เด็กใต้ไม่กินหวาน เปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ด้วยหลักสูตรบูรณาการรอบรู้เรื่องอาหาร ‘Food Literacy’
เมื่อยังเป็นเด็ก เราทุกคนได้รับการสั่งสอนให้บริโภคอาหารหลักให้ครบ 5 หมู่ ทั้งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วคาร์โบไฮเดรตจากข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน ไขมันจากไขมันจากพืชและสัตว์ เกลือแร่ วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ จากพืชผักผลไม้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพที่ดี
แม้จะมีความรู้เป็นพื้นฐาน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เด็กๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เลือกกินในชีวิตประจำวัน กลับแทบไม่สนใจหรือให้ความสำคัญว่า กินอาหารหลักครบ 5 หมู่ เพียงพอในแต่ละวันหรือไม่ แถมยังตามใจปาก กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อาหารจานด่วน อย่างพิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟรายด์ ฮอตดอก ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม เพราะหาง่าย กินง่าย
อาหารที่ดึงดูดให้เด็กๆ ชื่นชอบด้วยรสชาติ แต่หากมองในหลักโภชนาการแล้วต้องยอมรับว่าเป็นการกินที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งพัฒนาการและสุขภาพตามมาในระยะยาว และเคยชินกับพฤติกรรมการกินแบบนี้จนยากจะปรับตัวเมื่อเป็นผู้ใหญ่
ผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชากร พ.ศ. 2560 พบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอายุอื่น เด็กอายุ 6-14 ปีมีการบริโภคผักและผลไม้สดน้อยที่สุด มีเพียง 23.1% ที่กินทุกวัน แต่กินอาหารว่างมากที่สุดถึง 89.2% โดย 52.1% กินขนมกรุบกรอบ 3 วันขึ้นไป ส่วน 63.7% และ 59.6% ของเด็กอายุ 6-14 ปีจะเติมน้ำตาลและน้ำปลาก่อนกินตามลำดับ
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2561 ยังระบุอีกว่า สิ่งที่คนส่วนใหญ่คำนึงถึงในการเลือกซื้ออาหาร อันดับแรกคือความชอบ รองลงมาคือรสชาติ ส่วนคุณค่าทางโภชนาการเป็นอันดับรองสุดท้าย
“หมอทำงานกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานมาเป็นสิบปี กระทรวงสาธารณสุข มีโครงการที่ทำกับครูมากมาย เราทำงานกันต่อเนื่องมาตลอด จนในปี 2564 คณะผู้วิจัยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ผ่านเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ในการพัฒนาแผนบูรณาการการสอน ‘ความรอบรู้เรื่องอาหาร (Food literacy)’ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 โดยเน้นการบูรณาการเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียน และจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาความรู้พร้อมกับทักษะต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจในการดูแลการรับประทานอาหารของนักเรียนในชีวิตประจำวัน”
รศ.ดร.ทพญ.อังคณา เธียรมนตรี สาขาวิชาทันตกรรมป้องกัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เครือข่ายเด็กใต้ไม่กินหวาน ผู้รับผิดชอบโครงการผลของแผนบูรณาการการสอน ความรอบรู้เรื่องอาหาร (Food Literacy) ต่อระดับความรอบรู้และพฤติกรรมการบริโภคอาหารของนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 อธิบายเพิ่มว่า เป็นที่ทราบกันว่านิสัยการบริโภคอาหารจะถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่เด็กและจะติดตัวไปถึงวัยผู้ใหญ่ เด็กวัยเรียนเป็นช่วงวัยที่สามารถคิดและตัดสินใจในการเลือกรับประทานอาหารเองได้
ดังนั้นการปลูกฝังให้เกิดพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ครบถ้วน จึงมีความสำคัญในสร้างเสริมสุขภาพที่ดีเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
