‘กินผักผลไม้ดี 400 กรัม’ ลดความเสี่ยง NCDs ในวัยทำงาน

‘กินผักผลไม้ดี 400 กรัม’ กิจกรรมส่งเสริมคนวัยทำงานให้ลดความเสี่ยง NCDs ด้วยการกินผักผลไม้ให้เพียงพอ

ปฏิเสธได้ยากเหลือเกินกับคำว่า ‘อาหารอร่อยส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหารที่ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพ’ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการปรุงรสชาติที่จัดจ้าน จัดเต็มกับปริมาณโซเดียมที่สูงมาก อุดมไปด้วยไขมัน ฉ่ำหวานไปกับปริมาณน้ำตาลหนักๆ ที่ลวงความรู้สึกว่ากินแล้วสดชื่น ชีวิตมีแรง โดยภายใต้ความอร่อยที่ว่านั้นก็แฝงมาด้วยพิษที่ค่อยๆ ทำลายสุขภาพทีละน้อย

จะดีกว่ามั้ยหากเราปรับมุมมองสักนิด เปลี่ยนแปลงเมนูอาหารสักหน่อย แล้วหันมาเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อชีวิตในระยะยาว เพียงเริ่มต้นด้วยการกินผักผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวันเท่านั้น

ตามองค์การอนามัยโลกแนะนำว่า การกินผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 400-600 กรัม จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ได้รวมทั้งโรคมะเร็งหลอดอาหาร 20% มะเร็งปอด 12% มะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งหลอดเลือดสมอง 19% มะเร็งลำไส้ใหญ่ 2% รวมถึงลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้มากถึง 31%

เช่นเดียวกับข้อมูลจากกองทุนวิจัยมะเร็งโลกในปี 2518 มีงานวิจัยพบว่า การกินกากใยอาหารอย่างน้อยวันละ 30 กรัม จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้

นอกจากนี้มียังมีงานวิจัยจากการศึกษาทั่วโลกที่น่าสนใจ พบหลักฐานยืนยันว่า ผู้ที่กินผักผลไม้เป็นประจำมีสุขภาพดีกว่าหรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ‘ต่ำกว่า’ ผู้ที่กินผักและผลไม้น้อย เช่น คนที่กินผักผลไม้มากกว่า 5 ส่วนต่อวัน มีความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจลดน้อยลงถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับคนที่กินผักผลไม้ 3 ส่วนต่อวัน

รวมทั้งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานได้ถึงร้อยละ 6 เพียงแค่กินผักผลไม้เพิ่มขึ้น 1 ส่วนต่อวัน ทั้งยังสามารถช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อม โรคซึมเศร้า มีส่วนช่วยบำรุงสายตาและช่วยเรื่องของการมองเห็นได้ดียิ่งขึ้น

รวมไปถึงงานวิจัยจากทางประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยเน้นการกินอาหารที่มีผักผลไม้เป็นส่วนประกอบหลัก ร่วมกับอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า สามารถช่วยลดค่าความดัน (ตัวบน) ได้เฉลี่ย 11 มิลลิเมตรปรอท และลดค่าความดัน (ตัวล่าง) ได้เฉลี่ย 5.5 มิลลิเมตรปรอท เมื่อเทียบกับคนปกติของชาวอเมริกัน

โดยค่าความดันจะเริ่มลดลงตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 และลดลงต่อเนื่องไปอีก 6 สัปดาห์ โดยค่าความดันที่ลดลงในระดับนี้ มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยาลดความดันหนึ่งชนิดได้เลย

ในขณะเดียวกัน มีงานวิจัยที่ให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ชาวอังกฤษ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด กินอาหารแบบ Plant-based พบว่า สามารถช่วยลดการติดเชื้อรุนแรงได้ถึงร้อยละ 73 ส่วนคนที่เน้นการกินปลาและผักผลไม้สไตล์เมดิเตอร์เรเนียน ลดการติดเชื้อรุนแรงลงถึงร้อยละ 59 ตรงข้ามกับคนที่กินเนื้อสัตว์หรือเน้นโปรตีนสูง มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดรุนแรงกว่าการรับประทานอาหารทั้งสองแบบ

เมื่อผักและผลไม้เพียง 400 กรัมส่งผลต่อชีวิตคนเราได้มากมาย จันทร์จิดา งามอุไรรัตน์ จึงได้เริ่มรณรงค์และจัดกิจกรรมเพื่อให้คนไทยหันมากินผักและผลไม้กันมากขึ้น ผ่าน ‘โครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม’ ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. ตั้งแต่ปี 2559

ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ จันทร์จิดาได้กล่าวถึงโครงการฯ ภายใต้หัวข้อ ‘แนวทางการดำเนินงานส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายองค์กรในการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อลดโรค NCDs’ ในงานประชุมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีใหม่ เครือข่ายป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ Virtual NCD Forum 2023 ภายใต้หัวข้อ ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่าน โดยระบุว่า

“การส่งเสริมให้คนไทย โดยเฉพาะวัยทำงาน หันมากินอาหารที่มีส่วนประกอบของผักและผลไม้มากขึ้นเพื่อสุขภาพได้นั้น ประกอบไปด้วยสามสิ่งหลักคือ การให้ความรู้ การลงมือทำเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล และการขยายผลเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม ผ่านการทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ

“ซึ่งจากการทำงานร่วมกับผู้คนจากหลากหลายสาขาวิชาชีพกว่า 6,000 คน ได้รับผลตอบที่ดี และสามารถขยายผลสู่ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน สังคมต่อไปได้ในระยะยาวและมีความยั่งยืน”

โดยมีกิจกรรมแรกเน้นการให้ความรู้ในระดับบุคคล โดยเริ่มต้นในปี 2559 ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่าง ‘Design My Plate’ การออกแบบอาหาร 1 มื้อ เริ่มต้นด้วยฐานที่หนึ่ง ชั่งผักรักเลย เรียนรู้ผักที่เหมาะสมต่อการบริโภคใน 1 วัน ฐานที่สอง การเดินทางของผัก เรียนรู้วิธีเลือกผักปลอดสารเคมีและการล้างผักให้สะอาดจากเกษตรกรอินทรีย์ ฐานที่สาม ผักหรรษา สร้างสรรค์เมนูใหม่จากผัก เพิ่มความหลากหลายให้กับมื้ออาหาร

ฐานสุดท้าย เสวนาสู่ชีวิตใหม่ด้วยการกินผักผลไม้จากบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ การเรียนรู้ประโยชน์ของผักผลไม้จากพญ.ช่อทิพย์ นาถสุภา พัฒนะศรี อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อและเบาหวาน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เรียนรู้สัดส่วนอาหารที่เหมาะสมจากคุณแววตา เอกชาวนา นักโภชนาการ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ รวมทั้งการแบ่งปันสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กกินผักกับคุณเกรียงไกร วิหาร ผู้ประสบความสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการกินผักฯ ปีแรก เรียนรู้เมนูน้ำผักพื้นบ้านปั่นจากคุณวรุณวาร สว่างโสภากุล แห่งไร่กาลปะ เป็นต้น

หลังจากนั้นจึงปรับให้เป็นรูปแบบบทเรียนออนไลน์ โดยใช้ชื่อว่า ‘ผักผลไม้ 101’ ทุกคนสามารถเข้าเรียนออนไลน์ 14 บทเรียนได้ด้วยตัวเองผ่าน www.ผักสร้างสุข https://xn--22c.com/ พร้อมยังมีแอปพลิเคชั่น ‘บันทึกรักผักผลไม้’ สำหรับบันทึกข้อมูลการกินผักผลไม้ในแต่ละวัน และติดตามการกินผักผลไม้ ว่าตัวเองสามารถทำได้หรือไม่ รวมไปถึงกิจกรรมที่เน้นการลงมือทำแบบกระบวนการกลุ่ม ร่วมทำไปด้วยกันอย่าง ‘โครงการ 21 วันมหัศจรรย์ผักผลไม้’

“ภายในกลุ่มจะสร้างเป็นกรุ๊ปไลน์ จะมีโค้ชให้คำแนะนำตลอด 21 วัน มีเพื่อนๆ ในองค์กรเข้าร่วม ให้กำลังใจกันและกัน และพร้อมที่จะสร้างสุขภาพที่ดีไปด้วยกัน ตั้งแต่ Day 1 จนถึง Day 21 วันสุดท้ายที่ทุกคนจะเห็นผลลัพธ์ที่ดีที่เกิดขึ้นกับตัวเองของแต่ละคนได้อย่างชัดเจน และจากการดำเนินกิจกรรมมา เราสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนหันมากินผักผลไม้ได้มากขึ้นถึงร้อยละ 95.2 ส่วนผู้ที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้มีมากถึงร้อยละ 77”

สุดท้ายคือการขยายผลในระดับแกนนำ ผ่านกระบวนการอบรม เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมนี้ต่อได้ในระดับพื้นที่ โดยมีสองจังหวัดนำร่องเริ่มอบรมไปแล้ว อย่าง สุพรรณบุรีและกระบี่ ภายในครึ่งปีหลังนี้จะมีการส่งเสริมและจัดอบรมแกนนำในจังหวัดอื่นๆ เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ สนับสนุนให้คนไทยกินผักผลไม้อย่างน้อย 400 กรัม ให้ได้มากที่สุด

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.