ทำไมต้องยิ่งใส่ใจเด็กน้อยสามขวบปีแรก?

ทำไมต้องยิ่งใส่ใจเด็กน้อยสามขวบปีแรก?

ตัวเลขล่าสุดจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สถานการณ์การเกิดของเด็กไทยต่ำลงทุกปี โดยในปี 2560 มีเด็กเกิด 702,761 คน ปี 2562 เกิด 618,192 คน ปี 2564 เกิด 544,570 คน และปี 2565 มีเด็กเกิดเพียง 502,107 คนเท่านั้น

อัตราการเกิดที่ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กไทยมีจำนวนน้อยลงมากๆ ในขณะที่สังคมอนาคตยังต้องการประชากรคุณภาพ ดังนั้นในจำนวนเด็กที่มีอยู่น้อย จึงต้องได้รับการใส่ใจและลงทุนกับเด็กอย่างจริงจัง เพื่อสร้างสังคมที่มีคุณภาพ

ในกิจกรรมเสวนาออนไลน์ ‘เลี้ยงดูคู่เรียนรู้ 0-3 ปี : ทำไม้ ทำไม ต้องใส่ใจมากๆ เด็กน้อย 3 ขวบปีแรก’ ที่มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จัดขึ้น มีคำตอบและทางออกสำหรับเรื่องนี้ ผ่านมุมมองของ นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ รศ.พญ.กุสุมา ชูศิลป์ กุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศ.ดร.วิลาศ วูวงศ์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันเป็นนักวิชาอิสระที่สนใจเรื่องการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัย

ทำไมเราต้องพัฒนาเด็กตั้งแต่วัยก่อน 3 ขวบ?

เชื่อว่าคำถามนี้คงตรงกับใจหลายคนที่สงสัยว่า ทำไมต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กตั้งแต่ยังเล็กขนาดนี้ จะรอให้เด็กขึ้นประถมหรือมัธยมก่อนค่อยพัฒนาจะได้ไหม อาจารย์วิลาศได้ยกตัวอย่างมาอธิบายว่า ในหลายประเทศไม่ว่าญี่ปุ่น อเมริกา หรือฝั่งยุโรป เห็นความสำคัญการพัฒนาเด็กตั้งแต่เริ่มต้น และจัดให้มีสถานดูแลเด็กเล็กที่เรียกว่า Early Childhood Education and Care ด้วยสองเหตุผล

เหตุผลแรกเป็นเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ คือเด็กจะได้รับการพัฒนาด้านสุขภาพและสมอง เหตุผลที่สองเป็นเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีงานวิจัยจากศาสตราจารย์เจมส์ เฮ็กแมน นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลว่า การลงทุนในเด็กตั้งแต่เริ่มต้น จะให้ผลตอบแทนสูงถึง 30% อย่างที่ดอกเบี้ยธนาคารก็ทำไม่ได้

และสำหรับประเทศไทยแล้ว มีเหตุผลที่สามเข้ามาประกอบ คือเหตุผลทางสังคมศาสตร์ ในเรื่องสิทธิเด็ก คือเด็กเลือกเกิดไม่ได้ แต่เขาเลือกที่จะเจริญเติบโตได้ และเป็นหน้าที่ที่สังคมต้องให้ความเท่าเทียม ไม่ว่าเด็กจะเกิดมาด้วยพื้นฐานแบบใดก็ตาม

ในมุมของการพัฒนาสมอง อาจารย์วิลาศฉายภาพให้เราเห็นผ่านคลิปวิดีโอ ว่าประสบการณ์ของเด็กเล็กช่วงขวบปีแรกๆ มีผลต่อโครงสร้างสมองที่กำลังพัฒนา โดยประสบการณ์จะเป็นตัวกำหนดกระบวนการว่าสมองของเด็กจะมีรากฐานที่แข็งแรงหรืออ่อนแอสำหรับการเรียนรู้ พฤติกรรม และสุขภาพในอนาคต

ซึ่งในช่วงสำคัญของการพัฒนาสมอง เซลล์สมองหลายพันล้านเซลล์ที่เรียกว่าเซลล์ประสาท จะส่งสัญญาณไฟฟ้าเพื่อสื่อสารระหว่างกัน การเชื่อมต่อเหล่านี้ทำให้เกิดวงจรที่กลายเป็นรากฐานของสถาปัตยกรรมสมอง และจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว การเชื่อมต่อที่มีการทำงานซ้ำๆ จะทำให้เซลล์ประสาทสร้างวงจรที่แข็งแรง และมีการเชื่อมต่อไปยังอารมณ์ ทักษะ การควบคุมพฤติกรรม ตรรกะ ภาษา และความจำ ส่วนที่เชื่อมต่อน้อยหรือไม่ได้ใช้งานซ้ำจะจางหายไป

