เครือข่ายสูงวัยสุขภาพดี สู่บทบาทใหม่ในฐานะผู้นำสูงวัยหัวใจสีเขียว

‘กินดี-ปลูกดี-คุณภาพชีวิตดี’ เครือข่ายสูงวัยสุขภาพดี สู่บทบาทใหม่ในฐานะผู้นำสูงวัยหัวใจสีเขียว

“แทนที่จะกังวลกับการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต ไขมันพอกตับ เราสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ห่างไกลจากโรคได้ในทุกช่วงวัย แม้แต่ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคเหล่านั้น ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะกดปุ่มรีสตาร์ต”

สตรีร่างเล็กวัย 58 ปี นิธิวดี บัตรพรรธนะ ผู้รับผิดชอบโครงการ ‘เครือข่ายผู้สูงอายุสุขภาพดี’ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. พูดถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอหันมาใส่ใจกับสุขภาพของผู้สูงอายุอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aging Society) ด้วยจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าเด็กแรกเกิดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2562

“ในเมื่อเรามีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เราก็อยากกระตุ้นให้ผู้สูงอายุคำนึงถึงสุขภาพและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี เราจึงลงพื้นที่ให้ความรู้ควบคู่กับการปฏิบัติ และการสร้างแกนนำเครือข่ายผู้สูงอายุสุขภาพดี ซึ่งเราได้ดำเนินการไปแล้วทั้งในกรุงเทพฯ 8 พื้นที่จาก 7 เขต นนทบุรี และนครปฐม ซึ่งแต่ละปีเราได้กำหนดเป้าหมายแบบเป็นขั้นบันได และติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด”

60642791 442605352967675 3787821384504180736 n Gindee Club กินดี คลับ

มิชชั่น 1: วิถีผู้บริโภคสุขภาพดี ‘ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุบริโภคผักผลไม้เพียงพอ 400 กรัมต่อวัน’

ช่วงปีแรกของการริเริ่มโครงการฯ นิธิวดียอมรับว่า การปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้สูงอายุเป็นเรื่องยากพอๆ กับการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ในเมื่อเธอเป็นเพียงคนแปลกหน้าที่ลงไปพูดคุยกับผู้สูงอายุในชุมชนต่างๆ การจะทำให้พวกเขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด

“ผู้สูงอายุมีความเหมือนเด็ก เราจึงต้องเน้นความต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเป้าหมายแรกของโครงการ คือการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุบริโภคผักผลไม้ให้เพียงพอ 400 กรัมต่อวัน ขณะเดียวกันก็ต้องลดการกินหวานมันเค็ม ออกกำลังกายมากขึ้น นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมให้ผู้สูงอายุปลูกผักปลอดสารไว้กินเองที่บ้าน เพราะนอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้วยังได้เคลื่อนไหวร่างกายไปในตัว”

ตลอดหนึ่งปีของการดำเนินงานเครือข่ายฯ ได้สร้างแกนนำการเปลี่ยนแปลงถึง 30 คน รวมไปถึงการอบรมเสริมทักษะความรอบรู้ด้านอาหารให้ผู้สูงอายุถึง 65 คน ทั้งยังสนับสนุนให้ผู้สูงอายุรับประทานผักและผลไม้เฉลี่ย 400 กรัมต่อวันถึงร้อยละ 74.70

“เรายังมีการติดตามประเมินผลสุขภาพของผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง จนเข้าสู่ปีที่ 2 เป็นช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เปอร์เซ็นต์การกินผักผลไม้ลดลงเหลือประมาณ 63% แต่ข่าวดีคือหลายพื้นที่หันมาปลูกผักปลอดสารกินเองมากขึ้น และเห็นถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหารในยามวิกฤติ

“แม้ผู้สูงอายุในเครือข่ายฯ จะอายุประมาณ 70-80 ปีแล้ว แต่ก็มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป การที่เราจัดกลุ่มขึ้นมาก็ทำให้เขามีการสื่อสารและกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น”

มิชชั่น 2: เปลี่ยนจากผู้บริโภคสู่วิถีเกษตรคนเมือง ‘ส่งเสริมการปลูกผักกินเองเพื่อสุขภาพและมิตรภาพ’