“เราได้ประชุมภาคีเครือข่ายเด็กใต้ไม่กินหวาน ร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนหลายแห่ง หารือร่วมกัน ของบวิจัยกึ่งวิชาการ แล้วชวนคุณครูมาทำงานด้วยมุมมองที่ตรงกัน โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการที่มีกรอบของหลักสูตรแล้วแทรกธีมเรื่องอาหารเข้าไป ทำให้ครูไม่ต้องไปสอนเรื่องความรอบรู้เรื่องอาหาร ที่ต้องแยกออกมาพิเศษในการเรียนการสอนของเด็กๆ ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มภาระให้ครู แต่ทั้งนี้ก็เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตร”
การวิจัยชุดนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลของแผนบูรณาการการสอนความรอบรู้เรื่องอาหาร ในนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ระหว่างกลุ่มที่ใช้และไม่ใช้แผนฯ โดยวัดการเปลี่ยนแปลงความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติในเรื่องอาหารและการเลือกรับประทานอาหาร และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของครูผู้สอน หลังการใช้แผนบูรณาการการสอนความรอบรู้เรื่องอาหาร
ซึ่งผลที่ได้คือ เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้สอนและนักเรียน โดยเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตระหนักรู้มากขึ้น เลือกอาหารเป็น ปรับพฤติกรรมการรับประทานจริงๆ ส่วนเชิงประจักษ์จากการวัดผล พบว่า ความรอบรู้ด้านอาหารเพียงพอเพิ่มขึ้นชัดเจนในกลุ่มที่ใช้แผนบูรณาการ จาก 51% เป็น 67.8% ในขณะที่กลุ่มไม่ใช้แผนบูรณาการมีระดับความรอบรู้ด้านอาหารเพียงพอลดลงจาก 53.8% เป็น 45.2% ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ส่วนคุณครูผู้สอนเอง ก็มีความพึงพอใจหลังการใช้แผนบูรณาการการสอนความรอบรู้เรื่องอาหารในระดับมากถึงมากที่สุด โดยพึงพอใจต่อกิจกรรม 93.3% และแผนบูรณาการฯ 80% ทั้งยังเห็นว่าแผนบูรณาการฯ นี้สามารถนำไปใช้ต่อได้ เพราะเข้ากับเนื้อหารายวิชา สามารถบูรณาการกับการเรียนการสอนปกติได้ และมีประโยชน์กับการดำเนินชีวิตของนักเรียน ที่สำคัญ การเรียนรู้เรื่องความรอบรู้เรื่องอาหาร สามารถนำไปใช้กับตัวเองได้ แนะนำผู้อื่น คนใกล้เคียง คนรอบข้าง และคนในครอบครัว
“การทำงานร่วมกันกับคุณครูทำให้หมอเซอร์ไพรส์นะ เพราะเรื่องอาหารและโภชนาการ คุณครูเองก็ไม่ทราบลึกซึ้ง หลายเรื่องเป็นความรู้ใหม่ เช่น ไม่รู้ว่าน้ำตาลในเด็กไม่ควรกินเกิน 4 ช้อนชาต่อวัน ในขณะที่ผู้ใหญ่ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน การเลือกซื้อสินค้า อ่านฉลากอย่างไร ความรู้ด้านโภชนาการที่ครูได้รับจากการอบรม ทำให้กลับไปเปลี่ยนตัวเอง หรือแม้แต่ผู้บริหารนั่งประชุมทั้งวัน น้ำหนักขึ้นมาก ก็เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการรับประทาน ออกกำลังกายทำให้ตัวเองดูดีขึ้นก่อน เห็นประโยชน์ก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม”
ทั้งนี้ แผนบูรณาการความรอบรู้เรื่องอาหาร สำหรับ ป.4 – ป.6 มีกรอบการเรียนรู้ที่ 4 เรื่องอาหารดีชีวีมีสุข (โภชนาการที่ดีเป็นพื้นฐานของชีวิตที่มีคุณภาพ) ซึ่งครอบคลุมเนื้อหา 4 หน่วยเรียนรู้ ได้แก่ อาหารคือตัวเรา (หลักการบริโภคอาหารเพื่อโภชนาการ) กินผักผลไม้ดี ให้ปลอดภัย (การเลือกแหล่ง ผัก ผลไม้) ปรุงน้อยก็อร่อยได้ (หวาน มัน เค็ม แค่ไหนถึงจะเหมาะ) และฉลาดเลือกถูกหลักโภชนาการ (ฉลาดเลือกจากการอ่านฉลากโภชนาการ)
ซึ่งผู้ที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์ สามารถเลือกหรือปรับกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมตามบริบทในแต่ละโรงเรียนต่อไปได้