และทางผู้พัฒนา AI ก็ได้เอาการเชื่อมต่อเซลล์ประสาทนี้ไปจำลองทำเป็นเครือข่ายประสาทเทียม เน้นที่ความแข็งแรงของจุดเชื่อมต่อ และสร้างเป็นแบบจำลองสมอง ให้สมองเทียมเรียนรู้ด้วยการให้ตัวอย่างข้อมูลจำนวนมาก ก็พบว่า สมองจะเรียนรู้ได้ และสามารถตอบคำถาม วาดรูป หรือแม้กระทั่งแต่งเพลงตามคำสั่งได้ เหมือนที่เห็นได้บ้างแล้วปัจจุบัน

อาจารย์วิลาศอธิบายอีกว่า หลักในการสร้างเครือข่ายประสาทเทียมให้สำเร็จมีอยู่สามข้อ หนึ่งคือให้ข้อมูลเยอะๆ สองคือต้องเป็นข้อมูลที่สมดุล และสามคือการฝึกประสาทเทียมโดยการมีครูจะมีประสิทธิภาพมากกว่า หลักทั้งสามนี้นำมาสู่ผลการวิจัยที่สามารถนำมาพัฒนาสมองเด็กให้มีประสิทธิภาพ นั่นคือ ให้เด็กมีประสบการณ์ที่หลากหลาย เป็นประสบการณ์ที่สมดุลหรือไม่เอนเอียง เช่น ของเล่นประดิษฐ์-ของเล่นจริง ในบ้าน-นอกบ้าน ในห้องเรียน-นอกห้องเรียน และสาม ต้องมีครูที่สร้างความสัมพันธ์ตอบสนองกับเด็ก เช่น เมื่อเด็กถามมา จะต้องตอบกลับ

นั่นจึงเท่ากับว่า ที่ AI ฉลาดเพราะได้รับข้อมูลมหาศาล สมองของเราก็มีกลไกเช่นเดียวกัน และที่เราต้องให้เด็กมีประสบการณ์ที่หลากหลายตั้งแต่ 3 ขวบปีแรก ก็เพราะเป็นวัยที่เด็กสามารถทำอะไรได้มาก เช่น สามารถใช้ทั้งมือซ้ายและมือขวาได้อย่างเท่ากัน จนโตขึ้นระยะหนึ่งถึงจะรู้ว่าถนัดซ้ายหรือถนัดขวา และที่สำคัญคือ สมองเด็กก่อน 3 ขวบ เติบโตเร็วถึง 80% ซึ่งการเรียนรู้เกิดจากการนำข้อมูลเข้าสู่สมอง ยิ่งเรียนรู้มาก สมองจะเกิดการเติบโตและเชื่อมต่อ

แต่การจะเติบโตได้นั้น สำคัญที่สุดคือ เด็กต้องได้กินอาหารที่เหมาะสม ซึ่งประเด็นนี้ คุณหมอกุสุมาอธิบายให้ชัดเจนขึ้นว่า ตอนตั้งครรภ์ แม่ต้องกินอาหารที่ดีเพื่อให้สมองของเด็กเจริญเติบโตอย่างเต็มที่

“เด็กจะฉลาดและสมองพัฒนาได้เต็มที่นั้น 1,000 วันแรกสำคัญมาก เด็กจะได้รับการตั้งต้นในการสร้างสมองที่ดีตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ทันทีที่เกิดมาปุ๊บ เด็กควรได้อยู่ในอ้อมกอดแม่ และได้ดูดนมแม่ในชั่วโมงแรกหลังคลอด เพราะเด็กจะรับรู้ว่าอ้อมกอดแม่สำคัญ และสัมผัสนั้นจะจุดประกายการทำงานของสมอง เซลล์ประสาททั้งหลายจะเชื่อมโยงกัน และจะกระตุ้นให้เกิดน้ำนมแม่ออกมา ซึ่งน้ำนมนั้นถูกสร้างขึ้นมารอแล้วตั้งแต่ 12 สัปดาห์ก่อนเด็กเกิด”

ที่เด็กต้องได้รับน้ำนมแม่โดยเร็วนั้นก็มีเหตุผลว่า น้ำนมแม่เป็นภูมิคุ้มกันโรค เมื่อเด็กไม่ป่วย สมองจะมีโอกาสเจริญเติบโตมากขึ้น

“นมแม่มีสารอาหารหลายตัว และนมแม่เป็นนมชนิดเดียวในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีน้ำตาลหรือแลกโตส หรือน้ำตาลสองโมเลกุล เมื่อถูกย่อยจะกลายเป็นกลูโคส เป็นสารอาหารตัวเดียวที่สมองเอาไปใช้เป็นพลังงานได้ ส่วนกาแลกโตสที่มีอยู่ในน้ำนมแม่จะถูกนำไปสร้างเนื้อสมอง และในนมแม่มีสารอาหารอยู่ชื่อโคลีน ที่จะช่วยให้สมองว่องไวในการรับสัญญาณ