หลังประสบความสำเร็จในการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุรับประทานผัก-ผลไม้ตามเกณฑ์มาตรฐาน และส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพื่อลดโอกาสเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และลดความเสี่ยงต่อภาวะผู้ป่วยติดเตียงในอนาคต หมุดหมายต่อไปจึงเป็นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุปลูกผักปลอดสารไว้รับประทานเอง เพื่อหลีกเลี่ยงสารเคมีหรือสารปนเปื้อนต่างๆ

“เราไม่มีทางรู้เลยว่าผักที่ซื้อมามีปริมาณสารเคมีมากแค่ไหน อย่างเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุใต้ทางด่วน ม.9 (นนทบุรี) เราก็ส่งเสริมให้ปลูกผักบริเวณหน้าบ้าน เพราะพวกเขาไม่มีพื้นที่ส่วนกลางเหมือนหมู่บ้าน ส่วนเครือข่ายกลุ่มผู้สูงอายุหมู่บ้านชัยพฤกษ์ (บางเขน) มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยปลูกไม้ประดับ และปรับมาเป็นแปลงผักปลอดสารที่ดีต่อสุขภาพ

“อีกหนึ่งชุมชนที่น่ารักมาก คือเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุหมู่บ้านศรัณจิต (พระโขนง) แม้จะไม่มีพื้นที่ปลูกผัก แต่ก็ได้รับการสนับสนุนที่ดินจากสมาชิก โดยผู้สูงอายุในชุมชนนี้เป็นผู้หญิงทั้งหมดอายุเฉลี่ย 70-80 ปี พวกท่านก็ช่วยกันคนละไม้ละมือ บวกกับได้รับความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย มาช่วยกันเคลียร์พื้นที่จนเป็นแปลงปลูกผักปลอดสารที่อุดมสมบูรณ์และร่มรื่นสวยงามมาก”

นอกจากการปลูกผักจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีผักผลไม้ไว้รับประทานเอง เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ในการปลูกผักปลอดสาร บางชุมชนยังต่อยอดสู่การจำหน่ายจ่ายแจก ควบคู่กับการส่งเสริมกิจกรรมดีๆ ระหว่างผู้สูงอายุ เพื่อให้พวกท่านมีสังคมใหม่ของคนใส่ใจสุขภาพ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และลดทอดความรู้สึกโดดเดี่ยวไร้คุณค่าในเวลาเดียวกัน

61021280 442113746350169 4357613628849913856 n Gindee Club กินดี คลับ

มิชชั่น 3: คนขายผักสูงวัยหัวใจสีเขียว ‘ปลูกผักสร้างรายได้เสริม เพิ่มเติมสู่ตลาดนัดสัญจร’

แรงบันดาลใจจากแปลงผักปลอดสารเล็กๆ บริเวณหน้าบ้านของชมรมผู้สูงอายุใต้ทางด่วน (นนทบุรี) ต่อยอดสู่การจำหน่ายผักปลอดสารเพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้เสริม ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานปีที่ 4 ของเครือข่ายฯ ที่ส่งเสริมตลาดนัดออนไลน์และตลาดนัดสัญจรให้กับกลุ่มเปราะบางในชุมชนต่างๆ ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล

“เราผลักดันให้ผักปลอดสารของผู้สูงอายุได้วางจำหน่ายในตลาดนัดของชุมชนต่างๆ อย่างตลาดนัดวัดมณฑป (ตลิ่งชัน) ที่มีผู้สูงอายุในเครือข่ายฯ นำผักปลอดสารไปจำหน่ายราว 10 คน จากนั้นเราก็ขับเคลื่อนให้มีตลาดนัดออนไลน์และตลาดนัดสัญจรสำหรับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเราไม่ได้เน้นรายได้ แต่เน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความสุขและมองเห็นคุณค่าในตัวเอง”

นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังเน้นการสร้างผู้ประกอบการอาหารสุขภาพผู้สูงอายุ เชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความรู้เกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ และสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพเสริมได้

“ผู้สูงอายุจะแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ปลูกผักได้ ทำกับข้าวได้ หรือเน้นออกกำลังกายและมาซื้อผักจากเพื่อนๆ โดยมีเราทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการจัดหาผักปลอดสารและข้าวอินทรีย์มาจำหน่ายให้กับสมาชิก เราจะส่งทุกวันเสาร์-อาทิตย์ รวมถึงจัดหาผลไม้และขนมหวานน้อยเพื่อสุขภาพ เช่น ฝรั่ง ชมพู่ อโวคาโด ตะโก้ฟักทอง น้ำสมุนไพรไม่ใส่น้ำตาล และซื้อผ่านเครือข่ายของ สสส.”

