สมุทรปราการ ระนอง สงขลา กระบี่ และยะลา”
ซึ่งการขับเคลื่อนได้เน้นการพัฒนาความรอบรู้ด้านอาหารและโภชนาการโดยการนําไปปฏิบัติจริง หรือ Learning by Doing แบ่งเป็น 8 องค์ประกอบ ได้แก่ การเกษตรในโรงเรียน สหกรณ์นักเรียน การจัดบริการอาหารของโรงเรียน การติดตามภาวะโภชนาการ การพัฒนาสุขนิสัยนักเรียน การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนให้ถูกสุขลักษณะ การจัดบริการสุขภาพ และการจัดการเรียนรู้ฝึกทักษะเชิงสร้างสรรค์แบบบูรณาการที่เชื่อมโยงเกษตร อาหาร โภชนาการ และสุขภาพ ด้วยกระบวนการ 4 H คือ Head (พุทธิศึกษา) Heart (จริยศึกษา) Hand (หัตถศึกษา) และ Health (พลศึกษา)
และยังได้มีการขยายผลไปสู่การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนด้านเกษตร อาหาร และโภชนาการ การเชื่อมโยงเกษตรชุมชน การพัฒนาฐานข้อมูลและเครื่องมือในการติดตามเฝ้าระวังภาวะโภชนาการของนักเรียน รวมทั้งการพัฒนาสื่อที่ช่วยอํานวยความสะดวกแก่ครูในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่นักเรียนและผู้ปกครอง การจัดทําข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ผู้เกี่ยวข้องกับสถานศึกษาและชุมชนอาหารในพื้นที่ เพื่อขยายผลจากโรงเรียนแม่ข่ายสู่โรงเรียนลูกข่าย ดังที่จงกลณีได้กล่าวไว้ในตอนต้น
จากการขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น ทำให้สถานการณ์ภาวะโภชนาการของนักเรียนเครือข่ายเด็กไทยแก้มใสมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ข้อมูลการเฝ้าระวังและติดตามภาวะโภชนาการของโรงเรียนต้นแบบเด็กไทยแก้มใส ที่เก็บรวบรวมโดยมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.) ในช่วงระหว่าง ปี 2558-2562 พบว่า
ภาวะทุพโภชนาการในภาพรวมของนักเรียนระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น สามารถควบคุมให้อยู่ไม่เกินเกณฑ์ตามตัวชี้วัดของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ 10 ปี คือภาวะเริ่มอ้วน+อ้วน ไม่เกินร้อยละ 10 ภาวะผอม มีแนวโน้มลดลง คือ จากร้อยละ 4.54 ลดลงเหลือร้อยละ 2.55 ส่วนภาวะเตี้ยมีความเคลื่อนไหวเล็กน้อย
ทั้งยังได้มีส่วนผลักดันเชิงนโยบายของประเทศและพื้นที่ของโครงการเด็กไทยแก้มใส ได้แก่
•ด้านการบริหารจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนอย่างครบวงจร ได้ผลักดันนโยบายเข้าสู่คณะอนุกรรมการ พัฒนาการบริหารจัดการด้านอาหารและโภชนาการในโรงเรียน ภายใต้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ, 2562 และระดับจังหวัด
•ด้านนโยบายในการจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวันภาครัฐ ได้ผลักดันการปรับมาตรการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร การจ้างบุคคลเพื่อประกอบอาหารหรือการจ้างเหมาประกอบอาหาร (ปรุงสําเร็จ)
•ด้านการบรรจุนักโภชนาการท้องถิ่น ได้ผลักดันนโยบายการกําหนดให้มีตําแหน่งนักโภชนาการ โดยกรมส่งเสริมการ ปกครองท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการของเด็ก เยาวชน และประชาชนในท้องถิ่น
•ด้านความซ้ำซ้อนและความถูกต้องของข้อมูลภาวะโภชนาการ ได้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานกระทรวง สาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดการข้อมูล และปัญหาอุปสรรคในการบริหารจัดการ อาหารกลางวัน และการติดตามภาวะโภชนาการนักเรียนของโรงเรียน ได้ผลักดันผ่านสํานักผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อจัดทํา รายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรี กรณีการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันเด็ก, 2564 และความร่วมมือของ NECTEC
จากโครงการเด็กไทยแก้มใสซึ่งเป็นโครงการตั้งต้น มูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ยังต่อยอดการขับเคลื่อนงานโภชนาการร่วมกับภาคีแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบอาหารชุมชนในจังหวัดต่างๆ และจะนำไปสู่การขยายผลเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหารอย่างครบมิติ