“ถ้าแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วไปกินอย่างอื่น ก็อาจจะไม่ได้สารอาหารที่ดี ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ถึงแม้เราจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จนถึงขวบปีที่สองหรือนานกว่านั้น แลกโตสก็ยังมีอยู่ในน้ำนมแม่ด้วยปริมาณที่มากขึ้นด้วย นั่นแปลว่า ถ้าอยากให้ลูกได้รับการพัฒนาสมองอย่างเต็มที่ ต้องเลี้ยงลูกให้นานเป็นปีๆ ขึ้นไป เพื่อที่จะได้สารอาหารบางอย่างที่หาจากธรรมชาติได้ไม่เต็มที่”

จริงอยู่ว่าในนมผสมก็มีการเติมโคลีนลงไปเพื่อให้เด็กได้รับเช่นเดียวกับนมแม่ แต่อย่างไรเสียก็มีผลวิจัยชี้ชัดว่าให้ได้ไม่เท่านมแม่แท้ๆ

“แต่ถ้าลูกรับน้ำนมแม่โดยที่แม่ไม่ได้เอาลูกดูดนมจากเต้า ไม่มีปฏิสัมพันธ์ ไม่ได้โอบกอดหยอกล้อกัน สมองก็จะไม่ว่องไว ที่สำคัญคือเราจะสูญเสียกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ชื่อว่า DHA เพราะในขณะที่ลูกดูดนมจากเต้า จะมีการสร้าง DHA ออกมาอย่างสดใหม่ เมื่อถึงกระเพาะลูกก็จะดูดซึมให้สมองใช้งานได้ทันที

“และในน้ำนมแม่มีไขมันและมีสารอาหารย่อยๆ หลายตัว ที่จะสร้างแผ่นไขมันไว้หุ้มเส้นใยประสาท เส้นใยประสาทของสมองเราจะทำงานได้ดี จะต้องมีตัวหุ้มคือแผ่นไขมัน นมแม่จึงช่วยเตรียมความพร้อมทั้งความเชื่อมโยงของสมอง หุ้มเส้นใยสมอง และระหว่างที่สมองของเด็กเชื่อมโยงกันนั้น เด็กต้องการสารอาหารจำนวนมาก เช่น โปรตีนที่ดี เด็กที่กินนมแม่จะได้รับโปรตีนย่อยง่าย นำไปใช้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ”

ในขณะที่เด็กควรได้กินนมแม่จากเต้า แต่สังคมและความเป็นอยู่ของคุณแม่ชาวไทยไม่ได้เอื้อให้แม่ทุกคนให้นมลูกได้อย่างนั้น การหาแนวทางให้แม่สามารถให้นมลูกได้นานที่สุดจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ รวมไปถึงคนที่จะดูแลเด็กต้องมีความรู้ความเข้าใจในการสร้างประสบการณ์เป็นข้อมูลให้กับเด็ก ซึ่งข้อนี้ผู้ดูแลเด็กมีส่วนสำคัญมาก

อีกทั้งสถานรับเลี้ยงเด็กต่ำกว่า 2 ปีในเมืองไทยยังมีอยู่น้อย โดยเป็นของเอกชนราวกว่า 1,000 แห่ง และของกระทรวงสาธารณสุขมีเพียง 50 แห่ง ซึ่งคุณหมอธีระชัยได้ให้ข้อมูลว่า จะมีแนวทางเพิ่มศูนย์ดูแลเด็กต่ำกว่า 2 ขวบเพิ่ม โดยในครึ่งปีนี้ กทม.จะเพิ่มอีก 4 แห่ง จากจำนวนที่มีอยู่น้อย จึงเท่ากับว่าเด็กต่ำกว่า 2 ขวบที่เหลือ มีพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายเลี้ยงเอง

แต่ก็ยังไม่นับว่าช้าเกินไปที่บ้านเราจะเริ่มตื่นตัว เพราะเรื่องการตั้งศูนย์เด็กเล็กต่ำกว่า 3 ขวบ ในต่างประเทศก็ยังมีไม่นานนัก เช่นที่อังกฤษเองก็เพิ่งเริ่มตั้ง Childhood Center โดยเจ้าหญิงเคท อเมริกาก็เพิ่งออกกฎหมายให้เงินสนับสนุนการดูแลเด็กซึ่งยังไม่ผ่าน ประเทศจีนมีสถานดูแลเด็กต่ำกว่า 3 ขวบมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สิงคโปร์ก็ให้ความสำคัญโดยรัฐบาลออกเงินจัดตั้งศูนย์ดูแลเด็ก ไม่นับประเทศในยุโรปและสแกนดิเนเวียที่ขยับตัวไปก่อนหน้า

เหล่านี้เป็นตัวสะท้อนว่า หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เพราะเป็นช่วงที่เด็กมีต้นทุนดีที่สุด ซึ่งการดูแลเด็กเหล่านี้ให้ดี จะทำให้พวกเขาเติบโตเป็นเด็กที่มีคุณภาพในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.