กิจกรรมในปีที่ 3 ของเครือข่ายฯ จึงไม่เพียงสร้างผู้ประกอบการสูงวัยเท่านั้น แต่ยังประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ผู้สูงอายุบริโภคผักผลไม้เพียงพอถึงร้อยละ 78 ควบคู่กับการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ ต่อยอดสู่การสร้าง ‘คู่มือเมนูเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ’ และ ‘คู่มือแนวทางการออกกำลังกายผู้สูงอายุ’ จนถึงการขับเคลื่อนพื้นที่ต้นแบบสร้างสุขภาวะผู้สูงอายุตลาดนัดคลองลัดมะยมภายใต้ชื่อโปรเจ็กต์ ‘ตลิ่งชันโมเดล’

1184493 Gindee Club กินดี คลับ

มิชชั่น 4: ขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบฯ และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุก้าวสู่ความเป็น ‘ผู้นำการเปลี่ยนแปลง’

เพื่อขับเคลื่อนกรอบแนวคิดในการสร้างระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ในกลุ่มผู้สูงอายุ พร้อมผลักดันให้เกิดความร่วมมือในหน่วยงานต่างๆ สู่ความสำเร็จของ ‘ตลิ่งชันโมเดล’ นิธิวดียังได้เตรียมขับเคลื่อนชุมชนอาหารด้วยภูมิปัญญา และวัฒนธรรมการกินที่ดี รวมถึงชุมชนรอบรู้ด้านอาหารอีก 1 แห่งภายในปี 2566

“ตลิ่งชันโมเดลจะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โรงเรียน มหาวิทยาลัย จนถึงหน่วยงานภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จากเกษตรกรสีเขียวถึงมือผู้บริโภค รวมเรียกว่า ‘พื้นที่ต้นแบบเพื่อสุขภาวะผู้สูงอายุ’ และเป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นๆ ได้เรียนรู้จากความสำเร็จของตลิ่งชันโมเดล

“เรายังผลักดันให้แต่ละชุมชนช่วยกันกำหนดเป้าหมาย จัดลำดับความสำคัญ กำหนดรูปแบบการทำงาน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ และมีการประชุมร่วมกันเพื่อสรุปผลการทำงาน รวมถึงกำหนดสิ่งที่จะดำเนินการในลำดับต่อไป โดยใช้พื้นที่ส่วนกลางเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนต่างๆ ระหว่างดำเนินการ”

นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังมีการติดตาม ประมวลผล วิเคราะห์ และถอดบทเรียนความสำเร็จของแต่ละกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่อีกหนึ่งเป้าหมายหลักของปีที่ 4 ซึ่งครอบคลุมถึงการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุก้าวสู่ความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน

“เราอยากให้ผู้สูงอายุเป็นแกนนำในการสร้างความเชื่อมโยงคนทุกกลุ่มทุกวัยเข้าด้วยกัน โดยมีผู้สูงอายุเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้แสดงความสามารถและศักยภาพของตนเอง อย่างการจัดกิจกรรมกับเด็กอนุบาลในโรงเรียน โดยมีผู้สูงอายุเป็นวิทยากรสอนเด็กๆ ให้หันมากินผักและผลไม้มากขึ้น สิ่งที่เราได้รับจากกิจกรรมนี้คือ เด็กและผู้สูงอายุเข้ากันได้ดีมาก เด็กๆ สนใจกินผักและผลไม้มากขึ้น ขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็มีความสุขและมองเห็นศักยภาพในการเป็นผู้นำของตัวเอง”

นับจากจุดเริ่มต้นที่เครือข่ายฯ มุ่งมั่นสนับสนุนให้ผู้สูงอายุหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ทุกวันนี้ ความฝันของนิธิวดีเดินทางมาไกลสู่การสร้างผู้สูงอายุต้นแบบและพื้นที่ต้นแบบสร้างสุขภาวะผู้สูงอายุ โดยมีหญิงสาวร่างเล็กคนนี้ทุ่มเทให้กับเครือข่ายผู้สูงอายุสุขภาพดีที่เธอริเริ่มโครงการฯ อย่างไม่รู้เหนื่อย

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.