เรื่องราวเกษตรกรอินทรีย์เผ่าลีซู บนพื้นที่ “ตลาดเขียวในแปลง”
คำว่าตลาดเป็นคำที่มีความหมายกว้าง ซึ่งสำหรับคนทั่วไปแล้ว ก็อาจหมายถึงสถานที่แห่งหนึ่งที่มีผู้นำของไปขาย มีคนมาซื้อ เป็นสถานที่เพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการกัน เช่น ตลาดนัดสวนจตุจักร ตลาดขายอาหารสดทั่วไป ตลาดพาหุรัด ฯลฯ
อย่างไรก็ดี สำหรับสุพจน์ หลี่จา หรือ ‘จะแฮ’ นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์เผ่าลีซู (สสช.) แล้ว เขาคิดว่า ตลาดที่ดีที่สุด คือ ‘ตลาดที่อยู่ในแปลง’ ซึ่งเป็นแนวคิดของตลาดเขียวในรูปแบบของชุมชนชาติพันธุ์เผ่าลีซู หมู่บ้านปางสา จังหวัดเชียงราย นั่นเอง
จะแฮอธิบายว่า ตลาดเขียวมีหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่เป็นตลาดตามสถานที่ทั่วไป หรือตลาดเฉพาะองค์กรที่ต้องมาซื้อในแปลงเกษตรกรอินทรีย์ แต่ตลาดเขียวในแปลงนี้ เป็นตลาดที่คนเดินผ่านมาสามารถเดินเข้าไปซื้อในแปลงได้เลย ซึ่งมันคือวิถีดั้งเดิมของการแลกเปลี่ยน
ทั้งนี้ โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้พี่น้องชาติพันธุ์ส่วนหนึ่งต้องเดินทางเข้าเมือง หรืออาศัยรถพุ่มพวงเพื่อซื้ออาหาร แต่ตลาดเขียวในแปลงเป็นสิ่งที่จะแฮพยายามทำให้ภาพเดิมกลับมาเป็นวิถีชีวิต มีการแลกเปลี่ยน การแบ่งปันเรื่องราว ความรัก ความรู้สึก ของพี่น้องลีซูที่เกิดขึ้นในแปลงผัก จะแฮบอกว่าในตลาดไม่มีตาชั่ง แค่กะเอาปริมาณที่พอจ่าย ไม่ได้ขายเพื่อให้ได้สตางค์ แต่เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนปลูกกับคนกิน แต่ละบ้านจะปลูกผักผลไม้ไม่เหมือนกัน ซึ่งแล้วแต่ความชอบ เกิดการแลกเปลี่ยนกัน แปลงนี้มีถั่ว แปลงนี้มีเผือก
ข้อจำกัดและการกระจายผลผลิต ของตลาดเขียวในแปลง
ข้อจำกัดของตลาดในแปลง คือ เรื่องของผลผลิตที่ไม่ได้มีให้ซื้อตลอดทั้งปีเหมือนตลาดทั่วไป ผู้บริโภคต้องกินตามฤดูกาล เพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชได้ตามธรรมชาติ ซึ่งแต่ละฤดูผลผลิตก็จะแตกต่างกัน ถึงอย่างนั้น การกินตามฤดูกาลก็ทำให้ผู้บริโภคกินพืชผักได้อย่างหลากหลายตลอดปี
เรื่องเหล่านี้ ผู้บริโภคในหมู่บ้านรับรู้การออกดอกออกผลของแต่ละแปลงได้ด้วยวิธีง่ายๆ จากที่ประชุมสมาคมฯ หรือการประชุมในที่ต่างๆ ของหมู่บ้านอย่างน้อยเดือนละครั้ง และอีกวิธี คือ การบอกต่อแบบบ้านต่อบ้านตามวิถีของตัวเอ’ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ชุมชนกำลังพยายามประชาสัมพันธ์โดยใช้สื่อต่างๆ ให้กับพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงให้รู้จักตลาดเขียวในแปลงมากขึ้น เช่น มีการติดป้ายหน้าสวนให้คนรู้
ส่วนการที่คนข้างนอกอาจสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ อาจเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมราคา เพราะค่าขนส่งแพงกว่าราคาพืชผัก ทางชุมชนจึงเน้นขายกันเองในบ้านเท่านั้น
การแลกเปลี่ยนจากเล็กไปสู่ใหญ่ คือความยั่งยืนบนสายธารตลาดเขียว
สำหรับจะแฮแล้ว ตลาดเขียวไม่จำเป็นต้องใหญ่ อาจจะเป็นร้านค้าเล็กๆ หรือว่าที่ใดก็ตามที่คนกิน คนขาย คนปลูก มีความพร้อมมาเจอกัน เป็นพื้นที่กระจายอยู่ในจุดเล็กๆ และหลากหลาย ให้คนเข้าถึงได้ในชีวิตประจำวัน ชาวบ้านก็ลดการซื้ออาหารจากข้างนอก เพิ่มการบริโภคและลดรายจ่ายในครัวเรือน
การแลกเปลี่ยนเล็กๆ นี้เป็นพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนระดับประเทศ เช่น โครงการที่ผ่านมา ทั้งปลาแลกข้าว และการแลกเมล็ดพันธุ์ระหว่างเกษตรกรอินทรีย์กระจายไปทั่วประเทศ จะแฮมองว่า ความยั่งยืนในอนาคตของตลาดเขียว นอกจากประเด็นตลาดที่ทำให้คนเข้าถึงมากที่สุดแล้ว ยังเป็นเรื่องขนาดของตลาดที่คนเข้าถึงได้ง่ายๆ เพื่อความยั่งยืนของสายธารตลาดเขียว คือ คนปลูกเป็นต้นน้ำ กลางน้ำคือตลาดต่าง ๆ และท้ายน้ำคือผู้บริโภค