“พลเมืองอาหาร” พลังเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร
ปัจจุบันนี้ คนไทยมีแนวโน้มการกินอาหารที่หลากหลายน้อยลง ซึ่งหลักๆ แล้ว อาหารที่คนไทยทานก็จะประกอบด้วยแป้งและน้ำตาลจำนวนมาก พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมมากเกินไปนั้น ย่อมก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพมากมายตามมา ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน หรือที่เรียกว่า NCDs (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง)
ด้านภาคการผลิตเอง จนถึงตอนนี้ การปลูกพืชเศรษฐกิจก็เป็นไปในลักษณะเชิงเดี่ยวไม่แตกต่างกับการกินอาหารเลย อีกทั้งยังมีการใช้สารเคมีอย่างเข้มข้นด้วย
ประชาชนในภาคชนบทไม่สนใจผลิตพืชอาหารอีกต่อไป พื้นที่อาหารหลายแห่งถูกเปลี่ยนจากไร่นากลายมาเป็นไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด สวนยางพาราขนาดใหญ่ ขณะที่ฐานทรัพยากรธรรมชาติ อันได้แก่ ผืนป่า แม่น้ำ ลำคลอง ท้องทะเล พื้นที่อาหารในชุมชนต่างก็ได้รับผลกระทบจากการใช้ทรัพยากร เพื่อเป็นปัจจัยสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมกันทั้งหมด
เมื่ออาหารเป็นต้นตอสำคัญของปัญหา การแก้ปัญหาจึงวกกลับมาที่จุดเริ่มต้น คือ ระบบอาหาร ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลงระบบอาหารได้นั้น ต้องเริ่มจาก ‘คนกิน’ ก่อน และศักยภาพในการเลือกกินจะยกระดับให้คนทุกคนกลายเป็น ‘พลเมืองอาหาร’ ที่จะเป็นพลังสำหรับการเปลี่ยนแปลงได้
พลเมืองอาหาร ต้องเริ่มต้นจากคน
การจะเปลี่ยนระบบอาหารต้องเริ่มที่คนก่อน คำว่า food citizen จึงเป็นมากกว่าความมั่นคงทางอาหาร แต่เป็น “พลเมืองอาหาร” ของโลก
“พลเมืองอาหาร” เป็นแนวทางที่หยิบยกมา เพื่อใช้แก้ไขภาวะของระบบอาหาร ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมือง มีความเกี่ยวโยงต่อการจัดการระบบอาหารของตนเอง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งนิยามของพลเมืองอาหารหมายถึงคนหรือผู้คนที่ตระหนักถึงศักยภาพ สิทธิบทบาทหน้าที่ในการเข้าถึงและการบริโภคอาหารสุขภาวะ โดยสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อตนเองและสังคม
ความสำคัญของพลเมืองอาหารแสดงให้เห็นในมิติที่เชื่อมโยงกัน คือ ความตระหนักของบุคคลจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย นำไปสู่การร่วมมือกันกับผู้อื่น เพื่อเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการรับรู้เรื่องอาหารและเข้าใจถึงการกินจะเกี่ยวโยงกับระบบอาหารในภาพรวมได้
ด้วยเหตุนี้ พลเมืองอาหารจึงสร้างการเปลี่ยนแปลง 3 ระดับ คือ ระดับตนเอง ร่วมมือกับผู้อื่น ร่วมกับประชาคมโลก จากการเข้าใจระบบอาหารในภาพรวม และลงมือเปลี่ยนจากจุดที่ตนอยู่ นั่นก็คือ จากจานอาหารของตนนั่นเอง
แผนระยะยาว สู่เป้าหมายพัฒนาพลเมืองอาหาร
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ได้มีการวางเป้าพัฒนาพลเมืองอาหารในแผนระยะ 10 ปี เอาไว้ว่า
– พลเมืองอาหารเป็นการดูแลสุขภาพตนเองในขั้นพื้นฐานของคนทุกคน
– พลเมืองอาหาร คือ การเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ลงมือทำ สนับสนุนกันและกัน จนถึงมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย
– พลเมืองอาหารทำเรื่องเล็ก แต่ผลกระทบยิ่งใหญ่ จากเรื่องอาหารที่กินสามมื้ออยู่ทุกวันส่งผลสิ่งแวดล้อม
– การสร้างพลเมืองอาหารควรมุ่งทำให้ห่วงโซ่การผลิตอาหารจนถึงผู้บริโภคสั้นที่สุด อยู่ในกรอบมาตรฐานที่ดี มีการเฝ้าระวังอย่างทั่วถึง
– พลเมืองอาหารที่มีคุณภาพจำเป็นต้องมีการเติมพื้นฐานความรู้ด้านอาหารแก่ประชาชนและเยาวชนให้เพียงพอและเท่าทัน ต้อง ‘กินเป็น’ ทั้งด้านโภชนาการ ความปลอดภัย และความมั่นคงของอาหาร
วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด ผู้รับผิดชอบโครงการบูรณาการยุทธศาสตร์แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ กล่าวว่า การจะปลุกตัวตนความเป็นพลเมืองอาหารขึ้นมานั้น ไม่ใช่เรื่องซับซ้อน เป็นคำแนะนำง่ายๆ ที่บอกผ่านกันในการปรุงอาหาร กินอะไรแล้ว ทำให้ร่างกายดีขึ้น หรือแนะนำวัตถุดิบและแหล่งซื้อที่ผู้ผลิตใส่ใจความปลอดภัย ซึ่งการได้มาจากการพูดคุยกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้และต่อยอดในหลายมิติ
การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้สิ่งใหม่ แล้วแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้กับคนอื่น จะนำไปสู่เรื่องอื่นๆ ที่ใหญ่ขึ้น เป็นพลังเล็กๆ ที่เริ่มต้นจากจานข้าว ซึ่งสามารถยกระดับระบบอาหารให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างที่อาจไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ
สำรวจตัวเองดูหน่อย มีพลังพลเมืองอาหารอยู่แค่ไหน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. ได้มีการกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างการเข้าถึงการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะเอาไว้ และได้มีการพัฒนาแบบทดสอบพลังพลเมืองอาหารในตัวคุณ 10 ข้อง่ายๆ ขึ้นมา เพื่อยกระดับผู้บริโภคให้เป็น “พลเมืองอาหาร” ที่มีความรู้ ความเข้าใจสิทธิในการเข้าถึงระบบอาหารที่ดี
ซึ่ง 10 ข้อดังกล่าว ทุกคนสามารถทดสอบได้ง่ายๆ ดังนี้
1) พร้อมเปลี่ยนเพื่อสุขภาพ : ส่งเสริมให้มีอาหารเพื่อสุขภาพ ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในโรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ทำงาน ร้านอาหารในชุมชน
2) คำถึงวิธีการที่คนในชุมชนเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพได้ : มีส่วนร่วมกับแหล่งอาหารในชุมชน เรียนรู้วิถีการให้คนในชุมชนเข้าถึงอาหารที่ดี
3) ติดตามข้อมูลและมีส่วนร่วมในระบบอาหาร : ติดตามสถานการณ์อาหารในชุมชน มีส่วนร่วม และพัฒนานโยบายส่งเสริมระบบอาหาร
4) เลือกซื้อจากเกษตรกรหรือผู้ประกอบการโดยตรง : สนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการในชุมชน
5) ปลูกฝังเรื่องอาหารสุขภาพให้เด็ก : ปลูกฝังนิสัยการกินที่ดีต่อสุขภาพให้เด็กๆ
6) ปรุง ปันสูตร และเรียนรู้ วัฒนธรรมอาหาร : เรียนรู้และแบ่งปันเมนูอาหาร วิธีการถนอมอาหาร วัฒนธรรมอาหารในท้องถิ่น
7) เลือกเพื่อสุขภาพที่ดี : เลือกอาหารสดใหม่ ซื้อขายอย่างเป็นธรรม
8) ทำปุ๋ยหมักกำจัดเศษอาหาร : จัดการเศษอาหารและของเสียด้วยการทำปุ๋ยหมัก
9) ปลูกผักกินเอง : ปลูกผักสวนครัวไว้ทำอาหาร แบ่งปันเพื่อนบ้านและชุมชน
10) เลือกอาหารท้องถิ่นก่อนเสมอ : เลือกซื้อผักผลไม้ และวัตถุดิบตามฤดูกาลจากเกษตรกรท้องถิ่น
สำหรับระดับของพลังพลเมืองอาหารนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
1) ระดับที่มีพลังพลเมืองอาหาร
2) ระดับที่มีพลังพลเมืองอาหาร ซึ่งส่งผลกับผู้คนและชุมชน
3) ระดับที่มีพลังพลเมืองอาหาร เพื่อขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน